
นายกชาญเดินแก้บนถวายหลวงพ่อโสธร
นายกชาญ พวงเพ็ชร์เดินแก้บนถวายหลวงพ่อโสธร ๒ วัน ๒ คืน พระเครื่องคนดัง : เรื่องและภาพโดยไตรเทพ ไกรงู
การบนบานศาลกล่าว กับการแก้บน อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เมื่อบนบานขอสิ่งต่างๆ ตามที่ตนเองต้องการต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และได้รับผลตามที่ผู้บนบานต้องการแล้ว ก็ต้องไปดำเนินกรรมวิธีแก้บนตามที่ได้ให้สัจวาจา หรือทำข้อตกลงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ ส่วนของแก้บนที่เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปส่วนใหญ่ คือ อาหาร แต่การแก้บนประเภทถวายความบันเทิงก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน เช่น การแก้บนด้วยการมีภาพยนตร์กลางแปลง, รำวง, งิ้ว, ลิเก หรือละครชาตรี เป็นต้น
ในกรณีของหลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมากมาย ไม่ได้มีแค่ชาวบ้านในแถบที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น ชาวบ้านที่มากราบไหว้มักจะศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรมาก เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อน ไม่สบายใจก็มักจะมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวกับหลวงพ่อเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ และส่วนใหญ่แล้วเรื่องที่บนบานนั้นจะสมใจปรารถนา
การบนบานกับหลวงพ่อโสธร ชาวบ้านจะพูดกันว่าต้องกล่าวบนบานของที่จะแก้บนให้ถูกต้องด้วยจึงจะได้สมใจในสิ่งที่ขอ นั่นคือ การแก้บนกับหลวงพ่อจะมีอยู่ ๒ สิ่งที่เชื่อกันว่าดี คือ วิธีแรกคือ การแก้บนด้วยไข่ไก่ต้ม และแก้บนด้วยการนำละครรำมารำถวาย
แต่สำหรับนายชาญ พวงเพ็ชร์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี คนดังแห่งเมืองปทุมธานี วิธีการแก้บนที่แปลกจากคนอื่นๆ ที่ไม่เหมือนใคร คือ “แก้บนหลวงพ่อโสธรด้วยการเดิน”
นายกชาญ บอกว่า ทุกครั้งที่ลงเลือกตั้ง รวมทั้งมีเรื่องใหญ่จะบนบานศาลกล่าวด้วยการเดินจากบ้านไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ซึ่งมีอยู่ ๓ แห่ง ที่มักจะบนเป็นประจำ คือ ๑.หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ๒.หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา และ ๓.พระบรมรูป ร.๕ กทม. ซึ่งที่ผ่านมาเคยเดินแก้บนถวายหลวงพ่อโสธรมาแล้ว ๓ ครั้ง ใช้เวลาเดิน ๒ วัน ๒ คืน คือ ค่ำไหนนอนที่นั่น โดยครั้งแรกๆ มีเพื่อนร่วมเดินประมาณ ๑๐ คน แต่ครั้งล่าสุดเพื่อนร่วมเดินแก้บนกว่า ๑๐๐ คน ส่วนการเดินไปยังพระบรมรูป ร.๕ และหลวงพ่อโตนั้น ใช้เวลาเดินเพียงวันเดียวเท่านั้น
สำหรับวัด และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเดินทางไปกราบไหว้ขอพรเป็นประจำนั้น นายกชาญ บอกว่า ไปทุกวัดเพราะแต่ละวัดเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีพระเกจิอาจารย์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ได้กราบไหว้ขอพร สุดแล้วแต่ใครจะศรัทธาวัดไหน แต่ถ้าเป็นวัดที่ขึ้นชื่อว่าคนชอบไปบนบานศาลกล่าว คือ หลวงพ่อเพชร วัดสองพี่น้อง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และหลวงพ่อนรสิงห์ วัดกร่าง ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่ต้องแก้บนด้วยการถวายน้ำตาลปี๊บ ซึ่งเคยแก้บนด้วยน้ำตาล ๑๐๐ ปี๊บ มาแล้ว
เมื่อถามถึงพระเครื่อง นายกชาญล้วงพระเครื่องพวงใหญ่ออกจากคอ พร้อมกับบอกว่า แขวนพระเกือบ ๒๐ องค์ จนจำไม่หมดว่ามีพระอะไรบ้าง เท่าที่จำได้ มีพระสมเด็จ วัดระฆัง "หลวงพ่อหร่ำ เกสโร" วัดกร่าง ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หลวงปู่เส็ง จันทรังสี วัดบางนา อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.อยุธยา พระปิดตาและตะกรุด หลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นต้น
ส่วนพุทธคุณของพระเครื่องนั้น นายกชาญ บอกว่า “พุทธคุณของพระชุดนี้ผมว่าเด่นด้านแคล้วคลาดมากๆ ทุกวันนี้แคล้วคลาดอยู่แล้ว ไปไหนก็ปลอดโปร่ง ไม่เคยเกิดเรื่องร้ายๆ กับตนเองเลยสักครั้งเดียว” ด้วยเหตุผลนี่เองทำให้นายกชาญไม่ลืมนิมนต์พระชุดใหญ่ขึ้นคอก่อนออกจากบ้าน พร้อมกับไหว้พระสวดมนต์ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
