
ชาวพุทธสุดเศร้า!สมเด็จเกี่ยวมรณภาพ
ชาวพุทธสุดเศร้า!สมเด็จเกี่ยวมรณภาพ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เวลา 08.41น.ที่รพ.สมิติเวช สิริอายุรวม 85 ปี
10ส.ค.2556 สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพแล้ว ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อเวลา 08.41น.ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท สิริอายุรวม 85 ปี ส่วนพิธีบำเบ็ญกุศลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 เวลา 17.00 น และทรงพระราชทานในพระบรมราชานุเคราะห์สวดพระอภิธรรม 7 วัน ถึงวันที่ 18 สิงหาคม โดยงดวันที่ 12 สิงหาคม
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า สาเหตุเบื้องต้นคาดว่า ติดเชื้อในกระแสโลหิต แต่ทั้งนี้ต้องรอให้คณะแพทย์เป็นผู้แถลงข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามคณะสงฆ์ไทยได้สูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ถือเป็นพระนักพัฒนาผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก โดยเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน
พระวิจิตรธรรมมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวว่า ทางวัดจะมีพิธีเคลื่อนศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในเวลา 09.00 น.ของวันที่ 11 สิงหาคม จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไปยังวัดสระเกศฯ หลังจากนั้นในช่วงเวลา 13.00 น.จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยคาดว่าจะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพ ในช่วงเวลา 17.00 น. จากนั้นจะมีพิธีสวดพระอภิธรรม โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตเข้ารับการตรวจรักษายังโรงพยาบาลสมิติเวชอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 เดือน โดยครั้งล่าสุดสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนกว่าๆและได้มรณภาพลงในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ไป มหาเถรสมาคม(มส.) จะต้องมีการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่รูปใหม่จากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ รวม 7 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ,สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์(ธรรมยุต),สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต),สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (ธรรมยุต),สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร จากนั้นเมื่อทาง มส.ได้ลงมติเลือกแล้ว ทางพศ.จะส่งเรื่องรายงานให้ นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯต่อไป
ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย หรือแซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์ในภายหลัง เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้า
เด็กชายเกี่ยวเมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ 6 มิถุนายน 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์เป็นพระอุปัชฌาย์ ปรากฎว่าสามเณรเกี่ยวไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากพระครูอรุณกิจโกศล หรือหลวงพ่อพริ้ง เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพา กลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)
สามเณรเกี่ยวศึกษาธรรมและบาลีจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 5 ประโยค เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นพ.ศ.2497 และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด
สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้ พ.ศ.2501 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ.2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่พระพรหมคุณาภรณ์
พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ 62 ปี นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2508 ครั้นถึงพ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และพ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม
เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547 ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน การแต่งตั้งดังกล่าวทั้งสองครั้ง ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) (หลวงตามหาบัว) นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายทองก้อน วงศ์สมุทร อย่างนักทำให้เกิดศึกพระป่ากับพระบ้านขึ้น
พร้อมกันนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ
พระผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก
ขณะเดียวกันสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกโดยในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์เนื่องจากวัดสระเกศนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพระพุทธศาสนาต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชดำริที่จะให้มีการฟื้นฟูพระศาสนาให้ตรงตามแบบเดิม จึงได้คัดเลือกพระที่จะไปสืบศาสนาที่ประเทศศรีลังกา และคัดเลือกได้พระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศ 2 รูป
ภายหลังเมื่อพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพกลับมาจากลังกา ได้นำหน่อต้นโพธิ์มาด้วย 3 หน่อ รัชกาลที่ 2 ทรงให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศต้นหนึ่ง ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง และที่วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และในโอกาสต่อมาก็ได้เริ่มวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกา โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา เพื่อหาวิธีการที่จะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาให้ได้
ภายหลังการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกาบรรลุผลสำเร็จ เจ้าประคุณสมเด็จจึงได้เปลี่ยนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในยุโรป
สำหรับทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี
สมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยเนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง 3 วัดในลักซัมเบิร์กในเวลาต่อมา
วัดไทยเนเธอร์แลนด์นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรปเหนือ และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้นพระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้
พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า 271 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดน ได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง
การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านยุโรป พระสงฆ์ได้ใช้เงินไทยน้อยมาก โดยใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า
“พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”
เมื่อสมเด็จฯได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.2517” นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่อีกนัยหนึ่งนั้น ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก
อาจจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก ในปัจจุบัน
........................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดียและเฟซบุ๊กสนง. ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ)