
พระกริ่งปวเรศสุดยอดแห่งพระกริ่งที่มีราคาสูงที่สุด
พระกริ่งปวเรศสุดยอดแห่งพระกริ่งที่มีราคาสูงที่สุด : เรื่องและภาพ ไตรทพ ไกรงู
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ โปรดให้สร้างพระกริ่งปวเรศขึ้น โดยฝีมือของช่างสิบหมู่ หรือช่างหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๒-๒๔๓๔ ตามประวัติมีการจัดสร้าง ๖ ครั้ง ระบุจำนวนให้ทราบเพียง ๒ ครั้ง รวมแล้วได้ ๑๒ องค์ แต่ก็สร้างเพื่อพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์เท่านั้นมีเพียงครั้งที่ ๖ เพื่อฉลองสมณศักดิ์สมเด็จกรมพระยาปวเรศ ที่อาจสร้างแจกเป็นที่ระลึกให้ข้าราชบริพาน พระสกนิกร ในสมัยนั้นแต่ก็ไม่ระบุจำนวนการสร้าง และก็มีหลายแบบพิมพ์ทรง
พระกริ่งปวเรศ ถือว่ามีพลังพุทธนุภาพแรงที่สุด เริ่มมีชื่อเสียงในวงแคบๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาถึงยุคของรัชกาลที่ ๕ พระกริ่งที่โด่งดังในอดีตล้วนแต่เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต ในวงการพระเครื่องรางที่นับถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่องปัจจุบัน มีราคาซื้อขายสูงที่สุดในประเภทพระโลหะ
พุทธลักษณะของพระกริ่งปวเรศ เป็นรูปหล่อลอยองค์ ประทับนั่งสมาธิเพชร (วัชรสานะ) เหนืออาสนะบัลลังค์ บัวคว่ำ บัวหงาย ๒ ชั้น ชั้นละ ๗ กลีบ ฐานด้านหลัง ยื่นเล็กน้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ชั้นละ ๑ กลีบ พระเกศแบบตุ้มหรือบัวตูม ฐานพระเมาลี ด้านหน้า ปรากฏรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระศกแบบตอก “รอยตุ๊ดตู่”ปราศจากไรพระศก ใต้ฐานไม่ปะก้น หรือรอยเจาะก้นสำหรับบรรจุลูกกริ่งเหมือนทั่วๆ ไป แต่กว้านก้นลึก และกว้าง (กว้าง ๑ ซม. ยาว ๑.๖ ซม.)
ประวัติการสร้างพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศ สร้างครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ โดยสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ทรงสร้างเพื่อทดแทนพระกริ่งปวเรศทองคำที่หายไป เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ ในพระราชพิธีมุรธาภิเษกและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ (ร.๔) และขณะรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๙ พระชันษา เพื่อใช้ในพระราชพิธีเจริญน้ำพระพุทธมนต์ พิธีรับพระสุพรรณบัฏ (พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๕๐-๕๑) จำนวนการสร้าง ๓ องค์
การสร้างครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศ หน้า ๑๔๗ บันทึกไว้ว่า สร้างเพื่อถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระราชพิธีที่รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชเป็นสามเณร เป็นที่ระลึกถวายรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จำนวนการสร้าง ๙ องค์ ในปีนั้นกำลังของปีตกเลข ๙ พอดี
การสร้างครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ ในพระราชนิพนธ์พงศาวดาร ร.๕ หน้า ๓๐-๓๔, หน้า ๔๗, และพระราชพิธีโสกันต์ หน้า ๕๔-๕๕ บันทึกไว้ว่าสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๑๕ พระชันษา ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยมีผู้สำเร็จราชการเจ้าพระยาสีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) กริ่งรุ่นนี้ไม่มีเส้นพระศก และไม่มีส่วนผสมของเนื้อพระพุทธชินสีห์แบบครั้งที่ ๑ และ ๒ เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ มี ๓ ชนิด เนื้อสัมฤทธิ์เดช ออกสีแดงแก่ อ่อน, เนื้อสัมฤทธิ์โชติ ออกสีขาว หรือขาวจัด เนื้อสัมฤทธิ์เดช ออกสีเหลือง ส่วนจำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
การสร้างครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๑๑-พ.ศ. ๒๔๑๖ คณะกรรมการเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๑๖ หน้า ๑๒๑-๑๒๙ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และบรมราชาภิเษกครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ กริ่งรุ่นนี้ไม่มีการบรรจุลูกกริ่งไว้ กรมพระยาปวเรศ ทรงออกแบบเป็น ๒ แบบ หล่อในคราวเดียวกัน เพื่อทรงถวายในพระราชพิธีทรงผนวช และบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติ สันนิษฐานว่าเป็นกริ่งในเก๋งจีนอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ส่วนจำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
