พระเครื่อง

ย้อนอดีต...อ.ภิญโญ‘ต้นแบบ’นักพระเครื่องที่ดีงาม

ย้อนอดีต...อ.ภิญโญ‘ต้นแบบ’นักพระเครื่องที่ดีงาม

01 ก.ย. 2556

ย้อนอดีต...อ.ภิญโญ วัฒนายากร ‘ต้นแบบ’นักพระเครื่องที่ดีงาม : แล่ม จันท์พิศาโล

               อ.ภิญโญ วัฒนายากร นักสะสมพระเครื่องอาวุโส ยุคแรก ผู้ผ่านประสบการณ์การสะสมพระเครื่องมาแล้วในทุกรูปแบบ เรื่องราวของท่านจึงน่าสนใจมาก และเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นหลังที่จะได้เรียนรู้วิธีดูพระให้เป็น ตลอดจนแนวทางการสะสมพระเครื่องที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้แต่ “พระแท้” เป็นหลัก ซึ่งเมื่อวันเวลาผ่านไปแล้ว พระเครื่อง
ที่เคยสะสมมาเก่าก่อนก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ “พระแท้องค์ครู พระสวยองค์จริง” ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเงินทอง

               จากเรื่องราวที่ อ.ภิญโญ ได้บอกกล่าวเล่าให้ฟังนี้ ทำให้ทราบว่าทำไมลูกหลานในสายตระกูลนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้สนใจสะสมพระเครื่องมาก่อน และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการพระเครื่องเมืองไทยตั้งแต่อดีต...จนถึงทุกวันนี้

               อ.ภิญโญ วัฒนายากร เป็นบุตรของท่านขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ธำรง วัฒนายากร) และนางธำรงพันธุ์ภักดี (สร้อยทอง วัฒนายากร) เกิดที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๖๖ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ดังนี้ ๑.ด.ช.(ยังไม่มีชื่อถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๗ วัน) ๒.นายสารัตถ์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม) ๓.นายภิญโญ วัฒนายากร ๔.นายจำเริญ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม) ๕.นายมงคล วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม) บิดาของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ๖.นายสมพร วัฒนายากร ๗.นางโสภาพันธุ์ สุวรรณจินดา ๘.ด.ญ.วิไลพันธุ์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม) ๙.ฯพณฯ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตองคมนตรี (ถึงแก่อนิจกรรม) ๑๐.นายวิโรจน์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม) ๑๑.พล.ต.ต.นพ.วิบูลย์ วัฒนายากร และ ๑๒.พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม)

               ย้อนอดีตวงการพระเครื่องไปกับนักสะสมพระเครื่องลูกหลานตระกูล “วัฒนายากร” คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันความนิยมสะสมพระเครื่องได้แพร่หลายไปสู่ผู้คนในทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ และทุกเพศทุกวัย โดยไม่เฉพาะแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศด้วยกัน

               อ.ภิญโญ กล่าวว่า ในอดีตวงการพระเครื่องมักนิยมชมชอบกันอยู่เฉพาะภายในกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เน้นหนักไปในผู้ประกอบอาชีพสายงานซึ่งต้องเสี่ยงภัยอันตราย เป็นต้นว่า พ่อค้าข้าว ซึ่งต้องล่องแพค้าขายไปหลายๆ จังหวัด ตำรวจ ทหาร ข้าราชการต่างๆ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงชายฉกรรจ์ที่ต้องการพุทธานุภาพของพระเครื่องเอาไว้คุ้มครองชีวิต

               พระเครื่องเริ่มมีการเช่าหากันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และจริงจังเมื่อประมาณหลัง พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา ในระยะนั้นมีพระเครื่องเพียงไม่กี่ชนิดที่มีราคาค่างวด หรือนิยมเสาะแสวงหากัน อ.ภิญโญ วัฒนายากร เล่าถึงอดีตเกี่ยวกับวงการพระเครื่องว่า ลูกหลานตระกูล “วัฒนายากร” มีความศรัทธาเลื่อมใสและนิยมสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่สมัยมารดาของท่าน คือ นางธำรงพันธุ์ภักดี (คุณนายสร้อยทอง วัฒนายากร) ยังมีชีวิตอยู่ ตระกูล “วัฒนายากร” ประกอบธุรกิจหลายอย่าง เช่น การทำเหมืองแร่ดีบุก-วุลแฟรม ที่ จ.ยะลา โดยเป็นเจ้าของเหมืองแร่ลาบู ซึ่งเป็นเหมืองประเภทอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, ทำธุรกิจสวนยางพารา, บริษัทโรงน้ำแข็งปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส, สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง, ตัวแทนจำหน่ายสุรา-ยาสูบ, บริษัทไฟฟ้าปัตตานี จำกัด และธนาคารนครหลวงไทย โดยเป็นตัวแทนรับผิดชอบภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เบตง สายบุรี และสุไหงโก-ลก