ลูกหนูบุญประเพณีมอญปทุมฯ
“ผมคลุกคลีกับการเล่นลูกหนูมาตั้งแต่เด็กแล้ว ใจรักมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. สมัยแรก จึงมีการส่งเสริมให้เป็นประเพณีระดับจังหวัด ซึ่งจัดติดต่อกันมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว” นี่เป็นคำบอกของนายกชาญ
ทั้งนี้นายกชาญ ได้เล่าถึงที่มาของการเล่นลูกหนูว่า ภายหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ได้มีการจัดพิธีสักการบูชาพระบรมศพของพระพุทธองค์นาน ๖ วัน ครั้นพอถึงวันที่ ๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ จึงมีการจัดขบวนแห่พระสรีระสังขาร ออกเดินไปยังมกุฎพันธเจดีย์ เพื่อทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เมื่อได้เวลา ผู้ที่รับหน้าที่จุดไฟทั้ง ๔ ด้าน ก็เริ่มจุดไฟ แต่จุดไฟเท่าใดก็ไม่สามารถจุดติดได้ ประมุขสงฆ์ ณ ขณะนั้น คือ พระอนุรุธิ ซึ่งเป็นพระสาวกผู้สำเร็จอรหันต์ และมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธองค์ ได้วินิจฉัยถึงสาเหตุที่จุดไฟไม่ติด เป็นเพราะเหล่าเทวดาต้องการให้รอพระมหากัสสะปะ ซึ่งอยู่ในระหว่างเดินทางมา ให้มาร่วมพิธีถวายบังคมพระบรมศพเสียก่อน ครั้นเมื่อพระมหากัสสะปะเดินทางมาถึง และได้ถวายบังคมพระบรมศพแล้ว จึงเกิดอิทธิปาฏิหาริย์บันดาลเพลิงสวรรค์ ด้วยเทวาฤทธานุภาพ ลุกโชติช่วง โหมไหม้พระสรีระจนหมดสิ้น
จากพระพุทธประวัติดังกล่าว ชนชาวรามัญ หรือ มอญ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้น้อมนำเอาพุทธประวัติดังกล่าวมายึดถือปฏิบัติ ในการถวายเพลิงศพต่อพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ การถวายเพลิงศพพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ จะไม่ใช้วิธีการจุดไฟด้วยมือโดยตรง แต่จะใช้การจุด ลูกหนู ขนาดเล็ก วิ่งตามเส้นลวด เข้าหาเมรุ หรือปราสาทที่ตั้งศพ แทนการจุดไฟด้วยมือ
นอกจากนี้แล้ว การที่ต้องสร้างเมรุ หรือสร้างปราสาทให้พระภิกษุที่มรณภาพ เพราะถือกันว่า พระนั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ควรเผารวมกับคนธรรมดา อย่างไรก็ตาม ในภายหลังต่อมา จึงมีการประยุกต์ และพัฒนานำเอาลูกหนูที่ใช้ในงานถวายพระเพลิงไปใช้ในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมรุ-ปราสาทจำลอง โดยนิยมจัดการแข่งกันในงานถวายเพลิงศพพระชั้นผู้ใหญ่ หรือตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยครั้งนั้น เพราะนานๆ ครั้งจะมีพระผู้ใหญ่ หรือพระเกจิเชื้อสายรามัญมรณภาพ
นายกชาญ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า การเล่นลูกหนูถ้าไม่ส่งเสริมอนุรักษ์ไว้อนาคตมีสิทธิ์สูญหายแน่ ในอดีตวัดที่เป็นชุมชนมอญล้วนมีคณะลูกหนูของตน หลายจังหวัดเคยมีแต่ไม่มีการสืบทอดจึงสูญไปแล้วก็มี โดยเฉพาะลูกหนูใหญ่ เพราะวันนี้พื้นที่การเล่นไม่มี พื้นที่เล่นทุกวันนี้เป็นที่ว่างของเอกชนหากถูกนำไปสร้างเป็นบ้านจัดสรร ในที่สุดก็จะเหลือเฉพาะการเล่นลูกหนูเล็กเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาครเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี ที่ดีงามเหล่านี้ ให้คงอยู่คู่กับจ.ปทุมธานี สืบต่อไป องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จึงได้จัดให้มีมหกรรมแข่งลูกหนูขึ้นเป็นประจำทุกๆปี โดยในปีนี้ได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ริมถนนสายปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ต.บ้านฉาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยในงานจะมีขบวนแห่ลูกหนูจากคณะลูกหนูต่างๆตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. โดยขบวนแห่จะแห่ไปรอบๆ ตลาดปทุมธานี จากนั้นก็จะเดินทางมายังสนามแข่งขันและดำเนินการแข่งขันกันต่อไป จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชนทั้งในจ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้ารับชมมหกรรมการแข่งขันลูกหนู ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายรามัญได้ในวันและเวลาดังกล่าว