
ไสยศาสตร์แห่งลาวเวียง'แต่งแก้'แก้เคราะห์กรรม
ไสยศาสตร์แห่งลาวเวียง'แต่งแก้'แก้เคราะห์กรรม ณ วัดโบสถ์ อ.โพธาราม ท่องไปในแดนธรม เรื่องและภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู
"ชาวไทยลาวเวียง" หรือ "กลุ่มชนชาวลาวตี้" ในเขตพื้นที่ ต.นางแก้ว วัดบ้านฆ้อง และต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี คือ ชนชาติลาวกลุ่มหนึ่งที่มีเชื้อสายลาวจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว
ปัจจุบันนี้คนลาวเวียงส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะพูดภาษาของตนเอง เพราะรู้สึกอายในภาษาและสำเนียง ส่วนประเพณีที่น่าสนใจ และเป็นแบบอย่างในเรื่องความรัก ความสามัคคีของหมู่คณะ ความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพบุรุษ ได้แก่ ประเพณีสารทลาวเวียง ประเพณีนี้อยู่คู่กับชุมชนลาวเวียงมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนได้เลยทีเดียว และยังนำมาปฏิบัติจนกระทั่งทุกวันนี้
สำหรับพิธีกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั้งคนในท้องถิ่นและคนต่างถิ่น คือ พิธี "แต่งแก้" หรือ "พิธีแก้เคราะห์กรรม" ทั้งนี้ พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อเขียน สิริมังคโล" เจ้าคณะอำเภอโพธาราม และเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า ลาวที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๒ ได้นำเอาบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและความเชื่อก็ติดมาด้วย แต่ด้วยระยะกว่า ๒๐๐ ปี ทำให้วัฒนธรรมสูญไปตามกาลเวลาเกือบทั้งหมด บุญประเพณีแข่งกลอง บุญบั้งไฟ ที่เคยมีก็หายไป ส่วนเรื่องภาษานั้นจะพูดกันในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็ยังมีวัดบางแห่งที่สวดให้พรญาติโยมเป็นภาษาบาลีสำเนียงลาวอยู่
สำหรับการสะเดาะเคราะห์ที่นี้ เรียกว่า “แต่งแก้-แก้ร้ายกลายเป็นดี” หรือ “พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา” เป็นพิธีกรรม หลวงปู่อินทร์ อดีตเจ้าอาวาสทำมากว่า ๔๐ ปี ขณะที่หลวงพ่อเขียวก็ทำมากกว่า ๓๐ ปี โดยผู้ที่เข้าร่วมพิธีจะต้องแจ้งชื่อวันเดือนปีเกิด เพื่อจะได้ดูดวงชะตาต้องแก้ด้วยอะไรบ้าง ด้วยคติความเชื่อที่ว่า “หายเจ็บ หายไข้"
"พิธีแต่งแก้ เป็นความเชื่อของคนลาวมาตั้งแต่โบราณ ในอดีตนั้นจะเป็นความเชื่อของคนลาวในท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้จะทำพิธีนี้เมื่อขวัญเสีย เรียกขวัญ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก รวมทั้งเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อใครได้ทำพิธีนี้แล้วเกิดสิริมงคลแก่ชีวิต จึงมีคนนอกพื้นที่เข้ามาร่วมพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ" หลวงพ่อเขียนกล่าว
ส่วนขั้นตอนของพิธีกรรมนี้ คือ เริ่มจากเขียนชื่อที่โต๊ะเขียนโดยกรอกรายละเอียด ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด แล้วก็อายุ วันเกิด ใส่กระดาษที่ทางวัดจัดเตรียมให้ แล้วก็มายื่นที่โต๊ะเรียกชื่อ แล้วก็ไปนั่งรอเรียกชื่อที่เก้าอี้ที่ทางวัดจัดให้ ซึ่งก็จะมีรอบการทำพิธี ต้องบอกก่อนว่า หากจะมาสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาที่วัดแห่งนี้ต้องมาวันที่ไม่ใช่วันพระ
หลังจากนั่งกันอยู่สักพัก เจ้าหน้าที่ของวัดให้ครอบครูก่อน โดยนำเส้นด้ายมาครอบหัวหนึ่งครั้งแล้วให้เทียนมาหนึ่งอัน แล้วก็ให้ไปนั่งล้อมรอบบัลลังก์พิธี เมื่อพร้อมพิธีจึงเริ่มขึ้นโดยมีการนำสวดมนต์สักเกือบสิบนาที แล้วก็จะให้จุดเทียนที่ถือมาแล้วก็ขอพร เมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็เปาเทียนให้ดับ
จากนั้นก็ไปนั่งรอเรียกชื่อ ซึ่งไม่นานนักชื่อก็ถูกเรียก รอบที่หนึ่งเจ้าหน้าที่ให้จุดธูปจำนวนสิบดอก แล้วก็ไปนั่งหันหน้าตามที่พระท่านบอก ซึ่งตรงหน้าจะมีธงปักในกระทง แต่ละรอบก็จะมีธงสีไม่เหมือนกัน บ้างก็เป็นธงดำบ้างก็เป็นธงเหลือง แล้วแต่ว่าจะตรงกับวันไหน
