พระเครื่อง

'เครื่องราง'กับ'ปีชง'ความเชื่อที่ไม่ควรมองข้าม

'เครื่องราง'กับ'ปีชง'ความเชื่อที่ไม่ควรมองข้าม

13 มิ.ย. 2556

'เครื่องราง'กับ'ปีชง'ความเชื่อที่ไม่ควรมองข้าม : น.นที มีเรื่องเล่า


              คำว่า “ชง” เป็นภาษาจีน หมายถึง ปะทะกัน หรือเป็นศัตรูกัน หรือถ้าจะพูดให้เบาหน่อย ก็คือ ไม่ถูกโฉลกกัน หรือไม่สมพงศ์กัน ซึ่งเดิมความเชื่อในเรื่อง ปีชง เป็นเรื่องที่อยู่ในแวดวงของชาวจีน แต่ปัจจุบันนี้ ความเชื่อนี้ได้ขยายวงกว้าง ครอบคลุมมาถึงชาวไทยด้วย และดูท่าทีว่า นับวันจะแรงขึ้นเรื่อยๆ

              ความเชื่อเรื่องนี้ ชาวจีนจะให้ความสำคัญมาก เสมอเหมือนกับความเชื่ออีก ๔ อย่าง อันได้แก่ โชคชะตา การศึกษา คุณธรรม และ ฮวงจุ้ย ที่ถือกันว่า เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต ในอันที่จะยังความสุขความเจริญให้ลูกหลานของตนในอนาคต

              ความสำคัญในเรื่องของ ปีชง เช่น หากลูกหลานจะแต่งงานกัน หลังจากดูในเรื่องต่างๆ จนเป็นที่พอใจแล้ว ก็จะมาดูในเรื่องของ ปีเกิด

              ถ้าปีเกิดของคู่บ่าวสาวเกิด “ชง” กันก็จบแค่นั้น ยากนักที่จะได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน

              ขณะเดียวกัน พิธีศพของชาวจีน เมื่อถึงวันที่จะนำศพไปฝังยังสุสาน จะมีซินแสขึ้นป้ายบอกปีที่ชงกับคนตาย คนที่ชงกันก็จะไม่ไปส่งศพ

              ในส่วนของลูกหลานที่จำเป็นต้องไปร่วมพิธี ตอนจะยกศพลงหลุม ต้องไปอยู่ยังที่ที่ห่างไกล และห้ามมองมาทางนั้น

              สำหรับ เครื่องราง ที่ชงกับปีเกิดที่เป็นรูปสัตว์ใน ๑๒ ปีเกิด มี ๔ ชนิด คือ วัว เสือ แพะ และ ลิง

              ส่วนเครื่องรางอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสัตว์ปีเกิด เช่น หมากทุย เบี้ยแก้ ตะกรุด ลูกอม ลูกสะกด ผ้ายันต์ นางกวัก ปลาตะเพียน ฯลฯ ไม่อยู่ในข่ายนี้

              เครื่องราง ที่มีรูปตรงกับปีเกิด อันดับแรก คือ วัว (ปีฉลู) ที่โด่งดังรู้จักกันทั่วไป คือ วัวธนู ของ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก ควบคู่กับเครื่องราง “เทพราหู” ที่เลื่องลือเป็นที่ยอมรับนับถือในวงกว้าง

              “วัวธนู” ของหลวงพ่อน้อย ภายในเป็นโครงลวดทองแดง แล้วหุ้มด้วยครั่งพุทรา วัสดุอาถรรพณ์ที่กันแก้คุณไสย และสิ่งอัปมงคลได้ ๑๐ ทิศ มี ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ไว้เฝ้าบ้าน ขนาดเล็กไว้พกติดตัว ป้องกันสรรพภัย และให้ลาภผล มีทั้งที่ปิดทองและไม่ปิดทอง และมีทั้งที่ภายในบรรจุกระดาษสาลงยันต์ และไม่มี
เครื่องราง ที่มีรูปตรงกับปีเกิด อันดับ ๒ คือ เสือ (ปีขาล) ที่โด่งดังมากมีสำนักเดียว คือ “เสือ” ของ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน จ.สมุทรปราการ แต่เดิมแกะจาก เขี้ยวหมูตัน ซึ่งเป็นเขี้ยวของ พญาหมูป่า เป็นของทนสิทธิ์ที่มีพลังแรงฤทธิ์มาก ส่งผลให้เกิดพลังอำนาจแก่พญาหมูป่า เป็นเขี้ยวที่หายากมาก จนต่อมาท่านต้องหันมาใช้ เขี้ยวเสือ แกะแทน แต่ต้องเป็น เขี้ยวเสือกลวง ซึ่งเป็นเขี้ยวพิเศษ เพราะโดยปกติแล้ว...เขี้ยวหมูจะกลวง ส่วนเขี้ยวเสือจะตัน

