พระเครื่อง

‘พระลือโขง’หรือ‘พระนางจามเทวีซุ้มเรือนแก้ว’ชื่อไหนดีกว่ากัน

‘พระลือโขง’หรือ‘พระนางจามเทวีซุ้มเรือนแก้ว’ชื่อไหนดีกว่ากัน

28 เม.ย. 2556

‘พระลือโขง’หรือ‘พระนางจามเทวีซุ้มเรือนแก้ว’ชื่อไหนเหมาะสมกว่ากัน? : สายตรงพระล้านนา โดยน้อย ไอรยา www.pralanna.com


              พระลือโขง หรือ พระลือขง เป็นชื่อเรียกขานเก่าแก่ของนักนิยมพระท้องถิ่นมานาน ความหมายที่เรียกขาน “ลือ” คือ เลื่องลือ, “โขง” ภาษาท้องถิ่นเมืองเหนือหมายถึง “ซุ้ม”รวมกันคือ “ซุ้มที่เลื่องลือ”

              พุทธลักษณะ พระลือโขง องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานบัวสองชั้น ปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้วประภามณฑล ตกแต่งด้วยลวดลายกนก เส้นขีดรัศมี ประดับด้วยใบระกาสองชั้น เป็นฝีมืองานช่างหลวง ละเอียดประณีตมาก การออกแบบคลาสสิกสุดยอด อลังการมาก สวยงามที่สุดในบรรดา พระสกุลลำพูน ทุกพิมพ์ และยังหายากที่สุดอีกด้วย จนเซียนรุ่นเก่าสมัยก่อนยังออกปากว่า หายากกว่า “พระรอด” เสียอีก

              พระลือโขง มีขนาดองค์พระค่อนข้างเขื่อง คือ มีขนาดความสูงประมาณ ๔.๓ ซม. กว้างประมาณ ๒.๕ ซม.หนาประมาณ ๑.๐ ซม. โดยขุดพบจาก กรุสันกู่เหล็ก จ.ลำพูน เพียงแห่งเดียว

              การขุดพบ “พระลือโขง” เท่าที่มีการบันทึกจากหนังสือ พระเครื่องสกุลลำพูน ชุด นพคุณ โดย เชียร
ธีรศานต์ พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๖ กล่าวไว้ว่า “มีการขุดพบพระลือโขง จากกรุกู่เหล็ก ประมาณ ๔๐-๕๐ องค์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๑”

              เข้าใจว่าน่าจะเป็นการขุดพบ พระลือโขง ครั้งแรก เพราะก่อนหน้าปี พ.ศ.๒๕๑๑ ยังไม่มีหนังสือพระเล่มใดที่กล่าวถึง พระลือโขง แม้กระทั่งหนังสือ ปริอรรถาธิบาย “พระรอด”ของ “ตรียัมปวาย” ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ไม่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการขุดพบ พระลือโขง มาก่อน พ.ศ.๒๕๐๓ ก็น่าจะมีการบันทึกไว้บ้าง

              พระลือโขง แตกกรุครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ บริเวณวัดร้างกลางทุ่งนาที่เรียกกันว่า สันกู่เหล็ก จ.ลำพูน

              ครั้งนั้นมีผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน เช่น พี่หริ-ศิริ คูวิบูลย์ศิลป์, เสี่ยแดง-สุทธิพงษ์ ใหม่วัน, โกหย่วน-นิยม พงศ์วิชัย, ลุงหวิล-ถวิล วิลสา ฯลฯ รวมทั้งตัวผู้เขียนเองก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยลักษณะการขุดพบ โดยชาวบ้านบังเอิญไปขุดดินเจอ ก็เลยแตกตื่นแย่งกันขุดหาพระเป็นการใหญ่ มีการจับจองพื้นที่ขุดโดยชาวบ้านหลายร้อยคนเป็นที่น่าเสียดายมากที่คนขุดหาพระเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางโบราณคดี ใช้จอบหรือเสียมขุดหาพระแข่งกันอย่างเร่งรีบ โดยไม่มีความรอบคอบ ก็เลยทำให้พระที่ขุดพบในครั้งนั้นชำรุด หัก บิ่น เสียหายเป็นส่วนใหญ่ ที่สมบูรณ์มีน้อย ประมาณการคร่าวๆ น่าจะได้พระหลายร้อยองค์ แถมยังมีคนหัวใส ซื้อพระที่หักชำรุดในราคาถูก นำมาซ่อม แล้วย้อนรอยกลับไปฝากชาวบ้าน อ้างว่าเพิ่งขุดได้ โดยขายในราคาพระสมบูรณ์

