
ปรับภูมิทัศน์'สวนโมกข์'สานต่อปณิธานพุทธทาสจริงหรือ
ปรับภูมิทัศน์'สวนโมกข์'สานต่อปณิธานพุทธทาสจริงหรือ : สุวรรณี บัณฑิศักดิ์รายงาน
นับตั้งแต่ท่านพุทธทาสดับขันธ์เมื่อปี 2536 นับว่าจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้วที่สภาพสวนโมกขพลาราม หรือ(วัดธารน้ำไหล) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก สืบสานปณิธานท่านพุทธทาสภิกขุไม่เสื่อมคลาย แต่แล้วกลับมีกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก)แพร่ขยายจนเป็นที่รับทราบกันทั่วไป กรณีที่ระบุว่า เขาพุทธทอง สถานที่สำคัญภายในสวนโมกขพลาราม เกิดการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีรถแบ็กโฮขึ้นไปทำงานบนเขาพุทธทอง จนกลายเป็นที่วิตกกังวลของชาวสุราษฎร์ธานี และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เกรงว่าจะเกิดการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งหลายฝ่ายขยายความต่างๆ ออกไปหลากหลาย และบางคนเป็นห่วงว่าอาจจะขัดต่อแนวคิดของท่านพุทธทาส ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลารามจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้นั้น ทำให้หลายคนมีความเป็นห่วง
จนกระทั่งตอนนี้พุทธศาสนิกชนที่รับทราบข่าว รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปสำรวจ ทีมข่าวเองก็ได้ขึ้นไปตรวจสอบยังยอดเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นอุโบสถกลางแจ้งสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของสวนโมกขพลาราม ตามแบบพุทธประวัติ พบว่า กำลังมีการก่อสร้างจริงตามกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นเพียงการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น ซึ่งได้รับการยืนยันจากพระผู้ดูแลการก่อสร้าง และผู้ออกแบบ
โดยสภาพบนยอดเขาพุทธทอง มีการปรับพื้นที่โดยรอบ มีกองวัสดุ ทราย หิน เหล็กเส้น และปูน วางเป็นจุดๆ และมีการก่อสร้างลักษณะคลายบันได ลงมาจากยอดเขาพุทธทอง ส่วนบริเวณที่เป็นสถานที่ฌาปนกิจสรีระท่านพุทธทาสภิกขุ มีการปรับสภาพโดยรอบเช่นกัน
ในขณะที่ นายอิทธิฤทธิ์ วิทยา สถาปนิกผู้ออกแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ อุโบสถวัดธารน้ำไหล (สวนโมขก์) ระบุว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว ทำโดยให้กลมกลืนกับธรรมชาติเดิมมากที่สุด ต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่มีการเอาออก ยังคงอยู่ในสภาพเดิม โดยมีการปรับพื้นดินให้เรียบ และวางหินเรียงให้เป็นระเบียบ และสวยงาม เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งแต่เดิมบนยอดเขาพุทธทอง ไม่มีการใช้ประโยชน์ และมีสภาพรกร้าง โดยจะใช้เพียงกิจกรรมในวันสำคัญ เช่นการเวียนเทียน เท่านั้น
ส่วนบริเวณด้านหน้าลานบนยอดเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นสถานที่ฌาปนกิจสรีระท่านพุทธทาสภิกขุ เดิมเมื่อเกิดฝนตก น้ำจากเขาจะไหลมาเอ่อบริเวณฐาน ฌาปนกิจสรีระของท่านพุทธทาส จึงมีการปรับพื้นที่โดยรอบเพื่อไม่ให้น้ำจากยอดเขาไหลลงไปตรงบริเวณดังกล่าว
หลังมีกระแสข่าวออกไปได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนในชุมชนโดยรอบขึ้นมาบนเขาพุทธทอง แต่เมื่อมาเห็นสภาพ การปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ก็ไม่มีการต่อต้านหรือว่ากล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากข่าวที่ออกไปไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยข่าวที่ออกไประบุว่า มีการก่อสร้างอุโบสถ บนเขาพุทธทอง ซึ่งสร้างความแตกตื่นตกใจให้แก่พี่น้องประชาชน แต่ในความเป็นจริง อุโบสถของสวนโมกข์ ก็คือ ต้นไม้ และพื้นดินนั้นเอง ไม่ได้มีการก่อสร้างแบบอุโบสถของวัดอื่นๆ เพียงแต่ปรับปรุงสภาพให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่วนงบประมาณและระยะเวลาที่ใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ในครั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ตายตัว เป็นการปรับไปเรื่อยๆ ใช้เงินของวัดตามความเหมาะสม
