
พระปิดตาสังกัจจายน์พุทธคุณ'มหาอุตม์ เมตตาค้าขาย'
พระปิดตาสังกัจจายน์พุทธคุณ'มหาอุตม์ เมตตาค้าขาย' : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
เมื่อกล่าวถึงพระปิดตา หลายๆ คนคงนึกถึงพระขนาดเล็กๆ มีลักษณะเด่น คือ พระอ้วนลงพุง พระกรหรือมือปิดส่วนต่างๆ เช่น ใบหน้า หู สะดือ และทวาร ซึ่งพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ทุกยุคทุกสมัยต่างนิยมสร้างขึ้นจากคำเล่าขานต่างๆ ในอดีต หรือความเชื่อในเรื่อง คงกระพันมหาอุตม์ เมตตาค้าขาย เสริมสิริมงคลแก่ผู้บูชา
"พระภควัมบดี” หรือ "พระภควัมปติ" อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระสังกัจจายน์ เป็นอัครสาวกพระองค์หนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าที่มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง นอกจากนี้ ท่านยังมีรูปร่างและผิวกายงดงามมาก จนได้ชื่อว่า "พระภควัมปติ" อันมีความหมายว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า"
ด้วยเหตุที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ไม่เว้นแม้เทวดายังสรรเสริญ ท่านเห็นว่า หากปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นการไม่สมควร หรือเกิดความมัวหมองต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พระภควัมบดีจึงอธิษฐานจิต ให้ร่างกลายเปลี่ยนเป็นอ้วน เตี้ย พุงพลุ้ย ดูน่าเกลียด จวบจนนิพพาน อันมีความหมายที่กล่าวถึงพระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
สาเหตุที่พระภควัมบดีได้นั่งสมาธิทางใน จึงเป็นที่มาของ "ปางเข้านิโรธสมาบัติ" หรือ "พระปิดตา" ที่เห็นในปัจจุบัน โบราณาจารย์จึงได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมบดีในรูปพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ๓ ประเภท คือ
๑.พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๒.พระปิดทวารทั้ง ๙ อันเป็นการปิดกั้นอาสวะกิเลสแห่งทวารเข้าออกทั้ง ๙ ของร่างกาย
และ ๓.พระปิดตามหาอุตม์ อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง
จากที่กล่าวมาในข้างต้น พระปิดตาเข้าใจกันว่า มาจากคติการสร้างพระเครื่องของเขมร เผยแพร่เข้าสู่การสร้างพระเครื่องไทย เท่าที่ค้นพบ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนพระสังกัจจายน์นั้น มีพบเห็นได้ชัดเจนในหลายๆ ประเทศ กล่าวถึงความนิยมพระปิดตาในเมืองไทย อันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตาที่ได้รับความนิยมได้แก่ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ซึ่งถือว่าหายากมากๆ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เป็นหนึ่งในเรื่องประสบการณ์ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด พุทธคุณไม่เป็นสองรองใคร หลวงปู่ไข่ วัดชิงเลน พระปิดตาในตำนานที่หายากเช่นกัน
หลวงปู่จันทน์ วัดโมลี หรือพระปิดตาแร่บางไผ่ หลายท่านคงทราบดี หลวงพ่อทับ วัดทอง เนื้อหามวลสารที่ไม่มีใครเหมือน มากด้วยประสบการณ์อันยาวนาน หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ถึงตอนนี้หาดูแทบไม่มีให้เห็นเช่นกัน
หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านสร้างพระปิดตาไว้หลายรุ่น ต่างมีประสบการณ์ทุกรุ่น คล้องพระปิดตารุ่นปลดหนี้ ต่างก็ใช้หนี้สินจนหมด หรือจะเป็นรุ่นเงินล้านของท่าน ในระยะเวลาไม่นานก็ต้องมีเงินล้านในกระเป๋า
ปัจจุบัน มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่สร้างพระปิดตาขึ้นมาใหม่ ต่างก็ทำขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระสาวก ผู้เป็นตัวแทนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
สำหรับภาพพระองค์นี้เป็นพระปิดตาสังกัจจายน์ พิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดงเถื่อน "พ่อท่านบุญให้ ปทุโม" เจ้าอาวาสวัดท่าม่วง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช รุ่นสรงน้ำ ๕๔ ออกเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ ประกอบด้วย เนื้อทองแดงเถื่อน เนื้อนวโลหะ เนื้อเงิน และ เนื้อระฆัง