               “คุณแม่ของผมนับเป็นสุภาพสตรีท่านแรกๆ ในเมืองไทยที่มีรสนิยมในการสะสมพระบูชาและพระเครื่อง เมื่อว่างเว้นจากธุรกิจการงานจะให้เวลากับการศึกษาพุทธศิลป์ต่างๆ ถ้าเป็นประเภทพระบูชาท่านจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อนมัสการขอคำปรึกษาจาก ‘พระครูคณานัมสมณจารย์(โผเรียนเป้า)’ หรือ ‘ท่านเป้า’ สังฆราชฝ่ายอนัมนิกาย ที่
วงการนักสะสมพระพุทธรูปสมัยนั้นรู้จักกันดี ท่านเป้าเป็น
นักสะสมพระพุทธรูปชั้นยอดในขณะนั้น แม้กระทั่งในปัจจุบันก็อาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่มีผู้ใดสรรหาพระพุทธรูป
ซึ่งแต่ละองค์ล้วนมีความงดงามในระดับสุดยอดของประเทศไทย มาครอบครองได้มากเท่าท่านเป้า ผู้สนใจสามารถหาชมภาพพระบูชาและเทวรูปของท่านเป้าได้ในหนังสือ พระพุทธรูป และเทวรูปชิ้นเยี่ยมของเอกชนในประเทศไทย จัดทำโดย พ.ต.ท.สนอง วัฒนวรางกูร (ยศขณะนั้น) พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนังสือหายาก มีคุณค่าและราคาสูงเล่มหนึ่ง” อ.ภิญโญ เล่าถึงเรื่องราวของคุณแม่ที่ผ่านมา

               พระเถระอีกรูปหนึ่งที่ อ.ภิญโญ เล่าว่า คุณแม่ได้ไปปรึกษา คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สมณศักดิ์สุดท้ายของท่านคือ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) ซึ่งท่าน
มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สิริอายุได้ ๑๐๐ ปี

               ท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดาภรณ์ สนใจสะสมทั้งพระบูชาและพระเครื่อง โดยมีพระบูชาและพระเครื่องหลายองค์ ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เคยอยู่ในความครอบครองของท่านมาก่อน ในส่วนของพระเครื่องนั้น อ.ภิญโญ เล่าว่า “คุณแม่มีผู้ชำนาญในวงการพระเครื่องหลายท่าน ที่คุณแม่ได้ไปปรึกษาหารือ และบางครั้งท่านเหล่านั้นก็ได้แวะเวียนมาหาท่านอยู่เสมอ เป็นต้นว่า อาจารย์เซีย บุษปะบุตร ร้านขายยาบริบูรณ์โอสถ, คุณประชุม กาญจนวัฒน์, คุณสนาน กฤษณะเศรณี ฯลฯ”

               ในเรื่องนี้ คุณสนาน กฤษณะเศรณี เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร “พระเครื่องปริทัศน์” ฉบับที่ ๒๐ พ.ศ.๒๕๑๙ ว่า... สมัยก่อนมีการเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อซื้อขายพระ
เป็นประจำ โดยได้ความคิดนี้ขึ้นมาเอง โดยเพราะทางภาคใต้
พระหายาก แต่คนที่มีเงินต้องการเช่าหาบูชาพระกันมาก

               คุณสนาน กล่าวว่า ภาคใต้มีลูกค้าประจำอยู่แล้วทุกจังหวัดไปแล้วไม่เคยผิดหวัง เพียงแต่จะได้มากได้น้อยเท่านั้นเอง เพราะมีขาประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณนายสร้อยทอง วัฒนายากร มารดาคุณจำเริญ วัฒนายากร และ อ.ภิญโญ วัฒนายากร ที่ จ.ปัตตานี เป็นลูกค้าคนสำคัญที่ต้องซื้อพระจากคุณสนานเสมอ