ด้านพระอาจารย์ทองสุข ธมมฺวโร ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ให้ดูแลการปรับปรุงภูมิทัศน์อุโบสถวัดธารน้ำไหล กล่าวว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นไปเพื่ออำนวยประโยชน์ โดยไม่ได้มีความขัดแย้งภายในวัด หรือความขัดแย้งใดๆ บริเวณที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีคำสั่งของวัดธารน้ำไหลติดอยู่ ในคำสั่งระบุว่า “คณะสงฆ์วัดธารน้ำไหล มีความประสงค์จะจัดระเบียบการบริหารงานภายในวัดธารน้ำไหลให้เป็นไปตามความเหมาะสม เจ้าอาวาสมีความเห็นชอบด้วย จึงมอบอำนาจให้กับ พระอาจารย์ทองสุข ธมมฺวโร ควบคุมดูแลบูรณะภูมิทัศน์โบสถ์ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป" พร้อมมีลายมือชื่อเจ้าอาวาสในตอนท้ายของคำสั่ง
สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์บนเขาพุทธทอง เริ่มดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยใช้แรงงานของพระในวัดธารน้ำไหล และชาวบ้านเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในส่วนของญาติสนิทของท่านพุทธทาสเองอย่างนายเมตตา พานิช ประธานกรรมการธรรมทานมูลนิธิ อดีตไวยาวัจกรวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้แสดงความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในวัดและสวนโมกขพลารามว่า "ถ้าเราไม่สามารถหยุดได้ มันก็ต้องเปลี่ยน"
ทั้งนี้ นายเมตตา เป็นบุตรชายคนสุดท้องของท่านธรรมทาส พานิช น้องชายของท่านพุทธทาสภิกขุ จึงมีศักดิ์เป็นหลานชายของท่านพุทธทาส ที่เป็นกำลังสำคัญหลักในการทำงาน ดูแลโครงการต่างๆ ตีพิมพ์หนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุออกเผยแพร่ ภายใต้ร่มเงาของสวนโมกข์ ได้ออกมาอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสวนโมกข์วันนี้ "เห็นความทุกข์เยอะ ทุกข์จากที่เราเคยคิดว่า มันต้องเป็นอย่างนั้นๆ ต้องรักษาไว้อย่างนั้นๆ ใจเราอยากจะอนุรักษ์ไว้ แล้วเราก็ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงก็ปล่อยให้เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ว่า ไม่แสดงจุดยืน เราพยายามแสดงจุดยืน ให้เห็นว่า อะไรควรรักษาไว้ แต่ถ้ามันต้องเปลี่ยนแปลง แล้วเราไม่สามารถหยุดได้ มันก็ต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนวันนี้ สิบปีข้างหน้า ห้าสิบปีข้างหน้าก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี ก็เห็นทุกข์ตอนนี้ แต่มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ เป็นการเรียนรู้ของทุกคนในสวนโมกข์"
เรื่องการปรับภูมิทัศน์บนเขาพุทธทอง ที่เป็นปัญหา และแชร์แสดงความเห็นกันผ่านโลกออนไลน์นั้น ภาพของสวนโมกข์ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ โดยมีผู้สงสัยสภาพภายในคณะสงฆ์และคนวัดนั้น ตอนนี้จะเรียกว่า คนในวัดยังมีความเห็นต่างกัน ยังไม่เข้าใจกันมากกว่า ไม่ใช่เรื่องของการแตกกัน แต่ขาดความสามัคคี สวนโมกข์เองก็ต้องยอมรับว่า มีเจริญก็ต้องมีเสื่อม พระในสวนโมกข์เองก็อ่อน ตั้งแต่หลังท่านอาจารย์พุทธทาสก็อ่อนลงไปเรื่อยๆ เราก็ต้องยอมรับตรงนี้ ที่เกิดขึ้นได้วันนี้ก็เพราะมีเหตุ แล้วตอนนี้คนที่ไม่เคยทำงานก็อยากมาทำงานกับวัด พอเปลี่ยนเจ้าอาวาสก็เปลี่ยนคนทำงาน คนก็อยากทำงานโดยเป็นธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ท่านพุทธทาสดับขันธ์เมื่อปี 2536 นับว่าจนถึงปัจจุบันแม้ว่าจะครบ 20 ปีแล้วที่ท่านพุทธทาสภิกขุดับขันธ์ พุทธศาสนิกชนเอง รวมทั้งนักท่องเที่ยวยังเกิดคำถามขึ้นมามากมายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสวนโมกข์ ทั้งนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าการปรับภูมิทัศน์ครั้งนี้จะยังคงสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสจริงหรือไม่
.........................
(หมายเหตุ : ปรับภูมิทัศน์สวนโมกข์สานต่อปณิธานพุทธทาสจริงหรือ : สุวรรณี บัณฑิศักดิ์รายงาน)