              เครื่องราง ที่มีรูปตรงกับปีเกิด อันดับ ๓ คือ แพะ (ปีมะแม) ที่โด่งดังมากมีสำนักเดียวเช่นกัน คือ “แพะ” ของ หลวงพ่ออ่ำ หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จ.ระยอง ซึ่งแกะจาก “เขาควายเผือก” ที่ถูกฟ้าผ่าตาย ตามปกติชาวบ้านจะเลี้ยงวัวควายตามทุ่งนาโล่งแจ้ง เมื่อฝนตกหนักจึงมักจะถูกฟ้าผ่าตายเสมอ โบราณาจารย์ถือว่า เป็นของ “ทนสิทธิ์” เพราะได้รับพลังจากฟ้า กันแก้ได้สารพัด

              สมัยก่อน หลวงพ่ออ่ำ จะแจก “แพะ” แก่ลูกศิษย์ที่เกิดวันจันทร์ ปีแพะ ท่านว่าเป็น “แพะเศรษฐี” เพื่อให้ใช้เป็นของคู่กัน
“แพะ” บางตัวจะเห็นเครื่องเพศสั้นจิ่ม ซึ่งนิยมกว่าตัวที่ไม่มีเครื่องเพศ

              เครื่องราง ที่มีรูปตรงกับปีเกิด อันดับ ๔ คือ ลิง (ปีวอก) หรือ หนุมาน ที่โด่งสุด คือ หนุมานขุนกระบี่ ของ หลวงพ่อสุ่น วัดเกาะศาลากุน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มี ๒ แบบ คือ แบบหน้าโขน ที่มีลวดลายงดงามอลังการมาก และ แบบหน้ากระบี่ ที่ดูเรียบง่าย คลาสสิก มีทั้งชนิดที่แกะมาจากเนื้อไม้ และเนื้องาช้าง
เนื้อไม้ที่นำมาแกะ “หนุมาน” จะต้องเป็น ไม้รัก ที่หลวงพ่อปลูกเอง รดนํ้าเอง และนํ้าที่ใช้รดต้นรักจะต้องเป็นนํ้ามนต์ที่ท่านปลุกเสกมาแล้ว จึงศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งตัว
ส่วน “หนุมาน” ที่เป็นเนื้องาแกะ จะต้องเป็น งากำจัด หรือ งากำจาย ซึ่งเป็นงาของช้างตกมัน

              เครื่องรางทั้งหมดนี้เป็นของลํ้าค่า เป็นที่ต้องการกันมากของนักสะสมทุกคน ล้วนสร้างจากวัตถุอาถรรพ์ และของ “ทนสิทธิ์” ที่มีดีอยู่ในตัว ใช้ได้โดยไม่ต้องปลุกเสก และไม่มีการเสื่อม เมื่อหลวงพ่อปลุกเสกกำกับอีกชั้นหนึ่ง จึงดีรอบด้าน เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม เครื่องรางที่ว่านี้จะให้คุณก็แต่เฉพาะคนที่ไม่ได้ “ชง” กับเครื่องรางชนิดนั้น แต่กับคนที่ “ชง” กันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

              เมื่อเขียนถึงตรงนี้ เชื่อว่าคงมีหลายท่านที่มีความคิดเห็นแย้งกับผู้เขียนว่า เครื่องราง ดังกล่าวเป็นวัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างขึ้นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และปลุกเสกด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เป็นสิ่งที่ดีๆ แก่ลูกศิษย์ แล้วจะไม่ดี มีผลในทางลบได้อย่างไร ? เรื่องนี้ ผู้เขียนเองก็อธิบายไม่ได้ แต่มีเรื่องหนึ่งที่สามารถใช้เป็นเหตุผลอธิบายได้คือ มันเป็นเรื่องจริงเช่น ความเชื่อบางอย่าง คนรุ่นเก่าจะเคร่งครัดและให้ความเคารพกันมาก คนเกิดปีใดจะไม่ฆ่าสัตว์ปีเกิดของตัวเอง เพราะเป็นการทอนอายุ

              อีกเรื่องหนึ่ง คือ คนที่เป็น คางทูม คนสมัยก่อนจะใช้หมึกจีน เขียนคำว่า “เสือ” เป็นภาษาจีนตรงคางทูม คางทูมเป็นอาการของวัว โดยทั่วไป วัวมักจะกลัวเสือ เมื่อเขียนคำว่า “เสือ” ที่คางทูมจะก็หาย ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเคยช่วยเขียนให้คนเป็นคางทูมมาแล้ว ได้ผลทุกคน