               จากคำพูดของคุณสนาน กฤษณะเศรณี เซียนพระรุ่นใหญ่ แสดงว่า คุณแม่ของ อ.ภิญโญ เป็นนักสะสมพระเครื่องชื่อดังในสมัยนั้นจนเป็นที่รู้จักของเซียนพระทั่วไป

               สำหรับพระเครื่องชั้นนำที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น อ.ภิญโญ เล่าว่า ได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง (พระสมเด็จบางขุนพรหม และพระสมเด็จเกศไชโย ยังเป็นรองมาก), พระกริ่งใหญ่ (จีน), พระกริ่งอุบาเก็ง-หนองแส, พระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร, พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนฯ ส่วนพระกรุโบราณ คือ พระร่วงหลังรางปืน, พระท่ากระดาน, พระหูยาน ลพบุรี, พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก, พระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน, พระขุนแผนเคลือบอยุธยา, พระกำแพงเม็ดขนุน, พระกำแพงซุ้มกอ, พระผงสุพรรณ (สมัยก่อนเรียกว่า พระเกษรสุพรรณ) ฯลฯ

               อ.ภิญโญ เล่าว่า คุณแม่เคยเช่าพระสมเด็จวัดระฆัง เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ ในราคา ๓-๔ หมื่นบาท ขณะที่พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม ราคาไม่กี่พันบาท พระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน เนื้อสีเขียว ๘,๐๐๐ บาท, พระผงสุพรรณ ๔,๐๐๐ บาท, พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง กรุวัดนางพญา ๖,๐๐๐ บาท, พระกริ่งใหญ่ (จีน) สภาพงามๆ ในขณะนั้น ราคาใกล้เคียงกับพระสมเด็จ วัดระฆัง ส่วนเหรียญพระพุทธรูป และเหรียญพระคณาจารย์ต่างๆ ยังนิยมไม่มากนัก ที่โดดเด่นมีชื่อเสียง คือ เหรียญวัดหนัง (หลวงปู่เอี่ยม), เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ ๒๔๖๙ ก็มีการเช่าหากันพอสมควร ส่วนเหรียญที่ระลึกต่างๆ เช่น เหรียญปราบฮ่อ ยังไม่มีความนิยมสะสมมากเหมือนเช่นในปัจจุบัน

               นางธำรงพันธุ์ภักดี (สร้อยทอง วัฒนายากร) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านเป็นหนึ่งในนักธุรกิจสุภาพสตรีชั้นแนวหน้าที่เสียสละเพื่อสังคมและวงการพระเครื่องอย่างมากมาย

               สำหรับ หนังสืออนุสรณ์งานบรรจุศพของท่าน ณ สุสาน “ธำรงวัฒนา” อ.ยะรัง จ.ปัตตานี คือ หนังสือพระสมเด็จและพระกริ่งชั้นนำ โดยมีคุณประชุม กาญจนวัฒน์ เป็นผู้เรียบเรียงและจัดพิมพ์ให้ ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ มีผู้เสาะหาในตลาดหนังสือเก่ากันมาก
แม้เรื่องราวดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ผ่านมาในอดีตที่ไม่มีโอกาสได้หวนกลับมาอีกแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสพระเครื่องของพุทธศาสนิกชน จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงเกร็ดประวัติและความเป็นมาบางช่วงของวงการพระเครื่องเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา อันเป็นรากฐานในปัจจุบันและส่งผลต่อไปยังอนาคต ตราบใดก็ตามที่พระเครื่องยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวพุทธส่วนใหญ่ในเมืองไทย ก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ว่าวงการพระเครื่องเมืองไทยก็เปรียบเสมือนเป็นเงาที่ควบคู่กันมาโดยตลอด และเป็นหน้าที่ของคนรุ่นนี้ที่จะช่วยกันสืบสานและอนุรักษ์ไว้ตลอดไป...ตราบนานเท่านาน

               ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้มาจากคำบอกเล่าของ อ.ภิญโญ วัฒนายากร นักสะสมพระเครื่องยุคแรก ผู้สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย นับเป็น “ประวัติศาสตร์” หน้าหนึ่งของวงการพระเครื่องเมืองไทย ที่มีคุณค่ายิ่ง

               บัดนี้...อ.ภิญโญ วัฒนายากร ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันพุธที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ อายุ ๙๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลาหน่อยอนุสรณ์ วัดแหลมทราย อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ และจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ วัดแหลมทราย อ.เมือง จ.สงขลา
• แล่ม จันท์พิศาโล •