
พระอุปคุตวัดบางกุ้งใต้อรหันต์แห่ง'โชคลาภ ร่ำรวย แคล้วคลาด'
พระอุปคุตวัดบางกุ้งใต้อรหันต์แห่ง'โชคลาภ ร่ำรวย แคล้วคลาด' : ท่องไปในแดนธรรมเรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"พระอุปคุตบัวเข็มขนาดหน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว " ประดิษฐานอยู่ที่วัดบางกุ้งใต้ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ถือว่าเป็นพระอุปคุตบัวเข็มขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก จัดสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ โดย "อ.คม ไตรเวทย์" อาจารย์สักยันต์ที่ถูกยกให้เป็น "ฆราวาสผู้เรืองวิทยาอาคมแห่งเมืองสุพรรณบุรี"
อ.คม ได้เล่าถึงประวัติพระอุปคุตมหาเถระให้ฟังว่า ผู้เป็นอรหันตสาวกที่ทรงมหิทธานุภาพเป็นพระอรหันต์สมัยหลังพุทธกาล ร่วมยุคสมัยกับพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระอุปคุตมหาเถระเป็นยอดแห่งธรรมถึกผู้เป็นเลิศแห่งการแสดงธรรม
ท่านตั้งความปรารถนาที่จะอยู่รักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,000 ปีปกป้องคุ้มกันปราบมารและอุปทวอันตรายทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมจงนอบน้อมบูชาต่อพระอุปคุตเถระ เป็นสังฆานุสติ และปฏิบัติตนตามปฏิปทาของท่านคือ ฝึกตนเองให้สมบูรณ์ ขัดเกลากิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของตนเองให้เบาบางและช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกอีกทั้งช่วยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
จากการค้นหาข้อมูลของพระอุปคุตนั้น เราทราบเพียงว่า ท่านเกิดหลังพระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้ว ประมาณ พ.ศ.218 ปี เรื่องราวก็มีอยู่ว่า เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้อินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ตามตำนานกล่าวว่า ได้ทรงสร้างพระวิหารและพระสถูปมากมายทั่วทั้งชมพูทวีป (เขาว่ามากถึงแปดหมื่นสี่พันองค์) เป็นผู้รวบรวมและขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อจะนำไปบรรจุในสถูปที่พระองค์ทรงสร้างไว้ทุกแห่ง
เมื่อการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ทรงปรารภที่จะจัดให้มีการฉลองสมโภช พระสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้น เป็นการมโหฬารยิ่ง ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และเพื่อให้การฉลองสมโภชเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากอุปสรรค จึงใคร่จะอาราธนาพระสงฆ์ขีณาสพที่ทรงอิทธิฤทธิ์ มาเป็นผู้คุ้มครองงานให้ปราศจากการรบกวนจากมารร้ายต่างๆ
แต่พระสงฆ์ในนครปาตลีบุตร ไม่มีรูปใดที่จะสามารถเป็นผู้คุ้มครองงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ให้พ้นจากภัยทั้งหลายทั้งปวงได้ (โดยเฉพาะภัยจากพญาวัสสวดีมาร ผู้มีฤทธิ์ยิ่งกว่าภูตผีปีศาจทั้งหลาย) นอกเสียจากพระอุปคุตเถระผู้เดียวเท่านั้น พระสงฆ์ทั้งปวงจึงตั้งตัวแทน ๒ รูป ลงไปอาราธนาพระอุปคุตเถระผู้เรืองฤทธิ์ มาช่วยรักษาความปลอดภัยในงานสมโภชครั้งนี้ ซึ่งกล่าวกันว่าพระอุปคุตเถระองค์นี้มีปกติสันโดษอยู่องค์เดียว เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุข อยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ภายในปราสาทแก้วที่เนรมิตขึ้น เหนือรัตนะบัลลังก์ จะออกจากสมาบัติ เหาะขึ้นมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์ ในวันพุธเพ็ญกลางเดือนเท่านั้น
"พระอุปคุตเป็นพระที่เป็นที่นิยมนับถือของชาวอินเดีย มอญ และชาวไทยญวน และอีสาน สมัยก่อนพระมอญได้นำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนที่พระองค์ผนวชอยู่ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงกล่าวถึงความเป็นมาในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนด้วย" อ.คมกล่าว
เชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า "พระบัวเข็ม"