พระท่านก็นำสวดซึ่งเมื่อสิ้นสุดเสียงสวดเป็นช่วงๆ ให้ปักธูปหนึ่งดอกลงในแก้วที่ทางวัดเตรียมให้ ซึ่งช่วงนี้ใช้เวลานานพอสมควร เมื่อเสร็จสิ้นก็ไปนั่งรอเพื่อทำพิธีในรอบที่สอง สำหรับรอบนี้ให้จุดธูปจำนวนสิบเจ็ดดอก แล้วก็ทำพิธีเช่นเดิมอีกหนึ่งรอบ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี หากใครยังไม่สะใจก็สามารถอาบน้ำมนต์ได้อีกด้วย
ใครที่ไปไม่ถูกหรือไม่แน่ใจว่าวันนี้มีพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาหรือเปล่า โทรมาถามก่อนได้ที่ โทร.๐-๓๒๒๓-๑๓๕๕
หอวัฒนธรรมลาวเวียง ห้องสมุดมีชีวิต
"หลวงพ่อเขียน สิริมังคโล" เป็นผู้มีความรู้แตกฉานด้านพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคม ตำรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของพระครูประสาทสังวรกิจ หลวงปู่อินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ โดยในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป วิทยาคมแก่กล้า พลังสมาธิจิตอยู่ในระดับสูง ท่านยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านแพทย์แผนโบราณ มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่ชานหมากของท่านยังขับไล่พิษงูได้อย่างเหลือเชื่อ วิชาอาคมเลื่องลือในเรื่องขับไล่ภูตผีปีศาจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อหลวงพ่อเขียนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านได้ใช้วิชาที่ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่อินทร์ อินทโชโต ช่วยเหลือชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละวันมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางไปกราบไหว้ ขอพร รดน้ำมนต์ รวมทั้งดูดวงอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในลูกศิษย์คนสำคัญ คือ ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะเดินทางมากราบไหว้ขอพรเป็นการส่วนตัวหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านของชาวชุมชนบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หลวงพ่อเขียนมอบศาลาการเปรียญให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และศิลปวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาว “ลาวเวียง” ในชุมชนวัดโบสถ์
ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงาน ในที่สุดชุมชนบ้านเลือกเป็น ๑ ใน ๔ ชุมชนนำร่องของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเค พาร์ค โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของศาลาการเปรียญวัดโบสถ์เป็นที่รวบรวมหนังสือต่างๆ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนจะพัฒนาเป็น “หอวัฒนธรรมลาวเวียง แหล่งเรียนรู้ชุมชนตำบลบ้านเลือก” ทำให้เป็น “ห้องสมุดมีชีวิต” แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน เพื่อให้บริการแก่เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานี่เอง
หอวัฒนธรรมลาวเวียง ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ในรูปแบบของห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งผู้สูงอายุที่มีความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวลาวเวียง สามารถนำองค์ความรู้เก่าๆ เหล่านั้น มาถ่ายทอดและจดบันทึกไว้เพื่อถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังต่อไปได้ โดยชาวบ้านในพื้นที่ก็ให้ความร่วมมือในการจัดสร้างด้วยความเต็มใจ ทำให้แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดความยั่งยืนได้ไม่ยากและสามารถสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ นอกจากจะให้ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าตำราแล้ว ยังได้เห็นประเพณี วัฒนธรรมของชาวลาวเวียงที่บ้านเลือก