
ขอพรเทพเจ้ากวนอูความศักดิ์สิทธิ์กว่า๑๐๐ปีที่ศาลเจ้า'หลอแหหล'
ขอพรเทพเจ้ากวนอูความศักดิ์สิทธิ์กว่า ๑๐๐ ปี ที่ศาลเจ้า'หลอแหล' : ท่องแดนธรรมเรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"เทพเจ้ากวนอู" เป็นเทพสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความกัตตัญญูรู้คุณ ความจงรักภักดี และความกล้าหาญ การเคารพสักการะเทพเจ้ากวนอูนั้น เป็นประเพณีที่นิยมทำกันมาหลายพันปีแล้ว ซึ่งคติความเชื่อก็แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งปกติไม่ได้มีข้อกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่ส่วนมากมักจะสักการะท่านด้วยน้ำชา สุรา รวมทั้งอาหารคาวหวานและผลไม้
ในลัทธิเต๋าอาจจะเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน แต่หากเป็นชาวพุทธนิกายมหายาน จะนิยมเซ่นไหว้ด้วยอาหารเจและผลไม้ และบางครั้งยังมีการเซ่นไหว้ม้าเซ็กเธาว์ของเทพเจ้ากวนอูด้วยพืชผัก และผลไม้ต่างๆ อีกด้วย
ปกติแล้วควรเคารพสักการะท่านทีกงก่อน แล้วจึงไหว้พระประธานในศาลเจ้านั้นๆ หากแต่ทำการกราบไหว้บูชาท่านที่บ้าน ก็ให้ทำได้เลย ให้เตรียมจัดของไหว้ทุกอย่างด้วยความประณีต มีจิตตั้งมั่น มีสมาธิ ไม้ต้องรีบร้อน เช็ดจามชามให้สะอาด ก่อนจะจุดธูป 3 ดอก และเทียนแดง จากนั้นกล่าวคำอวยพร และอย่าลืมเติมน้ำมันในตะเกียงด้วย รอจนธูปหมดดอกจึงลา นำกระดาษไหว้มาเผาให้ไหม้ แล้วเก็บของไหว้กลับมารับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทั้งนี้ทุกๆ วันที่ ๑๒ เดือน ๕ ของทุกปีตามปฏิทินจีน จะมีประเพณีกราบไหว้บูชาเทพเจ้ากวนอู เป็นประเพณที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ในอดีตกาล
อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม้ว่าจะมีศาลเจ้าจีน ซึ่งมักมีองค์เทพเจ้ากวนอูประดิษฐานอยู่ทุกแห่ง แต่ถ้าพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีเรื่องเล่าอันเหลือเชื่อต้องยกให้องค์เทพเจ้ากวนอู แห่งศาลเจ้าหลอแหล อายุกว่า ๑๐๐ ปี ที่ถนนเสรีไทย ซอย ๕๐ (ฝั่งตรงข้ามทางเข้าสวนสยาม) มีผู้ศรัทธาเดินทางมากกราบไหว้แล้วสมปรารถนา จึงทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่กล่าวขานอย่างแพร่หลายของผู้ที่เข้ามากราบไหว้
อ.วรพล อรลักษณิกิจ ซินแสประจำศาลเจ้ากวนอู หลอแหล บอกว่า พรยอดฮิตที่คนมาขอกับองค์กวนอูแห่งศาลเจ้าหล่อแหล คือ ขอเรื่องการทำมาค้าขายให้รุ่งเรือง และขอเรื่องสุขภาพให้ดี ในอดีตมีร่างทรงของท่านหนึ่งมาประทับองค์เพื่อรักษาโรค แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว
ส่วนที่มาขององค์กวนอูซึ่งแกะจากเนื้อไม้นั้น เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาท่านลอยมาตามน้ำ จากนั้นมีคนพายเรือไปพบเข้าจึงอัญเชิญท่านขึ้นมาประดิษฐาน โดยสร้างศาลเจ้าไม้ขนาดเล็กๆ ไว้ แต่ไม่นานก็มีคนมาขโยมไปจากศาลกว่า ๕๐ ปี แล้วอยู่ๆ ไม่ทราบด้วยเหตุผลอันใดมีคนอัญเชินท่านมาประดิษฐานไว้เช่นเดิม
"เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ในอดีตศาลแห่งนี้ไม่มีรั้ว ไม่มีคนเฝ้า ไม่ว่าใครจะนำของมาถวาย ไม่ปรากฏว่าของที่นำมาถวายหายไปจากศาลเลยสักชิ้นเดียว ทั้งๆ ที่ของหลายอย่างน่าจะหายแต่ก็ไม่หาย" อ.วรพล กล่าว