              ส่วนวิธีที่จะดูว่า เราชงกับเครื่องรางใดหรือไม่ ให้นับต่อจากปีเกิดของเราไป ๖ ปี ถ้าตรงกับเครื่องรางใด ก็ชงกับเครื่องรางนั้น

              ผู้เขียนขอสรุป ปีชง ทั้ง ๑๒ ปี ให้เห็นกันชัดๆ ดังนี้

              ๑.ปีชวด ชงกับ ปีมะเมีย

              ๒.ปีฉลู ชงกับ ปีมะแม

              ๓.ปีขาล ชงกับ ปีวอก

              ๔.ปีเถาะ ชงกับ ปีระกา

              ๕.ปีมะโรง ชงกับ ปีจอ

              ๖.ปีมะเส็ง ชงกับ ปีกุน

              ๗.ปีมะเมีย ชงกับ ปีชวด

              ๘.ปีมะแม ชงกับ ปีฉลู

              ๙.ปีวอก ชงกับ ปีขาล

              ๑๐.ปีระกา ชงกับ ปีเถาะ

              ๑๑.ปีจอ ชงกับ ปีมะโรง

              ๑๒.ปีกุน ชงกับ ปีมะเส็ง

              ในส่วนของเครื่องราง คือ คนเกิดปีฉลู (วัว) ชงกับ ปีมะแม (แพะ) ชงกับ เครื่องรางแพะ

              คนเกิดปีขาล (เสือ) ชงกับ ปีวอก (ลิง) ชงกับเครื่องรางหนุมาน ลิง และองคต

              คนเกิดปีมะแม (แพะ) ชงกับ ปีฉลู (วัว) ชงกับ เครื่องรางวัวธนู

              คนเกิดปีวอก (ลิง) ชงกับ ปีขาล (เสือ) ชงกับเครื่องราง เสือ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ เขี้ยวเสือ และเล็บเสือ

              สำหรับเครื่องรางในรูปลักษณ์ “ครุฑ” ซึ่งมีหลายสำนักสร้างและก็นิยมกันมาก เครื่องรางชนิดนี้ไม่เหมาะกับคนเกิดปีมะโรง (งูใหญ่) และมะเส็ง (งูเล็ก) เพราะ ครุฑ ชอบจับนาคและงูกินเป็นอาหาร

              ผู้เขียนมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง ๒ เรื่อง เรื่องแรกของ คุณชัยรัตน์ สีมาโรจน์ ซึ่งเกิดปีขาล ชงกับปีวอก เล่าว่า...ครั้งหนึ่งได้ “องคตนั่งเมือง” ของ หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ จ.สมุทรปราการ มาตัวหนึ่ง จึงนำมาพกติดตัว ปรากฏว่าเกิดความอึดอัด และมักจะเจ็บออดๆ แอดๆ อยู่เสมอ อารมณ์ก็ไม่ผ่องใส สอนหนังสือลูกศิษย์ก็ไม่สนุก เลยต้องนำไปเก็บ ไม่กล้าพกอีกเลย เพราะชงกับเครื่องรางชนิดนี้

              เรื่องที่ ๒ คุณธันวุธ รังรองอนุสรณ์ เกิดปีฉลู ซึ่งชงกับปีมะแม ได้เช่า “แพะหลวงพ่ออํ่า” วัดหนองกระบอก จากเพื่อนมาตัวหนึ่ง นำมาพกติดตัว ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน งานการที่ทำมักจะมีปัญหาเสมอ แต่ก็ยังพกอยู่ เพราะยังไม่รู้สาเหตุจนกระทั่งมีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาเห็นเข้า ท่านบอกว่า คุณเกิดปีฉลู แล้วพกแพะได้ยังไง มันชงกัน และนี่คือ “สายล่อฟ้าอย่างดี” ที่จะนำเอาเรื่องร้ายๆ มาให้ตลอดเวลา แล้วคุณจะเป็น “แพะรับบาป” คุณธันวุธ ก็เลยเอาไปขายคืน โดยยอมให้หักเงินไป
ในส่วนของผู้เขียน ก็มีอยู่เรื่องหนึ่ง ผู้เกิดปีมะเส็ง ซึ่งชงกับปีกุน เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ผู้เขียนเช่า “เขี้ยวหมูตัน” ของอาจารย์เฮง ไพรยวัล ลงอักขระเต็มไปทั้งเขี้ยว...พอได้มาก็ลองพกดูอยู่ ๗ วัน พกแล้วหงุดหงิด แบบหมูป่าเกเร จนไม่กล้าหยิบมาใช้อีกเลย จนถึงทุกวันนี้ เก็บไว้ให้ลูกหลานที่ไม่ชงกันใช้ต่อไป

              ทั้งหมดนี้ ท่านผู้อ่านจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ใจของใคร...แต่สำหรับผู้เขียน เชื่อเรื่องนี้มาก