พระเครื่อง

"หลวงพี่ต๊ะ" 
พระผู้นำศรัทธาสู่คนชายขอบ

"หลวงพี่ต๊ะ" พระผู้นำศรัทธาสู่คนชายขอบ

10 มิ.ย. 2552

คนชายขอบแบบที่อยู่ตามชายแดนระหว่างประเทศ นั้น ส่วนใหญ่มักถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรในระดับพื้นฐานที่สุด เช่น ไม่มีที่ทำกิน ถูกเอาเปรียบขูดรีดแรงงาน และถูกใช้เป็นกันชนในเขตชายแดนที่มีปัญหาข้อพิพาท เป็นต้น

  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น หลากหลายความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานไปสู่คนชายขอบ มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเกษตร การแพทย์ สาธารณสุข สาธารณูปโภค รวมทั้งทางพุทธศาสนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 และพระรูปหนึ่ง ที่มีบทบาทนำแสงพระธรรม รวมทั้งนำศรัทธาจากคนภาคกลาง สู่คนชายขอบ ที่ วัดป่าเก๊ระคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก คือ พระธีรพล จารวณฺโณ หรือ หลวงพี่ต๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดเกษมสุริยัมนาจ ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม

 “ที่วัดเกษมสุริยัมนาจ ศาสนสถานทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว  แต่ที่วัดป่าเก๊ระคี ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ภาพความเป็นอยู่ของที่นั่นคงอธิบายถึงความยากลำบากให้เห็นเป็นภาพคงบรรยายไม่ได้หมด เอาเป็นว่า หมาที่วัดเกษมสุริยัมนาจ  รวมทั้งหมาที่วัดอื่นๆ กินดีกว่าพระที่วัดป่าเก๊ระคี พระฉันข้าวคลุกน้ำปลา อาจเป็นเรื่องตลกสำหรับพระที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะวัดในภาคกลาง แต่เป็นเรื่องธรรมดาของพระที่นั่น”

 นี่คือสิ่งที่หลวงพี่ต๊ะ ได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง โดยเมื่อพรรษาที่แล้ว ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเก๊ระคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งมี พระอาจารย์ปรีดา ปภาธโร  เป็นเจ้าอาวาส

 ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่ต๊ะจึงเป็นผู้นำรวบรวมความช่วยเหลือจากพระสหธรรมิก และคณะศรัทธาจากญาติโยมไปร่วมกันสร้างวัดป่าเก๊ระคี

 หลวงพี่ต๊ะ บอกว่า วัดป่าเก๊ระคีเป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งนับถือผี และมีผีเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งพระอาจารย์ปรีดา พระสายปฏิบัติได้เดินธุดงค์จากทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ไปถึง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เพื่อหาสถานที่สร้างวัดตามในนิมิต โดยใช้เวลานานถึง ๓ ปี จึงพบสถานที่ดังกล่าวตามนิมิต
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านหลายคนก็ฝันอีกเช่นกันว่า “ถ้าพระธุดงค์ผ่านมาให้นิมนต์ไว้”

 เมื่อพระอาจารย์ปรีดาธุดงค์ไปถึง ชาวบ้านก็ช่วยกันนิมนต์ให้อยู่ในหมู่บ้าน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๑ จากนั้นพระอาจารย์ปรีดา ก็เริ่มสร้างเพิงที่พักอย่างง่ายๆ

 พระอาจารย์ปรีดา ได้เผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธเจ้า  โดยได้สร้างวัฒนธรรมการเข้าวัด สวดมนต์ฟังธรรมให้ชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้ได้เปลี่ยนคติความเชื่อจากนับถือผี ให้มานับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดียิ่ง
ทุกๆ วัน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ชาวบ้านจะมาร่วมทำวัตรสวดมนต์ แต่ถ้าเป็นวันพระ ทุกบ้านจะมาร่วมกันทำบุญใส่บาตร สวดมนต์ รวมทั้งปฏิบัติธรรม จากนั้นก็แยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจของตนเอง ที่อยู่รักษาศีลปฏิบัติธรรมที่วัดก็มีจำนวนมาก

 ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่เคยนับถือศาสนาอื่น ซึ่งมีทุนมากกว่า ก็เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระอาจารย์ปรีดานำไปเผยแผ่นั้น ไม่ได้สอนให้เชื่อแบบงมงาย ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากตัวเอง ไม่อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า หรือเทวดาที่ไหน

 อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่พระอาจารย์ปรีดาเป็นพระสหธรรมิก ท่านได้มาเล่าถึงความยากลำบากในการสร้างวัดว่า การสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพระธุดงค์กลดอันเดียวก็อยู่ได้อย่างสบาย การสร้างศาลา โบสถ์ ไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะวัดตั้งอยู่บนภูเขา เฉพาะค่าเดินทาง หากนำปัจจัยไทยทาน ข้าวสารอาหารแห้ง จากความช่วยเหลือของพระสหธรรมิกไปช่วยเหลือ เฉพาะค่าเดินทางด้วยรถกระบะ ประมาณไปกลับครั้งละ ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าเป็นการขนหิน ปูน และทราย  ภาคกลางขนด้วยรถบรรทุกหกล้อ ราคาไม่กี่พันบาท แต่ที่นั่นเที่ยวละเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท

 ในกรณีสร้างโบสถ์ ที่รับเป็นเจ้าภาพจัดสร้าง โดยใช้งบประมาณเพียง ๕ ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบไปปัจจัย ๕ ล้านบาท วัดในภาคกลางอาจจะสร้างได้เพียงแค่ซุ้มประตูเข้าวัด หรือห้องน้ำห้องส้วมได้เพียง ๒-๓ ห้องเท่านั้น แต่ปัจจัยจำนวนนี้ สามารถนำสร้างโบสถ์ได้หนึ่งหลังเลยทีเดียว โดยก่อสร้างไปกว่า ๕๐% แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างหาปัจจัยมุงกระเบื้องจำนวนประมาณ ๒๕,๐๐๐ แผ่น ราคาแผ่นละ ๑๐ บาท

 “ในแต่ละปี จะนำคณะศรัทธาจาก กรุงเทพฯ นครปฐม และกาญจนบุรี ไปร่วมทำบุญทอดผ้าป่า นำเสื้อผ้าอาหารแห้งไปแจกชาวบ้านใกล้ๆ วัด ไม่ต่ำกว่าปีละ ๓ ครั้ง มากหรือน้อยตามศรัทธา อย่างกับช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ได้นำผ้าห่มกันหนาวไปแจกกว่า ๑,๐๐๐ ผืน และเสื้อกันหนาวอีกหลายร้อยตัว ซึ่งต้องอนุโมทนาบุญกับญาติโยมที่ได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของพระและคนที่นั่น ส่งความช่วยเหลือไปอย่างต่อเนื่อง”  หลวงพี่ต๊ะกล่าว
 สำหรับวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างวัดป่าเก๊ระคี นั้น  หลวงพี่ต๊ะ บอกว่า จุดประสงค์หลักซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แรก คือ เพื่อเปลี่ยนวิถีจากนับถือผีมานับถือพระพุทธศาสนา

 ส่วนวัตถุประสงค์อื่นๆ คือ ๑.เพื่อสร้างความสามัคคี ของชาวไทยบริเวณชายแดนตะวันตก ๒.เพื่อเพิ่มความศรัทธาปสาทะ คือ ความเชื่อและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ๓.เพื่อเป็นพุทธานุสติแก่ผู้ไปกราบไหว้บูชา ผู้บูชาย่อมมีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ๔.เพื่อความมั่นคงของจิตใจ ๕.เป็นความดี เป็นบารมี ที่ควรอบรมบ่มนิสัยให้เกิดขึ้น ๖.เพื่อความสุขอันไพบูลย์ ในปัจจุบันและอนาคต และ ๗.เพื่อในหลวง เพื่อชาติ เพื่อพระพุทธศาสนา

 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หลวงพี่ต๊ะได้นำคณะศรัทธาหล่อพระประธานประจำอุโบสถในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และในวันอาทิตย์ที่ ๑๒-๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ นี้ ทางวัดเกษมสุริยัมนาจ ได้จัดพิธีเททองหล่อพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร โดยจะอัญเชิญไปประดิษฐานช่วงปลายปี ในงานบุญทอดกฐิน (วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ซึ่งตรงกับ วันลอยกระทง)
ทั้งนี้ ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธมหามงคล ๓ ยุค ๓ สมัย หน้าตัก ๙ นิ้ว ประกอบด้วย หลวงพ่อแสนมงคล หลวงพ่ออู่ทองอุดมทรัพย์ และหลวงพ่อแสนสุข ให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชา เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนการสร้างอุโบสถ และศาสนสถานอื่นๆ ของวัดป่าเก๊ระคี

 พุทศาสนิกรวมทำบุญได้ที่ วัดเกษมสุริยัมนาจ ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม โทร.๐๘-๕๒๘๙-๔๒๖๓