พร้อมกันนี้ อ.วรพล ยังอธิบายด้วยว่า กวนอูคือหนึ่งในเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่นักธุรกิจ ตลอดจนชาวจีนและคนไทยเชื้อชายจีนนั้นให้ความเคารพเป็นอย่างสูง การมีองค์กวนอูเอาไว้ไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องคุ้มครองเท่านั้น แต่ยังช่วยเอาชนะศัตรูภัยพาล อันตราย การแข่งขัน ยังรวมถึงช่วยให้สำเร็จในธุรกิจต่างๆ ได้อีกด้วย
"องค์กวนอูจะปกป้องคุ้มครองและดึงดูดความมั่งคั่งเข้ามาให้ เชื่อกันว่าในยามออกศึก กวนอูเป็นแม่ทัพผู้กล้าที่ทรงคุณธรรมและซื่อสัตย์ที่สุด ด้วยเหตุนี้องค์กวนอูจึงเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการเคารพในฐานะเทพอุปถัมภ์และเทพผู้ปกป้องคุ้มครองของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจ นักการเมือง และผู้นำทางธุรกิจ" อ.วรพล กล่าว
ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ศาลเจ้ากวนอูหลอแหล มีการจัดงาน "วันสำเร็จมรรคผลเทพเจ้ากวนอู" โดยในวันอาทิตย์ ที่ ๑๖ มิถุนายน จะมีขบวนแห่งองค์เทพเจ้าต่างๆ ไปคารวะศาลเจ้าใกล้เคียง โดยทุกๆ วันจะมีการสวดมนต์จีน ตลอดงานมีภาพยนตร์ และงิ้ว สมโภช (ชมฟรี) จึงขอเชิญทุกท่านร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามทั้งช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้ตนเองและครอบครัว
ทางเข้าของศาลเจ้ากวนอูหลอแหล อยู่ตรงกันข้ามกับทางเข้าสวนสยาม ถนนเสรีไทย ซอย ๕๐ ซึ่งเป็นซอยเดียวกับโรงเรียนคันนายาว สอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.๐๘-๐๙๙๕-๙๑๕๖
ตลาดน้ำหลอแหลในตำนาน
ตลาดหลอแหล ตั้งอยู่บริเวณปากคลอง "หลอแหล" เชื่อมกับคลองแสนแสบ ปัจจุบันก็คือบริเวณชุมชนหลังโรงเรียนคันนายาว ในอดีตตลาดน้ำแห่งนี้ถือเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง มีความรุ่งเรืองขนาดที่ว่ามีร้านขายทองคำ ๓ ร้าน มีสถานีบริการน้ำมันทางน้ำ ร้านขายของทุกชนิด รวมทั้งท่าเทียบเรือ ในที่สุดตลาดแห่งนี้ก็ปิดลง
ด้วยวิถีชีวิตของชาวคันนายาวส่วนใหญ่จะทำนาและอาศัยอยู่ริมคลอง เมื่อถึงเวลาว่างจากการทำนา มักจะพายเรือมาตามคลองหลอแหล เพื่อจับจ่ายซื้อของที่ตลาดหลอแหล ซึ่งสภาพทั่วไปของตลาดหลอแหลจะมีความคล้ายคลึงกับตลาดน้ำหลวงแพ่งในอดีต เมื่อมีการตัดถนนคนไม่นิยมสัญจรทางน้ำ ความเจริญรุ่งเรื่องค่อยๆ ลดลง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันตลาดแห่งนี้ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อกว่า ๕๐แล้วราวๆ พ.ศ.๒๕๐๐ ทุกวันนี้ยังพอมีสภาพของความเป็นตลาดอยู่บ้างแต่ไม่มีการค้าแล้ว สภาพของตลาดส่วนใหญ่ผุพังตามกาลเวลา
สำหรับที่มาของคำว่า "หลอแหล" มีที่มา ๒ แห่ง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้เรียกที่นี่ว่า “หลอแหล” แต่เป็นเสียงเรียกที่เพี้ยนมาจากคำว่า “รอนแรม” เพราะเนื่องจากในสมัยก่อนช่วงที่เกิดสงครามไทยกับเขมร ไทยส่งกองทัพไปปราบกบฏ ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้ และด้วยความที่มีระยะทางไกลมากนี้เองจึงทำให้กว่าจะเดินทางมาถึงก็รอนแรมใกล้ตะวันตกดินแล้ว
ส่วนอีกที่มาหนึ่งคือ "ร่อแร่" ซึ่งเป็นอาการที่เหนื่อยล้าของชาวเรือที่ต้องพาเรือฝ่าพงหญ้า ซึ่งในอดีตบริเวณปากคลองจะรกไปด้วยพงหญ้าที่ลอยมาตามน้ำ เรียกกันไปเรียกกันมาจนกลายเป็น "หลอแหล"