พระเครื่อง

พระหลวงพ่อทวดพิมพ์กลีบบัว‘รุน๑’(ไม่มีไม้เอก)

พระหลวงพ่อทวดพิมพ์กลีบบัว‘รุน๑’(ไม่มีไม้เอก)

11 ส.ค. 2556

พระหลวงพ่อทวดพิมพ์กลีบบัว‘หลังหนังสือ ๕ แถว’และ‘รุน ๑’(ไม่มีไม้เอก) : เหรียญหลักยอดนิยม ตาล ตันหยง

              พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ อีกรุ่นหนึ่งที่ทัน พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จากบรรดานักสะสม พระหลวงพ่อทวด ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่งผลให้ค่านิยมเช่าบูชาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ

              พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หรือที่บางคนเรียกว่า พิมพ์สามเหลี่ยมเล็ก ซึ่งเป็นพระปั๊มเช่นเดียวกับ พระชุดหลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ กล่าวคือ ด้านหน้ามีรูปหลวงพ่อทวดนั่งสมาธิบนฐานบัวสองชั้น และมีตัวหนังสือด้านหลัง แต่องค์พระมีขนาดเล็กกว่า และบางกว่ากันมาก

              พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว แบ่งออกเป็นพิมพ์ต่างๆ ได้หลายพิมพ์ มีหลายเนื้อ แต่จำนวนสร้างไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน

              ขณะเดียวกันการตั้งชื่อ พิมพ์ ก็มีหลายชื่อด้วยกัน ซึ่งวันนี้จะได้นำรายละเอียดต่างๆ มาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและสะสมอย่างถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากลนิยม

              เริ่มต้นจากการแยกพิมพ์หลักๆ ก่อน เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถพิจารณาได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นจะตามด้วยพิมพ์ย่อยๆ ออกไป พร้อมกับบอกลักษณะเฉพาะทางกายภาพ และตำหนิจุดสำคัญที่ปรากฏในแต่ละพิมพ์

              พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว สามารถแบ่งแยกพิมพ์ออกเป็น ๓ พิมพ์หลัก คือ ๑.พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว ปี ๒๕๐๖ ๒.พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ปี ๒๕๐๘ และ ๓.พิมพ์กลีบบัว รุ่น ๑ (มีไม้เอก) ปี ๒๕๑๑

              ในที่นี้จะยึดปีที่สร้าง โดยอ้างอิงจากรายการประกวดพระที่ “สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย” ให้การสนับสนุน เพราะวงการพระได้ยอมรับเป็นหลักสากลนิยมไปแล้ว (แม้จะมีผู้ชำนาญการบางท่านได้เสนอปีที่สร้างซึ่งแตกต่างไปจากนี้ก็ตาม)

              อันดับแรก พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว ปี ๒๕๐๖ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ย่อย คือ พิมพ์แข้งยาว (นิยม) (ภาพที่ ๑) และ พิมพ์แข้งสั้น (ภาพที่ ๒)

              ลักษณะที่เด่นชัดของพระพิมพ์นี้คือ มีตัวหนังสือด้านหลังจำนวน ๕ แถว (ความจริงน่าจะเป็น ๖ แถว เพราะมีอักขระขอมตัว “นะ” อยู่ข้างบนสุดอีก ๑ แถว) พระที่หมุนเวียนในวงการส่วนใหญ่เป็น เนื้อทองเหลืองรมดำ นอกจากนี้ยังเคยพบเห็น เนื้อนวโลหะ และ เนื้ออัลปาก้า แต่มีจำนวนน้อยมาก

              ความแตกต่างระหว่าง พิมพ์แข้งยาว และ พิมพ์แข้งสั้น คือ พิมพ์แข้งยาว หน้าแข้งซ้ายของหลวงพ่อทวด (มีลักษณะเป็นลำแข้งชัดเจน) ซึ่งยื่นออกมายาวกว่า เมื่อเทียบกับพิมพ์แข้งสั้น (หน้าแข้งที่มีลักษณะกุด) จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพระ ๒ พิมพ์นี้ นอกจากนี้ ลักษณะเค้าโครงรูปหน้าหลวงพ่อทวดของพระทั้ง ๒ พิมพ์นี้ ก็ต่างกัน จุดที่เห็นได้ชัดคือ ในพิมพ์แข้งสั้นที่ศีรษะหลวงพ่อทวด บริเวณ ๑๓.๐๐ น. จะมีเส้นขีดเฉียงขึ้น และที่ใกล้ขอบองค์พระด้านซ้ายมือจะมีเส้นนูนบางช่วงลากผ่านขนานกับขอบองค์พระ ซึ่งจุดนี้จะไม่ปรากฏในพิมพ์แข้งยาว

              ขณะเดียวกัน ในพิมพ์แข้งสั้น ตรงรัดประคดจะมีลักษณะเป็นแท่งตัน และตรงแถบประคดด้านซ้ายมือองค์พระจะดูสั้นกว่าพิมพ์แข้งยาว อีกจุดหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ รัดประคด ของหลวงพ่อทวด ในพิมพ์แข้งยาว จะมีลักษณะเป็นริ้วๆ โดยเฉพาะด้านซ้ายมีความยาวไปจรดชายจีวรที่คลุมไหล่ซ้าย และบนผ้าสังฆาฏิจะมีลายเส้นในแนวขวางเป็นแพ ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดดูชี้เก๊แท้ได้ด้วย