              พระที่ขึ้นจากกรุนี้ถ้าเป็นพระเนื้ออ่อน เช่น สีพิกุล หรือขาว ผิวพระจะเปื่อย ไม่ตึง เพราะบริเวณสันกู่เหล็กนี้เป็นที่ลุ่ม มีน้ำขัง แต่ถ้าเป็นพระสีเขียว เนื้อพระจะแข็ง และเป็นพระสวยคมชัดแทบทุกองค์สมัยนั้น (พ.ศ.๒๕๒๒) พระสวยเรียบร้อย ไม่หัก หรือบิ่น เช่ากันองค์ละ ๓๐,๐๐๐ บาท องค์สวยคมชัด มีหน้าตา ๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป

              ส่วนชื่อ “พระนางจามเทวีซุ้มเรือนแก้ว” ที่บางคนใช้แทน “พระลือโขง” ในปัจจุบัน เรื่องชื่อนี้ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นขัดแย้งในเชิงวิชาการอยู่ ๒ ข้อด้วยกัน คือ

              ๑.การกำหนดอายุสมัยการสร้างของ พระลือโขง ลักษณะขององค์พระ ซุ้มเรือนแก้ว และ ฐานบัว ของ พระลือโขง มีลักษณะคล้ายกับศิลปะพุกามของพม่า น่าจะมีอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อายุความเก่าประมาณ ๘๐๐ ปี ส่วน พระนางจามเทวี ทรงมีพระชนมายุอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.๑๑๖๖-พ.ศ.๑๒๕๘ (จากตำนานเมืองหริภุญชัยและจามเทวีวงศ์) แสดงว่า พระลือโขง สร้างภายหลังยุคของ พระนางจามเทวี หลายร้อยปี

              ๒.พระลือโขง คือ พระพิมพ์ที่มีอายุการสร้าง ๘๐๐ ปี ในสมัยนั้นคติการสร้างพระพิมพ์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา จึงมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า องค์พระของ พระลือโขง จึงน่าจะเป็นองค์พระพุทธเจ้ามากกว่าเป็นรูปของผู้สร้างพระ (พระนางจามเทวี)

              อย่างไรก็ดี นี่เป็นการสันนิษฐานโดยใช้ทฤษฎีสมัยใหม่เข้ามาศึกษาวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า ชื่อ พระลือโขง มีความเหมาะสมมากกว่า ชื่อ พระนางจามเทวีซุ้มเรือนแก้ว อย่างแน่นอน

             หลายคนบอกว่า พระลือโขง เป็นพระที่ดูยาก ก็อาจจะเป็นไปได้ ในกรณีของผู้ที่ไม่เคยเห็น พระลือโขง องค์จริงมาก่อน

              ความจริงแล้ว พระลือโขง เป็นพระที่ดูง่ายเพราะมีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะ ผนังซุ้มเรือนแก้ว อันงดงามและวิจิตรพิสดารอลังการมาก

              เส้นสาย ที่เป็นลวดลายของซุ้มผนังนั่นแหละ เป็นจุดสำคัญในการดู พระแท้ พระเก๊ ได้เป็นอย่างดี

              พระลือโขง “ของเก๊” รุ่นล่าสุด ใช้ยางซิลิโคน ถอดพิมพ์ได้ใกล้เคียง โดยเฉพาะด้านหน้าองค์พระ ยังขาดอยู่แค่ความคมชัดลึกเท่านั้น

              ในยุคที่กระแส พระแพง มาแรง การดูพระต้องละเอียดรอบคอบทุกด้าน ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ หน้า หลัง ข้าง ก้น แล้วจดจำให้แม่นๆ

              สำหรับ พระลือโขง ขอเรียนย้ำว่า พระลือโขงยังดูง่ายอยู่ ที่ลำบากดูยากเห็นจะเป็น พระรอด มากกว่า เพราะทุกวันนี้ พระเก๊ ทำได้ใกล้เคียงของจริงมาก คนที่เห็น พระแท้ มาน้อยจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษวันนี้ พระลือโขง กลายเป็นพระในตำนาน หาดู พระแท้องค์จริง ได้ยากมาก องค์สวยๆ ราคาหลายล้านบาทคำพูดของเซียนรุ่นเก่าที่ว่า “พระลือโขงหายากกว่าพระรอด” มาถึงวันนี้...สงสัยว่าจะเป็นเรื่องจริงแท้