
บำเพ็ญ-ภาวนา : คำวัด
บำเพ็ญ-ภาวนา : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
การปฏิบัติธรรมประจำเดือนของชมรมธรรมทัศน์ ในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของแต่ละเดือน ณ ศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมวัดไตรมิตรวิทยาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เริ่มเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม จนถึงประมาณหกทุ่ม มีลงทะเบียนด้วยนะครับ เพื่อรับเครื่องครู สำหรับรับศีล ๘ ครับ ลงทะเบียนรับขันธ์แล้วก็เข้ามานั่งรอในศาลา มีพระมานั่งรอเพื่อสวดมนต์ด้วย
เมื่อถึงเวลาตัวเเทนคณะชมรมธรรมทัศน์ก็มาจุดธูปเทียนหน้าพระประธานและหน้ารูปหลวงพ่อวิสุทธาธิบดี จากนั้นก็เป็นไปตามพิธี อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร สวดมนต์ต่อไป
รับศีลสวดมนต์ละครับทีนี้
สมาทานศีล ๘ และสมาทานพระกัมมัฏฐาน เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิเจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่งกันไปนานพอสมควรนะครับเกือบถึง ๔ ทุ่ม
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “บำเพ็ญ” แปลว่า “การทำให้เต็ม”
บำเพ็ญ หมายถึง การทำให้บริบูรณ์ การเพิ่มพูน การประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม โดยปฏิบัติต่อเนื่องไม่ขาดตอน ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ด้วยเจตนาที่ดี ด้วยหวังผลเป็นความสุขความความสำเร็จแก่ตนเองเป็นที่ตั้ง
บำเพ็ญ นิยมใช้กับคำที่มีความหมายในทางที่ดี เช่น บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล บำเพ็ญทาน บำเพ็ญเพียร บำเพ็ญภาวนา บำเพ็ญบารมีบำเพ็ญพรตบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ใช้กับคำที่มีความหมายในทางไม่ดี เช่น ไม่ใช้ว่า บำเพ็ญบาป บำเพ็ญอกุศล บำเพ็ญตระหนี่
ส่วนคำว่า “ภาวนา” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า การเจริญ การอบรม การทำให้มีให้เป็นขึ้น
ภาวนา หมายถึง การทำจิตใจให้สงบและทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจไปตามแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกชื่อไปต่างๆ เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตตภาวนา
ภาวนา ในทางปฏิบัติทางปฏิบัติท่านแบ่งไว้ ๒ แบบ ใหญ่ๆ คือ
๑.สมถภาวนา หมายถึง การอบรมจิตใจให้สงบ ซึ่งได้แก่สมถกรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า จิตตภาวนา ก็ได้
๒.วิปัสสนาภาวนา หมายถึง การอบรมปัญญาให้เกิดขึ้นซึ่งก็ได้แก่ วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา ก็ได้
ภาวนา เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากภาวนานั่นเอง