พระเครื่อง

พระพิมพ์สมเด็จแตกลายงาสุดยอดมวลสารดั้งเดิม'มูลนิธิพุทธคยา'

พระพิมพ์สมเด็จแตกลายงาสุดยอดมวลสารดั้งเดิม'มูลนิธิพุทธคยา'

24 ส.ค. 2556

พระพิมพ์สมเด็จแตกลายงาสุดยอดมวลสารดั้งเดิมของ'มูลนิธิพุทธคยา' : พระองค์ครู เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ ประเสริฐ เทพศรี

             "พระสมเด็จวัดระฆัง" ที่มีรูปลักษณะเป็น "สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก" พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังที่เป็นพิมพ์นิยม ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์ทรงเจดีย์ ๓.พิมพ์เกศบัวตูม
๔.พิมพ์ปรกโพธิ์ และ ๕.พิมพ์ฐานแซม

             ทั้งนี้มีการตีความและแปลความหมายไว้ที่น่าสนใจ ดังนี้

             ๑.พระสมเด็จรูปสี่เหลี่ยม หรือสี่มุม หมายถึง อริยสัจจ์ 4 คือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

             ๒.องค์พระหมายถึง พระพุทธองค์

             ๓.ซุ้มครอบแก้วหมายถึง อวิชาที่ครอบคลุมพิภพ

             ๔.แนวองค์พระเป็นสามเหลี่ยมหมายถึงพระรัตนตรัย

             ส่วน ฐานชุกชี มีตั้งแต่ ๓-๙ ชั้น ซึ่งมีความหมายดังนี้

             ๓ ชั้น หมายถึง พระไตรปิฎก

             ๕ ชั้น หมายถึง ขันธ์ทั้งห้า เบญจศีลเบญจธรรม

             ๖ ชั้น หมายถึงสารานิยธรรมหก

             ๗ ชั้นหมายถึงอปริหานิยธรรมเจ็ด

             ๙ ชั้นหมายถึง มรรค ผล นิพพาน (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) 

             เนื้อพระทำมาจากผงวิเศษ หรือผงกฤติยาคม ประกอบด้วยผงวิเศษสำคัญ ๕ อย่าง คือ อิทธเจ, ตรีนิสิงเห, ปัถมัง, มหาราช และพุทธคุณ หมายถึง เมตตา, ความรัก, เสน่ห์, ปลอดภัย, ทนต่อศาตรา และปฏิหาริย์

             นอกจากนี้แล้วยังมีมวลสารที่เป็นมงคล คือ เกษรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิด ว่านยา และว่านมงคล, สมุนไพรต่างๆ อัญมณีต่างๆ แร่ธาตุ, พระธาตุ, พระเก่าโบราณ, ไม้มงคล, ดินโป่ง, ก้านธูปบูชาพระรัตนตรัย, หินเปลือกหอย, ผลไม้, กระยาหาร, ข้าวหอม, ไคลเสมา, ไคลเสาตะลุงช้างเผือก, ดินสอพอง, ปูนตายซาก, หมุดเงินทอง, ทราย เงินทอง, ใบลาน, น้ำอ้อย, ยางไม้, น้ำมันตังอิ้ว, ผงตระไบพระทอง

             ทั้งนี้ จากการสืบค้นในตำราและข้อเขียนของผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้ว่า คุณหลวงวิจารณ์เจียรนัย เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นถึงกรรมวิธีในการสร้างพระสมเด็จให้มีความคงทน สวยงาม ด้วยการเพิ่มมวลสารที่ยึดเกาะ และเป็นผู้หนึ่งที่ได้แกะพิมพ์พระสมเด็จถวายซึ่งกล่าวกันว่ามีความสวยงามไม่น้อยเช่นกัน

             “พระพิมพ์สมเด็จ” เป็นการจำลองแบบพระประธานในพระอุโบสถมาเป็นแบบในรูปแบบที่เรียบง่ายแต่ยังคงด้วยความยิ่งใหญ่น่าเลื่อมใส ส่วนใหญ่ทำจากเนื้อหามวลสารที่ทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะผงวิเศษต่างๆ ที่ได้รังสรรค์ขึ้น ก่อเกิดพุทธคุณอันลึกล้ำเกินจินตนาการ ในปัจจุบันแม้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ กว่า ๑๔๑ ปีแล้วประชาชนก็ยังมิคลายความศรัทธาลงแต่ประการใด แต่ยังจะยิ่งความศรัทธามากขึ้น ดั่งปรากฏมีการสร้างสิ่งสักการะที่เกี่ยวข้องกับ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อย่างมากมาย

             สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็นภาพ "พระพิมพ์สมเด็จแตกลายงาน ย้อนยุค หลังเหรียญสมเด็จโต เลี่ยมทองไมครอนกันน้ำ" ที่จัดสร้างโดยพุทธสถานมูลนิธิพุทธคยา อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อสมทบทุนสร้างสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดใหญ่ประมาณความสูงรวมฐาน ๔๑.๙ เมตร ฐานหน้าตักกว้าง ๒๓.๙ เมตร

             พระพิมพ์สมเด็จย้อนยุคขึ้น เป็นครั้งแรกในรูปแบบดั้งเดิมเหมือนของเก่า ซึ่งการจัดสร้างได้รวบรวมมวลสาร ว่าน ยา ผงวิเศษต่างๆ อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นมวลสารหลักสำคัญ โดยได้ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก อย่างเป็นทางการโดยได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าประคุณพระธรรมธีรราชมุนี (เจ้าคุณเที่ยง) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ให้ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐ ปีนี้ ณ มณฑลพระวิหารท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

             ในพิธีมหาพุทธาภิเษก มีเกจิอาจารย์มากมายที่ทรงคุณมานั่งปรกในพิธีมหาพุทธาภิเษกเช่น หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกรินกฐิน จ.ลพบุรี หลวงพ่อสิริ วัดตาล จ.นนทบุรี หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา หลวงพ่อสมชาย วัดปริวาสราชสงคราม กทม. หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา และพระเกจิอีกมากมาย ประกอบพิธีอย่างเข้มขลังเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าที่ต้องจารึกไว้