พระเครื่อง

พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรฯกับรางวัลยูเนสโก

พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรฯกับรางวัลยูเนสโก

20 ก.ย. 2556

พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรฯกับ...รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยมจากยูเนสโก : ท่องไปในแดนธรรมเรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ ๑ หรือ Award of Excellence จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๖ จากการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีการส่งเข้าประกวดในโครงการดังกล่าวกว่า ๔๗ โครงการ จาก ๑๖ ประเทศ

              พระพรหมบัณฑิต (ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต)  เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และเจ้าคณะภาค ๒ ผู้วัดประยุรวงศาวาส อธิบายให้ฟังว่า พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง ๖๐.๕๒๕ เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ ๑๖๒ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ ๕๔ คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก ๑๘ องค์ เรียงรายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่

              สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้น แต่หลังสร้างวัดแล้ว พระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

              เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง ๔๗ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นอีกครั้ง

              พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เมื่อคราวที่พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่

              ในโอกาสเดียวกันนี้ พระสมุห์ปุ่น (ต่อมาเป็นพระครูสาราณิยคุณ) ได้ให้จารึกข้อความลงในกระดานชนวน วางไว้ห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุว่า "พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ หลังปีมะแม ๑๒๖๙ พระพุทธศาสนา ๒๔๕๐ เป็นส่วนอดีต ๒๕๔๙ ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่พระวิริยาธิกโพธิญาณ ในอนาคตกาลเทอญ"
         
              เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (ปัจจุบัน พระพรหมบัณฑิต) ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดและได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่เมื่อวันที่ ๕ และ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ในโอกาสสมโภช ๑๘๐ ปีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลา ๑๖.๕๕ น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

              ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม พิจารณาคัดเลือก พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๓ ประเภท "ปูชนียสถานและวัดวาอาราม" ด้านการอนุรักษ์งานมรดกศิลปสถาปัตยกรรม โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


เหตุแห่งรางวัลยอดเยี่ยม

              "มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลานี้สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง" เป็นเหตุผลของยูเนสโกในการให้ราวัลครั้งนี้จากคำบอกเล่าของ พระพรหมบัณฑิต

              อย่างไรก็ตามบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งนี้ทีมงานได้ให้ความสำคัญของโครงสร้างทั้งภายในเจดีย์ ในขณะเดียวกันนั้น ยังคงรักษาเปลือกนอกของเจดีย์ที่มีความลาดเอียงไว้ได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่มีความซับซ้อนของการจำแนกประเภทของสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การแทรกแซงทางเทคนิครวมไปถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด เทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม ได้ช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของสมัยโบราณและความรู้สึกของยุค

              นอกจากนี้แล้วยังได้รับความร่วมมือที่เป็นแบบอย่างระหว่างพระสงฆ์ ช่างผู้ชำนาญ และคนในท้องถิ่นได้ให้ความหมายของศตวรรษที่ ๒๑ ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างพุทธสถาน และชุมชนของฆราวาส ในการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งโดยเป็นศูนย์รวมใจของชีวิตในชุมชนบ้านใกล้

              "สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการบูรณะพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ได้รับรางวัล นอกจากเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนโดยรอบวัดแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาร่วมบูรณะกับเทคนิคสมัยโบราณ โดยเฉพาะบริเวณแกนกลางของเจดีย์ ซึ่งมีความสูง ๒๐ เมตร น้ำหนัก ๑๔๔ ตัน แต่เดิมมีลักษณะหักและพิงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้พระบรมธาตุมหาเจดีย์เอียง หากมีการรื้อแกนกลางออก ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยืนยันว่า ตัวเจดีย์จะยังอยู่ได้ แต่ทางกรมศิลปากร ไม่อนุญาต เนื่องจากเจดีย์ที่มีแกนกลางเทคนิคแบบอยุธยา เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น และยังมีอุโมงค์ที่จะให้คนเข้าไปดูได้"  พระพรหมบัณฑิต กล่าว


องค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาส

              วัดประยุรวงศาวาสเป็นวัดนักเทศน์มาตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ทางวัดจัดให้มีเทศน์ทุกวัน ดังที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เมื่อ ร.ศ.๑๑๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๓ ความตอนหนึ่งว่า “เพราะแต่ก่อนเจ้าของวัดท่านอยู่ ได้มีข้าวสงฆ์แกงสงฆ์แจกพระและมีเทศน์ให้ทานธรรมทุกวัน”  

              พระพรหมบัณฑิต บอกว่า ประเพณีการเทศน์ประจำทุกวันนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ดังที่ประวัติวัดประยุรวงศาวาส พ.ศ.๒๔๗๑ บันทึกไว้ว่า

              “การเทศน์ให้ทานธรรมประจำวัด แต่ก่อนเคยมีทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์ เดี๋ยวนี้มีเฉพาะแต่กลางคืนอย่างเดียว ไปประชุมฟังกันที่การเปรียญ มีสัตบุรุษไหว้พระสวดมนต์ฟังธรรมประจำเสมอ   ถ้าในพรรษาก็มีจำนวนมาก วัดเพ็ญมาฆมาสทำมาฆบูชา วัดเพ็ญวาชมาสทำวิสาขบูชา และถวายพระเพลิงในวันแรม 8 ค่ำ ในปีมีอธิกมาสก็เปลี่ยนวันไปบ้างตามกาลนิยม แต่ก่อนมาทำกันแต่เพียงไหว้พระสวดมนต์แล้วมีเทศน์ ต่อมามีจัดตั้งสักการะที่พระประธานและตามช่องหน้าต่างอุโบสถ แล้วตั้งโต๊ะบูชาที่ศาลาในวิหารคดนอกอุโบสถเป็นการครึกครื้นทุกปี ตลอดจนเดี๋ยวนี้”

              "พ.ศ.๒๕๔๐ อาตมา ได้ฟื้นการอบรมวิชาการเทศนาวัดประยุรวงศาวาส ขึ้นมาอีก   พ.ศ.๒๕๔๘ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๔  ได้แต่งตั้งให้พระราชปฏิภาณมุนี (บุญมา อาคมปุญฺโญ) เป็นประธานองค์การเผยแผ่ และได้ดำเนินการจัดอบรมวิชาการเทศนาวัดประยุรวงศาวาส มาจนถึงปัจจุบัน" พระพรหมบัณฑิต กล่าว