
ชั่วโมงเซียนอ.โสภณ-ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ยันต์มหามงคลสุดยอดพุทธคุณครอบจักรวาล
การลงยันต์น้ำมัน ของ พระครูชัยวงศ์วุฒิคุณ หรือ หลวงพ่อวงศ์ เจ้าคณะอำเภอพุนพิน และเจ้าอาวาสวัดประชาวงศาราม ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ปีหนึ่งๆ หลวงพ่อวงศ์จะลงยันต์น้ำมันให้เพียงครั้งเดียว และวันเดียวเท่านั้น คือ วันไหว้ครู ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีแรกข
ในปี ๒๕๕๒ นี้ตรงกับวันที่ ๓๐ เมษายน ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ โดยเริ่มไหว้ครูก่อน เวลาประมาณ ๐๗.๑๙ น. ทั้งนี้ฤกษ์ลงยันต์จะไม่เกินบ่ายโมง หากใครพลาดโอกาส ต้องรอปีถัดไป
พิธีกรรมลงยันต์ในวันไหว้ครู นั้น หลวงพ่อวงศ์ เริ่มจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย บูชาครูบาอาจารย์ และทวยเทพเทวา จากนั้นท่านจะอ่านโองการบวงสรวง และกล่าวนำบูชาครู ตามตำราของท่าน ให้พวกเรากล่าวตามอยู่นานพอสมควร
เสร็จพิธีบูชาครูแล้ว ท่านจะเตรียมโถแก้วใบหนึ่ง ภายในบรรจุ น้ำมันมนต์ ที่มีหัวว่านมงคล ด้านคงกระพัน สารพัดชนิด แช่อยู่เต็มโถ ออกมาตั้งพร้อมบริกรรมพระคาถา
หลังจากจะใช้น้ำว่านลูบบนแผ่นหลัง ท่านจะใช้เหล็กจารเขียนยันต์ให้ ส่วนจะเป็นยันต์ตัวใดนั้น ท่านดูให้เองว่า คนไหนควรลงยันต์อะไร
ส่วนค่าขัน บูชาครู นั้นไม่มี รวมทั้งไม่ต้องใช้เครื่องบูชาครูเหมือนสำนักอื่นๆ สุดแล้วแต่ใครจะศรัทธาทำบุญ สำหรับข้อปฏิบัติและข้อห้ามของคนลงยันต์ไปแล้วนั้น นอกจากต้องถือศีล ๕ แล้ว ข้อห้ามอย่างหนึ่ง คือ ห้ามกินมะเฟือง เพราะจะไปล้างว่านและคาถา
การลงสักยันต์ของหลวงพ่อวงศ์ จะไม่มีลูกศิษย์คอยเขียนยันต์ให้ก่อน แล้วไปให้ท่านเป่าทีหลัง เหมือนสำนักอื่นๆ
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ลูกศิษย์ที่ลงยันต์ จะเลือกหรือขอให้หลวงพ่อวงศ์ลงยันต์ตัวหนึ่งตัวใดไม่ได้ เท่าที่ทราบ ถ้าใครไปลงเป็นครั้งแรก ท่านจะลงยันต์ ท่านจะเขียนยันต์ พระเจ้า ๕ พระองค์ ในรูป ยันต์พุดซ้อน ซึ่งเป็นยันต์ที่โด่งดังมาก มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็น มหายันต์สูงสุดกว่ายันต์ทั้งปวง อุปเท่ห์ใช้ได้สารพัดประโยชน์
คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ หรือเรียกว่า "แม่ธาตุใหญ่" ซึ่งมีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวง รวมทั้งความเชื่อสืบต่อกันว่า "ผู้ใดที่ท่องหรือบริกรรมพระคาถาบทนี้ ด้วยจิตอันสงบและมั่นคงแล้ว จะมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล"
หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ "มีพุทธคุณครบทุกด้าน เช่น เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภัย มหาเสน่ห์ มหาอุด รวมทั้งไล่ภูตผี และใช้กันเสนียดจัญไรได้อีกด้วย"
ส่วนที่มาของ พระคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นการเขียนโดยใช้ ตัวย่อนามพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ คือ
นะ หมายถึง พระกุกกุสันโธ ใช้เขียนแทน ธาตุน้ำ ซึ่งเรียกว่า อาโปธาตุ มีกำลังเท่ากับ ๑๒
โม หมายถึง พระโกนาคม ใช้เขียนแทน ธาตุดิน ซึ่งเรียกว่า ปฐวีธาตุ มีกำลังเท่ากับ ๒๑
พุท หมายถึง พระกัสสป ใช้เขียนแทน ธาตุไฟ ซึ่งเรียกว่า เดโชธาตุ มีกำลังเท่ากับ ๖
ธา หมายถึง พระสมณะโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ใช้เขียนแทน ธาตุลม ซึ่งเรียกว่า วาโยธาตุ มีกำลังเท่ากับ ๗