อย่างไรก็ตามพระมหาเถระอุปคุตที่มีรูปลักษณะที่แตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีสัญลักษณ์ของท่านอยู่ประการหนึ่งนั่นก็คือ โดยที่ท่านจำพรรษาอยู่ ณ กลางสะดือทะเล จึงมักจะสร้างบนพระเศียรคลุมด้วยใบบัว โดยเฉพาะที่ฐานด้านหน้า ด้านหลัง และใต้ฐานจะทำเป็นรูปกุ้ง หอย ปู ปลา เป็นสัตว์อยู่เฉพาะในน้ำซึ่งเป็นบริวารและเป็นสิ่งบอกถึงว่า พระองค์นี้คือพระมหาเถระอุปคุต อันมีวิหารแก้วประดิษฐานอยู่ ณ กลางเกษียรสมุทร หรือสะดือทะเล นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว บางองค์ก็ทำเป็นปุ่มปม มีตุ่มนูนตามหน้าผาก หน้าอกและทั่วพระวรกาย นิยมเรียกว่า เข็มมี ๓ เข็ม ๕ เข็ม ๗ เข็ม และ ๙ เข็ม เชื่อกันว่าแต่เดิมนั้นตามตุ่มที่ฝังเข็มนั้นเป็นช่องที่บรรจุพระธาตุและพระบรมธาตุ กล่าวกันว่ายิ่งมากเข็มเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น คนส่วนมากจึงมักจะนิยมแสวงหาพระบัวเข็มที่มีหลายๆ เข็ม
ในขณะที่พระอุปคุตของเขมรนิยมสร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์โดยสร้างเป็นรูปพระอุปคุตนั่งอยู่ในเปลือกหอยหรือกระดองเต่า เข้าใจได้ว่าคงจะอุปมาจากตำนานที่ว่าพระอุปคุตได้บำเพ็ญธรรมอยู่ ณ สะดือทะเล ส่วนพระบัวเข็มของพม่านิยมแกะด้วยไม้ ทั้งนี้มีคติความเชื่อในการสร้างบูชาพระอุปคุต ก็เพื่อให้บังเกิดโชคลาภ และบันดาลความร่ำรวย ร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ยังเชื่อว่ามีอานิสงส์ทางด้านแคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆ ทั้งปวง จึงมีการสร้างพระอุปคุตเพื่อบูชากันมาแต่ครั้งโบราณ
๒๑ ส.ค.ตักบาตรเพ็ญพุธ
อ.คมบอกว่า "พระอุปคุตเถระ" เป็นพระที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยอย่างมาก ถ้าไม่เห็นลายมือไม่ออกบิฑบาต เรื่องตื่นมาบิณฑบาตรตอนเที่ยงคืนนั้นเป็นไปไม่ได้ ตำนานแรกที่มีการกล่าวการตักบาตพระอุปคุต คือ มีผัวเมียคู่หนึ่งมีอาชีพค้าขาย กำลังจะเดินทางเอาของไปขายที่ตลาด หากพิจารณาแล้วในสมัยโบราณการไปซื้อของที่ตลาดนั้น ต้องสว่างแล้วเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน ผัวเมียคู่นี้อาจจะไปก่อนสว่างนิดหน่อยประมาณตี ๕ ส่วนการใส่บาตรนั้นน่าจะเป็นช่วงเช้า
ประเพณีตักบาตรเพ็ญพุธ มีคติความเชื่อว่าพระอุปคุตจะขึ้นจากท้องทะเลมารับบิณฑบาต เพียงเฉพาะวันพุธที่ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำเท่านั้น ปกติแล้วปีหนึ่งจะมี ๒ ครั้ง คือ ช่วงต้นปี และช่วงปลายปี แต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ วันพุธที่ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ มีวันเดียวเท่านั้น คือ วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เริ่มจาก เวลา ๐๘.๑๙ น. ทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเถระขึ้นจากน้ำ อัญเชิญขึ้นมาอยู่บนที่ประทับ กล่าวคำสักการบูชาพระอุปคุต กล่าวถวายอาหารบิณฑบาต และกล่าวคำขอพรพระอุปคุต เวลา ๐๘.๓๙ น. พระเถระเจริญพุทธชัยมงคลคาถา เวลา ๑๙.๑๙ น. อาราธนาเถระและพระภิกษุสงฆ์ ๙ รูป รับบิณฑบาต โดยอาหารที่ได้รับจากบิฑบาตจะไปมอบให้นักเรียนตามชายเขา จ.กาญจนบุรี
เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้มาร่วมงานจึงจัดสร้าง "พระะอุปคุตปางจกบาตรเนื้อโลหะผสม" เป็นปางที่พระอุปคุตแหงนหน้าหยุดพระอาทิตย์เพื่อฉันข้าวแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์มีกินมีกินมีใช้และความยิ่งใหญ่ของท่านเพราะแม้แต่พระอาทิตย์ไม่ว่าใหญ่แค่ไหนก็ต้องหยุดด้วยอานุภาพของท่านจึงนิยมสร้างพระอุปคุตปางนี้ไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับท่านผู้ทำจิตให้นอบน้อมบูชาสักการะองค์พระอุปคุตมหาเถระปราบมาร ทำสิ่งใดไม่ว่าจะมีปัญหามากแค่ไหนก็สำเร็จทุกประการ
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญตักบาตรสอบถามเส้นทางวัดบางกุ้งใต้ ได้ที่ โทร.๐๘-๙๔๙๐-๐๗๓๙ และ ๐๘-๑๕๘๖-๔๔๙๕