              ส่วนด้านหลังขององค์พระ จะปรากฏ เส้นเสี้ยน บริเวณตัวอักษรใกล้ขอบองค์พระน้อยกว่าพิมพ์แข้งสั้นอย่างเห็นได้ชัด

              พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว ทั้ง ๒ พิมพ์นี้ ด้านหลังมักจะปรากฏเป็นเส้นแตก เป็นแนวยาวเหนือขอบด้านล่างขององค์พระ และมักปรากฏร่องรอยการตะไบตกแต่งขอบองค์พระ และขนาดความหนาของขอบองค์พระจะมีมากกว่าพิมพ์อื่นๆ ในตระกูลพิมพ์กลีบบัวด้วยกัน

              อันดับที่ ๒ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ปี ๒๕๐๘ พระพิมพ์นี้สันนิษฐานว่ามีการนำเอาแม่พิมพ์ของ พระพิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว แข้งสั้น มาปรับแต่งดัดแปลงเป็นแม่พิมพ์ใหม่ พร้อมกับตกแต่งแม่พิมพ์ด้านหลัง โดยเพิ่มตัวหนังสือ ๒ บรรทัดล่าง คำว่า “เหยียบน้ำทะเลจืด รุน ๑” (สังเกตคำว่า “รุน ๑” ไม่มีไม้เอก) ซึ่งเป็นความเผอเรอของช่างแกะแม่พิมพ์มากกว่าที่จะเป็นความจงใจ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งของช่างแกะแม่พิมพ์พระเครื่อง

              พระพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) เท่าที่พบเห็นมี ๒ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ที่ ๑ หลังมีเส้นแตกมาก-สระเอไม่ชัด ตรงคำว่า “เหยียบน้ำทะเลจืด” (ภาพที่ ๓) และพิมพ์ที่ ๒ หลังมีเส้นแตกน้อย-สระเอชัด ตรงคำว่า “เหยียบน้ำทะเลจืด” (ภาพที่ ๔)

              ทั้งนี้ การตั้งชื่อพิมพ์ข้างต้นนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนึกเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยตำหนิที่ต่างกันของพระ ๒ พิมพ์ย่อยนี้ เป็นไปตามชื่อที่ขยาย คือ ให้สังเกตที่ เส้นเสี้ยน เนื่องจากการปั๊มกระแทกที่บริเวณขอบองค์พระซ้ายขวา และความคมชัดของสระ เอ ตรงคำว่า “เหยียบน้ำทะเลจืด”

              พระพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) เท่าที่ปรากฏมีทั้งเนื้อทองแดงรมดำ, เนื้อทองเหลืองรมดำ, เนื้อกะไหล่ทอง และเนื้อตะกั่ว ค่านิยม เนื้อทองเหลืองรมดำ จะสูงกว่าเนื้อทองแดงรมดำ ถ้าองค์พระมีความคมชัดเท่ากัน

              พระพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) หากสังเกตให้ดีที่บริเวณพื้นเหนือศีรษะหลวงพ่อทวดจะปรากฏเส้นพาดเฉียงเป็นแพ อันเนื่องจากการขัดแต่งแม่พิมพ์ (พิมพ์กลีบบัวหลังหนังสือ ๕ แถว แข้งสั้น ปี ๒๕๐๖) ก่อนนำมาปั๊มเป็นพระพิมพ์นี้

              ปัจจุบัน พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) พิมพ์ที่ ๑ หลังมีเส้นแตกมาก-สระเอไม่ชัด จัดเป็นพิมพ์นิยม ในชุดพระพิมพ์กลีบบัวด้วยกัน ซึ่งในวงการยังเรียกชื่อที่แบ่งย่อยออกไปอีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะของเส้นเสี้ยนหรือเส้นที่แตก เช่น พิมพ์ยันต์แตก พิมพ์ยันต์แตกอุแตก (สระอุ) ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมสุด) เป็นต้น

              สำหรับค่านิยมในการเช่าบูชาของ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว สภาพสวยแชมป์ในทุกวันนี้ พอสรุปได้ดังนี้ ๑.พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว พิมพ์แข้งยาว ราคาหลักแสนต้น, พิมพ์แข้งสั้น หลักหมื่นปลาย ๒.เหรียญพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ราคาหลักหมื่นกลาง และพิมพ์กลีบบัว รุ่น ๑ (มีไม้เอก) ราคาหลักหมื่นต้น (สำหรับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุ่น ๑ (มีไม้เอก) จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป)

              พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว ทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นพระที่ไม่ผ่านการใช้มาก่อน ยังคงสภาพสวยสมบูรณ์เหมือนพระเก่าเก็บทุกอย่าง ทั้งหมดนี้เป็นพระของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นักสะสมและผู้ชำนาญ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ โดยเฉพาะ)