การสร้างครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ ในบันทึก สงครามปราบฮ่อสมัย ร.๕ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี ประวัติศาสตร์ไทย ปี ๒๕๐๓ ระบุว่า เรียกกริ่งปราบฮ่อ ร.๕ กรมพระยาปวเรศไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ ช่างสิบหมู่และโหรหลวงเป็นผู้ออกแบบ ลักษณะ “ปราบฮ่อ” อยู่บนฐานชั้น ๒ ติดกับพระโสณี (ตะโพก) ด้านหลัง “ร.๕” ตัว “ร” หล่อติดระหว่างกลางฐาน ๑ และ ๒ ด้านซ้ายของกลีบบัวหลัง เลข “๕” หล่อติดแนวเดียวกันทางด้านขวาของกลีบบัวหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
ส่วนการสร้างครั้งที่ ๖ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ในบรรณานุกรมหอสมุดแห่งชาติ มหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๕ วรรค ๒ บันทึกไว้ว่า กรมพระยาปวเรศไม่ได้ออกแบบ จัดสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษก ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ออกแบบโดยช่างสิบหมู่ บรมวงศานุวงศ์ และไวยาวัชกรวัดบวรนิเวศ สมัยนั้นจึงมีหลายแบบพิมพ์ทรง บางแบบใช้แม่พิมพ์เก่าก็มี โลหะก็ไม่เหมือนกัน บางองค์ก็แบบพิมพ์ใหม่ รวมทั้งที่อยู่ในขันน้ำมนต์ และยอดไม้เท้าของพระองค์ท่าน จำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้ (กริ่งรุ่นนี้วัดสุทัศน์ได้จัดสร้างขึ้นในปี ๒๔๔๓ เรียก “พระกริ่งคู่แฝด” จะต่างกันตรงอุดกริ่ง)
ขอบคุณภาพจากพระครูสังฆวิจารณ์ (พิทยา) ญาณิกว์โส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม คณะ ๒ กทม.
พระกริ่งปวเรศองค์วัดบวร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เคยมีดำรัสถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศนี้ว่า ตำราการสร้างพระกริ่งและตำรามงคลโลหะ ที่มีมาแต่โบราณสืบค้นได้ถึงสมัยสมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว
ในขณะที่ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ หรือ อ.ตรียัมปวาย อาจารย์ตรียัมปวาย ผู้ขนานนาม "พระเครื่องชุดเบญจภาคี" ได้กล่าวถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศไว้ดังนี้ "พระกริ่งปวเรศที่คนโบราณเขานิยมกันนั้น มีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ เมื่อขัดเนื้อในจะเป็นสีจำปาเทศ และเมื่อทิ้งไว้ถูกกับอากาศจะกลับดำอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่นานพระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งเนื้อนวะกลับดำ ถ้าผิวของเนื้อโดนสัมผัสจะเห็นเนื้อในเป็นสีนาค หรือ อ.นิรันตร์ แดงวิจิตร (อ.หนู อดีตนักแต่งพระกริ่งชื่อดังชั้นครู) จะเรียวกว่า "สีมันเทศ"
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แม้จะมีการประมาณว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ จะสร้างพระกริ่งปวเรศประมาณ ๓๐ องค์ แต่กลับมีผู้ครอบครองพระกริ่งปวเรศที่ยืนยันว่าเป็นของแท้มากถึงหลักร้อยองค์ ทั้งนี้ หากไล่เรียงจำนวนผู้ครอบครองพระกริ่งปวเรศในปัจจุบันมีกว่ากว่า ๑๐๐ องค์ แต่ละคนล้วนคุยว่าเป็นของแท้ทุกองค์
การเช่าซื้อพระกริ่งปวเรศถือว่าเป็นตำนานเพราะนานๆ ครั้งจะมีการซื้อกันสักครั้ง คือ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน มีเด็กนำมาขายในตลาดพระเครื่องท่านพระจันทร์ แต่ปรากฏว่าขายผิดราคา ภายหลังจึงมีการแจ้งความว่าพระถูกขโมยมาจึงมีการไถ่คืน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วยเหตุที่พระนี้มีราคาแพงอยู่ในหลักสิบล้านบาท ทุกครั้งที่มีการเช่าซื้อเปลี่ยนมือ การเช่าซื้อพระกริ่งปวเรศ ส่วนใหญ่จะมีการพิสูจน์ด้วยการไปวางบนบล็อกดินเผาด้านหลัง ที่อยู่ในวัดบวรว่าพอดีกับเบ้าหรือไม่ รวมทั้งเปรียบเทียบกับองค์จริงของวัดทุกครั้งไป
นอกจากนี้แล้วเรื่องการออกใบรับรองพระกริ่งปวเรศนั้น เป็นเรื่องที่สร้างความปวดหัวให้สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยอยู่ไม่น้อย เพราะพระแต่ละองค์ล้วนอยู่ในความครอบครองของผู้หลักผู้ใหญ่ และมหาเศรษฐีระดับร้อยล้านทั้งสิ้น ถ้าเกิดว่าผู้ครอบครองพระพร้อมใจกันไปให้สมาคมออกใบรับรองไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง