พระเครื่อง

ชาวบ้านกรุงเก่าร้องวิหารเก่าสมัยร.1ถูกทุบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวบ้านเมืองกรุงเก่า ร้องให้กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบการรื้อวิหารเก่าสมัยร.1เผยเคยมีการสำรวจแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้านเจ้าคณะอำเภอรับเสียดายแต่ซ่อมไม่ได้จำเป็นต้องทุบ

           
          วันที่ 23 มิ.ย.56 เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนจากประชาชนใน ต.ผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า ขอให้ตรวจสอบการทุบทำลายโบราณสถานภายใน วัดชีโพน อ. ผักไห่ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ตามเลขทะเบียน  1408-00-0003 ไว้เรียบร้อยแล้วโดยในขณะนี้ทางวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ไม่แน่ชัด) ได้เข้าทำการทุบทำลายวิหารเก่าของวัด ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะที่งดงามไปแล้วบางส่วน แต่ยังเหลือบางส่วนของวิหารอยู่ เหลือซุ้มหน้าต่าง 6 บาน ซุ้มประตูด้านหน้ากับหลังวิหาร จากการสอบถามเบื้องต้นทางวัดชีโพนแจ้งว่าได้งบมาให้ทำการบูรณะโบสถ์โบราณของวัด แต่การกระทำดังกล่าวขัดแย้งกับหลักการบูรณะโบราณสถานอย่างรุนแรง ซึ่งจากสภาพที่เห็นนั้นเป็นการจงใจที่จะทุบทำลายโบราณสถานของชาติมากกว่าตั้งใจที่จะบูรณะอย่างแท้จริงจึงอยากให้กรมศิลปากรช่วยตรวจสอบด้วย
 
          หลังรับการร้องเรียนแล้วจึงได้เดินทางไปตรวจสอบที่วัดชีโพน ม.1 ต.ผักไห่ อ.ผักไห่ ซึ่งอยู่เลยตัวตลาดไปประมาณ 2 ก.ม. พบว่าบริเวณวิหารเก่าภายในวัดมีคนงานประมาณ 20 คนกำลังช่วยกันทุบผนังวิหารและขนเศษซากอิฐนำไปทิ้งใกล้กันนั้น และมีไม้เก่าที่มีลวดลายกองอยู่บริเวณหน้าวิหาร ใกล้กันนั้นยังมีการทุบและรื้อพระอุโบสถด้วย โดยพบว่ามีไม้ซึ่งมีลวดลายสวยงามแบบโบราณกองอยู่จำนวนมากเช่นกัน
           
          นายสุรเชษฐ์ พูนสำราญ อายุ 33 ปี บ้านอยู่ 57 ม. 3 ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ผู้รับเหมาเปิดเผยว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากพระพระสิทธิพัฒโนดม เจ้าคณะอำเภอผักไห่ เจ้าอาวาสวัดตูม ในการบูรณะวิหารและพระอุโบสถ โดยพระอุโบสถทำการทุบกะเทาะพื้น ฝาผนัง ฉาบใหม่ ซ่อมช่อฟ้าใบระกา เปลี่ยนกระเบื้อง ซ่อมระแนง แปร โดยคงรูปแบบเดิม ซึ่งโบสถ์เคยมีการซ่อมมาแล้ว ครั้งนี้ใช้งบประมาณ 5.3 ล้านบาท ส่วนวิหารเก่า ไม่สามารถซ่อมได้ เนื่องจากไม่เคยซ่อมเลย จำเป็นต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด โดยให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับของเดิม เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 1 มิ.ย.ปีนี้และจะให้เสร็จภายใน 10 เดือน รวมเงินซ่อมแซมครั้งนี้ 11 ล้านเศษทางวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเรื่องที่เป็นโบราณสถานหรือไม่ตนไม่ทราบ โดยเฉพาะวิหารยอมรับว่าเก่าจริง ซึ่งหากสร้างใหม่ก็พยายามให้เหมือนของเดิมแต่ก็คงไม่ร้อยเปอร์เซ็น
           
