พระเครื่อง

เผยรูปปั้น'พระพรหมวชิรญาณ'ที่วัดในอเมริกา

เผยรูปปั้น'พระพรหมวชิรญาณ'ที่วัดในอเมริกา

25 ส.ค. 2556

เผยรูปปั้น'พระพรหมวชิรญาณ'ที่วัดในอเมริกา ฝีมือศิลปินดังก้องโลก 'สันติ พิเชฐชัยกุล' คนโคราช

             25ส.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กวัดนวมินทรราชูทิศเฉลิมพระเกียรติ แห่งนครเคมบริดจ์-บอสตัน เมืองเรย์แฮม ประเทศสหรัฐอเมริกานาม Watnawamintararachutis Raynham MA  ได้โพสต์ข้อความระบุว่า นายสันติ พิเชฐชัยกุล นักปั้นฝัน ศิลปินงานปั้นรูปลอยตัวจะเดินทางมาเยี่ยมวัดในวันอังคารที่ 27  สิงหาคมนี้ เวลา 13.00น. เป็นต้นไป ขอเชิญญาติโยมทุกคน กรรมการอำนวยการฯ กรรมการบริหาร แผนกต่างๆ และกรรมอุปถัมภ์ ทุกคน ตลอดทั้งโยมญาติ ผู้ที่ว่างเข้าร่วมถ่ายภาพ และฟังทัศนะต่างๆ จากนักศิลปะดังก้องโลก นามว่า "สันติ พิเชฐชัยกุล" หรือ "หนึ่ง" หนึ่งเดียวในโลก ผู้ปั้นรูปเหมือน พระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานโครงการสร้างวัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติ และประธานกรรมการอำนวยการวัด

             นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังได้เผยแพร่รูปปั้นพระพรหมวชิรญาณผีมือนายสันติพร้อมกับประวัติของนายสันติอย่างละเอียดเช่นความว่า เขาชื่อเล่นชื่อ “หนึ่ง” แต่เป็นลูกคนสุดท้อง เขาหลงใหลคลั่งไคล้ “การปั้น” จนถึงขั้นเก็บดินรังปลวกมาสร้างสรรค์งาน เขาคนนี้ขายผลงานได้ตั้งแต่เมื่ออายุย่าง 6 ขวบ เหล่าอินเดียนแดงต้องมายืนร้องไห้ให้กับงานปั้นของเขา และเขาคนนี้ก็สามารถทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่ารูปปั้นไม่ใช่รูปปั้น เขาทำให้โลกทึ่งได้ในพลังการปั้นของเขา...“สันติ พิเชฐชัยกุล”
หนึ่ง-สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินนักปั้นหนุ่มไทย เกิดใน อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 6 คน ชื่อ “หนึ่ง” มีที่มาจากการที่คุณแม่ตั้งท้องตัวเขาแบบไม่คาดฝัน เนื่องจากคุณแม่ทำหมันตั้งแต่คลอดพี่คนที่ 5 คุณแม่เลยพูดทำนองว่า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ไปเลยแล้วกัน เผื่อว่าจะมีลูกคนอื่นตามมาอีก

             สันติคนนี้ก็บอกว่า ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก กับงานปั้นก็เกิดจากความสนใจที่เห็นพี่ ๆ เล่นปั้นดิน อายุ 4 ขวบก็เริ่มหัดปั้น อายุ 6 ขวบ ยานอวกาศที่ปั้นไว้ถูกใจเพื่อนรุ่นเดียวกันจนถึงขั้นขอซื้อในราคา 1 บาท และถูกจ้างให้ปั้นของเล่นอื่น ๆ เรื่อยมา โตมาเมื่อมองย้อนไปว่าเหตุใดจึงสนใจในศิลปะก็พบว่า รอบตัวทุกอย่างที่ใช้ชีวิตอยู่ล้วนเป็นเบ้าหลอมหล่อรวม

             “ศิลปะมันอยู่กับคุณตั้งแต่วันที่คุณเกิด จนถึงวันที่คุณหลับจากไป ศิลปะมันก็ยังอยู่ เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วศิลปะมันอยู่กับคุณทุกที่ทุกเวลา”...นี่เป็นสิ่งที่สันติย้ำ และเมื่อครอบครัว ไม่ได้ขัดขวางทางศิลปะของเขาจึงเดินหน้าต่อไปเรื่อย จากเวทีหมู่บ้าน โรงเรียน อำเภอ จังหวัด แต่คงไม่มีใครเคยคิดว่าเขาจะก้าวออกไปสร้างชื่อในเวทีระดับโลกได้
สันติบอกว่า สำหรับงานปั้น รู้สึกว่าน่าสนใจตั้งแต่ครั้งที่พ่อพาไปชมปราสาทหินพิมาย อีกทั้งการได้เห็นงานปั้นชั้นเลิศของ ศ.ศิลป์ พีระศรี กับอนุสาวรีย์ย่าโม และเห็นความอ่อนช้อยของพระพุทธรูปปางลีลา ก็ยิ่งอัศจรรย์ใจในงานปั้น ถึงขั้นปฏิญาณว่าสักวันต้องทำให้ได้เช่นนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าสถาบันศิลปะทรงชื่ออย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เหมือนแบบทดสอบในโลกไม่ได้มีคำตอบเพียงข้อเดียว สันติสอบไม่ติด แต่ก็ไม่เลิกความตั้งใจ ตัดสินใจไปรับจ้างเป็นช่างปั้นที่โรงหล่อพระย่านเพชรเกษมหาเงินส่งตัวเองเรียนต่อ ทำอยู่ 6 เดือนเงินก็ไม่พอใช้ เจ้าของโรงหล่อแนะว่าน่าจะไปเอาดีด้านบันเทิง จึงลอง โดยเริ่มจากงานมิวสิกวิดีโอ รับจ้างเขียนฉาก พอมีเงินเก็บก็ไปลงเรียนต่อ ปวส.ที่เพาะช่าง และภายหลังก็เรียนต่อจนจบระดับปริญญาตรีที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี

             “ครั้งหนึ่ง ไม่มีดินเหนียว พี่ชายพี่สาวไม่ได้พาไปขุด เผอิญไปพบว่าดินที่ปลวกขนมาทำรังเป็นดินเหนียว ก็ไปแคะไปขุดเอามา โดนปลวกกัดมือกัดแขนแต่ก็ทน ใจอยากจะเอาดินตรงนั้นมาปั้นให้ได้ โตมากลับมาคิดว่าไม่น่าทำ เหมือนไปทำลายบ้านเขา ก็ทำงานปั้นมาเรื่อย คู่กับงานวาด เรียนกรุงเทพฯก็รับจ้างทำงานให้เพื่อน ผมเลยไม่ค่อยปฏิเสธความเป็นธุรกิจ ผมใช้และปรับให้เข้ากับเส้นทางได้ ผมผ่านหมดทั้งคนรับจ้าง ทั้งในฐานะศิลปิน ผมแยกทำ แต่อยู่รวมกัน”

             “ประติมากร” และ “ปฏิมากร” หลายคนอาจคุ้น แต่ไม่ทราบวิธีการเรียก คนทำงานปั้นรูปเหมือนคนจริงจะเรียกว่าประติมากร แต่เมื่อเป็นงานที่เกี่ยว ข้องทางศาสนา เช่น การปั้นพระพุทธรูป เรียกแยกเป็นอีกคำว่าปฏิมากร เมื่อพูดถึงผลงาน แม้งานในไทยที่สันติทำอยู่จะได้รับการยอมรับ มีงานให้ทำไม่ขาด แต่นั่นยังไม่สามารถเติมเต็มฝันที่ตั้งใจไว้ได้ สันติตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2551 ด้วยหวังว่าจะทำให้โลกยอมรับให้ศิลปินหนุ่มจากเมืองไทยคนนี้บ้าง

             “ผมเชื่อว่าศิลปะจะพาเราเดินไป ตอนไปสหรัฐ เมืองที่อยู่ชื่อบิ๊กโฟรค อยู่ในมอนทานา เป็นเมืองเงียบ ๆ เป็นถิ่นอินเดียนแดง แรกที่ไปถึงยังทำอะไรไม่ได้มาก และต้องเผชิญกับการเหยียดผิว เวลาผ่านไปเงินก็ร่อยหรอ ก็คิดกังวล จนครั้งหนึ่งได้ปั้นหุ่นเหมือนซึ่งเป็นคนสำคัญของอินเดียนแดงที่ไปอ่านเจอประวัติเข้าและเกิดแรงบันดาลใจ พอปั้นเสร็จก็นำไปแสดงในงานตลาดนัดศิลปะ ปรากฏว่ามีอินเดียนแดงมายืนร้องไห้จับไม้จับมือบอกว่าขอบคุณมากที่ทำให้คนนี้มีชีวิตกลับมาอีกครั้ง ผมว่าคงโชคดี เพราะผมเองก็หน้าตาคล้ายคนอินเดียนแดงเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

             จากนั้นก็มีงานปั้นให้ทำต่อมาเรื่อย ๆ จนส่งงานเข้าประกวดในเวที Art Prize ปี ค.ศ. 2010 ส่งรูปปั้นเหมือนหลวงปู่เลื่อนหล่อด้วยไฟเบอร์กลาสเรซิ่นซึ่งเป็นงานที่ทำจากเมืองไทย ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจเลย จนผิดหวังสิ้นหวัง ใจคิดว่าฝรั่งไม่ชอบศาสนาพุทธ เห็นรูปปั้นพระสงฆ์ก็เดินหนี วันต่อมาจึงเอาสีมาตกแต่งเพิ่ม คนก็เริ่มเข้ามาถามว่ารับจ้างสักด้วยเหรอ จึงเข้าใจ วันสุดท้ายจึงเอาป้าย Don’t Touch มาแปะ ปรากฏว่าคนมาดูล้นหลามเลย บ้างว่าผมโกหก บ้างว่าเอานักแสดงมาทำท่ารูปปั้น บางคนวนรถกลับมาถามว่ารูปปั้นจริงหรือ ผลงานนั้นติด 1 ใน 25 คนสุดท้าย แต่หลายคนบอกว่าผมน่าจะต้องติด 1 ใน 3 ผมจึงลองใหม่ ปั้นรูปเหมือนของเจอรัล อาร์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีคนที่ 38 ของสหรัฐ เข้าประกวดในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าติดเป็นอันดับ 1 ของประติมากรทั้งหมด และอันดับที่ 4 จากศิลปินทั้งหมด 1,000 กว่าคน จาก 39 ประเทศ จากนั้นชื่อและงานก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อย ๆ เวลานี้หลายคนยอมรับในเส้นทางของผมแล้ว”…สันติเล่า

             แต่กว่าเส้นทางจะเป็นดั่งฝัน แรงกระทบหลายอย่างที่เข้ามาก็เสมือนไม้เรียวที่หวดให้ค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น จากคำว่า “ท้อ” ถูกสะกดเป็นคำว่า “สู้” จากคำว่าศิลปินไส้แห้ง กลายเป็นมีชื่อเสียง เริ่มจากงานบาทเดียว มาขายได้ในราคาหลักล้าน ความสำเร็จของเขาเหมือนน้ำผึ้งอันหอมหวาน แต่สันติมองว่าทุกสิ่งที่เกิดเพราะเขาเคย “ขาดทุน-กำไรชีวิต” มาก่อน สันติออกตัวว่า กล้าพูดแบบนี้ไม่ใช่เพราะมีอัตตาสูง แต่คิดว่าเมื่อคนเราพยายามตั้งมั่น ความสำเร็จจะต้องเกิดขึ้น หลายคนพูดว่า ทำดีไม่ได้ดี ต้องถามว่าที่ทำอยู่ ดีจริงหรือยัง พยายามพอหรือไม่ ถ้าดีจริงผลงานจะพาเราเดินไปเองแน่นอน

             “ผมเอาความฝันในอากาศของผมมาปั้นให้เกิดเป็นมรรคผลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ นอกเหนือจากความเหมือนที่ผมปั้น ในงานปั้นของผมนั้นมันมีความจริงเจืออยู่ งานปั้นสำหรับผมมันจึงไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าการสร้างอะไรขึ้นจากดิน แต่งานปั้นมันคือชีวิต เป็นเลือดเนื้อ วิญญาณของผมด้วย” …สันติเน้นย้ำ ก่อนจากกันในวันอันร้อนระอุ

             อีกฝันหนึ่งของเขาคนนี้ คือเผยแพร่ประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ด้วยการเปิดโรงเรียนสอน ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น และตอนนี้เขาก็มีเว็บไซต์ส่วนตัว www.suntiworldart.com ซึ่งในนั้นมีเรื่องราวอีกมาก ทั้งนี้ จากที่ว่ามาก็เป็นส่วนหนึ่งจากกิ่งก้านความคิดของศิลปินชื่อ “สันติ พิเชฐชัยกุล” ศิลปินไทยที่สร้างชื่อจากงานปั้น สร้างฝันจากก้อนดิน จนทั้งโลกหันมอง

             พร้อมกันนี้ยังได้ลงข้อความที่ระบุถึงผลงานของนายสันติที่ออกแสดงโชว์ในสถานที่ต่างๆ จนในที่สุด ด้วยฝีมือการปั้นที่เนี้ยบ เฉียบคม เก็บรายละเอียดได้ครบครัน และเหมือนของจริง จนมีลูกค้ามาว่าจ้างมากมาย รวมทั้งคนดัง และลูกหลานของคนดังในประเทศอเมริกา ผลงานของเขาที่ลูกค้าซื้อไป สามารถพบที่ประเทศ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา สนนราคางานของเขามีตั้งแต่ ล้านกว่าบาทจนถึงประมาณหกล้านบาท ตอนมาเมืองไทยได้โชว์การปั้นหน้า  สัญญา คุณากร และวิทวัส สุนทรวิเนตร ถ่ายออกอากาศในรายการเจาะใจ และ ตีสิบ