ยะ หมายถึง พระศรีอารยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป หลัง พ.ศ.๕๐๐๐) ใช้เขียนแทน อากาศธาตุ มีกำลังเท่ากับ ๑๐
เมื่อรวมกำลังธาตุทั้ง ๕ ก็จะเป็นคุณพระพุทธเจ้า ๕๖ การลงอักขระเลขยันต์นี้ เท่าที่มีการบันทึกจำกันได้ ก็ในสมัยพระร่วงเจ้า ที่ขอมดำดินมาเพื่อจะทำร้ายพระร่วง ขณะนั้นพระร่วงกำลังกวาดลานวัดอยู่ ขอมดำดินก็โผล่ขึ้นมาถามหาพระร่วง พระร่วงเจ้าก็เลยใช้วาจาสิทธิ์สาปพวกขอมจนกลายเป็นหิน เป็นเวลาร่วมพันปี เพิ่งจะมีการทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณของขอมให้ไปเกิดใหม่
จะเห็นได้ว่า พวกขอมมีวิชาอาคม เนื้อตัวลงอักขระจนตัวดำ ใช้วิชาดำดิน เพื่อแฝงกายไม่ให้เป็นที่สังเกตในการเดินทาง ไม่ให้คนทั่วไปพบเห็น
ส่วนพระร่วงเจ้า ท่านเรียนวิชาอาคมแก่กล้า จนมีวาจาสิทธิ์
ในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เราจะรู้ถึงการศึกษาเล่าเรียนสรรพวิชาความรู้ต่างๆ ในสมัยนั้น ต้องไปเรียนที่วัด มีพระภิกษุเป็นอาจารย์คอยสั่งสอน มีการเรียนอักขระเลขยันต์ มูลกัจจายนะ
ในเรื่องกล่าวถึง ขุนไกร พ่อของ ขุนแผน ที่ต้องโทษพระอาญาจากพระเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จล่าฝูงควายป่า แต่ฝูงควายป่าแตกตื่น วิ่งมาจนถึงที่ประทับ จึงถูกตัดสินประหารชีวิต
เพชฌฆาตใช้คมหอกคมดาบ แต่หาทำอันตรายแก่ขุนไกรได้ไม่ ตัวขุนไกรรำลึกได้ว่า หากตัวเองไม่ตาย จะเป็นการขัดพระราชอาญา พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้ตายก็ต้องตาย เพราะเป็นข้าแผ่นดินของพระองค์
ขุนไกรจึงร่ายพระคาถา ปล่อยของที่คุ้มกายออกจากตัว ยอมให้เพชฌฆาตประหารชีวิต
ส่วนตัวขุนแผนนั้น มีการกล่าวถึง วิชาสะเดาะกลอน มนต์สะกดให้คนหลับทั้งเรือน ตอนขึ้นไปหานางวันทอง วิชามหาระรวย วิชาการทำดาบฟ้าฟื้น วิชาการทำพรายกุมาร และวิชาปราบพยศม้าสีหมอก
สำหรับผู้ที่ไปลงยันต์เป็นครั้งที่ ๒ นั้น หลวงพ่อวงศ์ จะเขียน ยันต์หัวใจศีล ซึ่งมียันต์ตัว “นะ”
และตามด้วย หัวใจพระตรัยปิฎก “มะ อะ อุ” ซึ่งเป็นตัวย่อมาจาก อาปามะจุปะ (พระวินัยปิฎก) อะทีมะสังอังขุ (พระสุตันตะปิฎก) สังวิทาปุกะยะปะ (หัวใจพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์) รวมแล้วเรียกว่า หัวใจพระ
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ ที่เขียนซ้อนกัน เป็นยันต์ตัวเดียวกับ ยันต์พุดซ้อน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
การเขียนยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ ซ้อนกัน ๕ ตัว ในภาษาการเขียนยันต์ลักษณะนี้เรียกว่า “การเขียนยันต์ตลก” สุดแท้ใครจะมีรูปแบบการเขียนในลักษณะใด
ยันต์พุดซ้อน เป็นการเขียนตัว “พุทธ” ซ้อนกัน ๓ ชั้น ซึ่งเดิมทีนั้น ถ้าเป็นตำรับของ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม จะใช้ตัวพุทธซ้อนกับ ๓ ตัว
และมีพระคณาจารย์รูปหนึ่ง ที่นำมาใช้ในการสร้างพระ คือ พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร) วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี
อักขระยันต์ที่ปรากฏอยู่ด้านหลังพระหลวงพ่อแพนั้น ที่พบมากที่สุดคือ "ยันต์พุดซ้อน" แต่ก็ยังมีความแตกต่างกับของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) คือตัวพุทธทั้ง ๓ ตัวมี สระ "อุ" ตัวเดียว แต่ของหลวงพ่อแพ ตัวพุทธทั้ง ๓ ตัว มี สระ "อุ" ๓ ตัว