          พระสิทธิพัฒโนดม เจ้าคณะอำเภอผักไห่ เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้พระครูประจักษ์ สุตะคุณ อายุ 89 ปี เพิ่งมรณภาพไปเมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้รองเจ้าอาวาสวัดลาดชะโด อ.ผักไห่ไปดูแล โดยก่อนที่เจ้าอาวาสเก่าจะมรณะก็เคยคุยกันเรื่องความทรุดโทรมของวิหารและโบสถ์ แต่ไม่มีงบประมาณดูแล จนเมื่อมรณะภาพตนจึงได้หาทุนสร้างโดยจะทอดผ้าป่า ในการสร้างวิหารขึ้นใหม่ ในส่วนของวิหารเห็นว่าเป็นวิหารเก่าจริงๆ แต่ไม่รู้จะซ่อมยังไง จำเป็นต้องรื้อถอน และการดำเนินการทันทีก็เห็นว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางศิลปากรแต่อย่างใด เมื่อสร้างเสร็จก็จะมีถาวรศาสนสถานยืนยาวอีกนาน
           
          ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ยืนยันว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน แต่เคยมีการสำรวจและเก็บข้อมูลเอาไว้เมื่อประมาณวันที่ 6 พ.ย.50 โดยบันทึกรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมส่วนต่างๆ เอาไว้ 25 ส่วนเช่นเจดีย์ หน้าบันโบสถ์ ลวดลาย อย่างไรก็ตามเมื่อมีสภาพชำรุดขนาดนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของทางวัด แต่ก็ควรถามความเห็นชาวบ้านก่อนในการหาวิธีที่จะอนุรักษ์ความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรมเอาไว้
           
          ในส่วนของข้อมูลศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าวัดชีโพน ตั้งอยู่เลขที่ 12หมู่ 2 ตำบลผักไห่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งของวัดเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 50  ตารางวา อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดมีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ 7 หลัง วัดชีโพนสร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อใดไม่อาจทราบได้ แต่ประมาณว่าคงสร้างขึ้นราว พ.ศ.2330 ตรงกับรัชกาลที่ 1 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2340 ความเป็นมาของวัดชีโพนจากพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสต้นตามลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ.2451 เขียนว่าแต่ครั้นเมื่อไป วัดชีโพน ซึ่งเรียกว่า วัดชีตาเห็น ที่หลวงญาณสร้าง (หลวงชลญาณ วิจิต) สมบุญไปสร้างวิหารขึ้นไว้ได้ช่วยการปิดทองเขา เขาจึงเชิญไปให้อนุโมทนาได้พบพระครูอ่ำเจ้าแขวงเสนาใหญ่
 
          ต่อมาได้พระราชทานกระเบื้องหินอ่อนปูพื้นพระอุโบสถ พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 5 พระราชทานกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาวิหารแก่วัดชีโพน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่านามวัดชีตาเห็นไม่เหมาะสม ทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า วัดชีโพน เพราะคำว่าโพน โพล้นเป็นคำผวน แปลว่าเห็นไกลมาจนปัจจุบันนี้ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2พ.ศ.2485-2486 กรุงเทพฯ ถูกกองฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี คณะครูนักเรียนโรงเรียนราชินีได้อพยพนักเรียนมาทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนวัดชีโพนแห่งนี้ ในสมัยผู้สำเร็จราชกาลแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ผู้ร้ายกำเริบก่อคดีอุกจกรรจ์มากมายจึงปราบปรามอย่างเด็ดขาด ใช้ขวานตัดคอ ผ่าอกและตัดเป็นสองท่อน ผู้ร้ายคือ อ้ายโพ หูแหว่ง กับอ้ายชื้น ถูกประหารที่หัวรอวัดชีโพนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2414

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