พระเครื่อง

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้หลังหนังสือพิมพ์เล็กมีหูปี๒๕๐๖

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้หลังหนังสือพิมพ์เล็กมีหูปี๒๕๐๖

07 เม.ย. 2556

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้หลังหนังสือพิมพ์เล็กมีหูปี ๒๕๐๖ : สายตรงพระหลวงพ่อทวด โดยตาล ตันหยง


             เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู ปี ๒๕๐๘ ซึ่งแบ่งย่อยออกไปได้อีกหลายพิมพ์ ตามที่วงการพระทุกวันนี้เล่นหา และอย่างที่เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้วว่า พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู นอกจากของปี ๒๕๐๘ แล้วก็ยังมีของ ปี ๒๕๐๖ อีกด้วย แต่ฟอร์มพิมพ์เค้าหน้าแตกต่างกับของปี ๒๕๐๘ อย่างชัดเจน กล่าวคือ พระพิมพ์ ปี ๒๕๐๖ มีเค้าหน้าที่มนกลมกว่า และเค้าโครงโดยรวมตัวหนังสือ รวมทั้งลักษณะการกระจายตัวของเส้นเสี้ยน และลักษณะผิวรมดำจะไปละม้ายคล้ายคลึงกับของ พระพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ อย่างมาก

             พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู ปี ๒๕๐๖ ถือว่าเป็นพิมพ์มาตรฐาน ที่วงการนักสะสมพระสายนี้ยอมรับ และรู้จักกันมานานพอสมควร อีกทั้งยังมีอยู่ในรายการประกวดพระที่รับรองโดย สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชา อีกด้วย เท่าที่วงการเล่นหา ยังไม่ได้มีการแบ่งย่อยพิมพ์ลงไปเหมือนกับพระพิมพ์ปี ๒๕๐๕ ซึ่งมีการแบ่งย่อยตามลักษณะโครงหน้าของหลวงพ่อทวด และลักษณะตัวหนังสือที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น พิมพ์ ว หัวตัน, ว หัวห่าง, ว หัวกลวง เป็นต้น (ตัว ว ของคำว่า วัด)
สำหรับ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู ปี ๒๕๐๖ เท่าที่พบเห็นมี ๒ พิมพ์ย่อย คือ พิมพ์ ว หัวกลวง และ พิมพ์ ว หัวตัน โดยที่ด้านหน้าและหลังขององค์พระ ๒ พิมพ์ย่อยนี้ ต่างก็มีเอกลักษณ์ของแต่ละพิมพ์ ซึ่งไม่เหมือนกัน ในวันนี้จะนำเสนอเฉพาะ พิมพ์ ว หัวกลวง เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ชำนาญการบางคนได้พิจารณา พระพิมพ์ ปี ๒๕๐๖ นี้ว่าเป็นของ ปี ๒๕๐๕ จัดอยู่ในพิมพ์ทั่วไป ที่เรียกว่า พิมพ์ ว ธรรมดา ด้วยเหตุผลของการที่มีรูปทรงทางกายภาพและลักษณะผิวรมดำที่เหมือนกันแทบทุกประการ นั่นเอง จะต่างกันก็ตรงที่องค์พระ มีหู และ ไม่มีหู เท่านั้น (หมายถึง หู ของกรอบพระ ไม่ใช่ หู ของหลวงพ่อทวด) และหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่ามีพระพิมพ์ปี ๒๕๐๕ พิมพ์หนึ่งที่มีลักษณะพิมพ์ทรงเหมือนกับพิมพ์ปี ๒๕๐๖ แทบทุกประการ คือ พิมพ์ ว หัวกลวง (และที่ปลายตัว ว ตรงคำว่า วัด จะแตกออกมาเป็น ๒ แฉก)

             สันนิษฐานว่า พระพิมพ์ปี ๒๕๐๕ ว หัวกลวง นี้เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการผลิต พระพิมพ์ปี ๒๕๐๖ ว หัวกลวง เพียงแต่มีการสร้างแม่พิมพ์เพิ่มเติมเข้ามาโดยเฉพาะ สำหรับปั๊มตัด หู ของพระพิมพ์ปี ๒๕๐๖ ซึ่งสังเกตได้จากพิมพ์ปี ๒๕๐๕ ว หัวกลวง จะมีร่องรอยการปั๊มตัดหู เป็นลักษณะทิวเนื้อนูนสองตำแหน่ง ที่บริเวณขอบองค์พระ เหนือศีรษะหลวงพ่อทวด ผลจากการปั๊มกระแทกอีกครั้ง เพื่อตัดหูนี้ ทำให้ตำหนิบนองค์พระบางจุด ดูแตกต่างกับองค์พระก่อนปั๊มตัดหู (หรือที่เรียกกันว่า พระพิมพ์ปี ๒๕๐๖) เพียงเล็กน้อย ซึ่งในวันนี้ได้นำภาพ พระพิมพ์ปี ๒๕๐๕ ว หัวกลวง ที่มีลักษณะเดียวกับ พระพิมพ์ปี ๒๕๐๖ ว หัวกลวง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มาให้ท่านผู้อ่านได้ชมกันด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

             ที่ผ่านมาเคยมีนักเล่นพระหัวใสเอาพระพิมพ์ปี ๒๕๐๖ ไปตัดหูออก แล้วนำไปเลี่ยมพลาสติก ปิดบังรอยตัดเพื่อนำไปขายเป็นพระพิมพ์ปี ๒๕๐๕ ซึ่งได้ราคาสูงกว่า ท่านที่สนใจพระพิมพ์นี้จึงต้องระมัดระวังตรงจุดนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเกล็ดย่อยที่จะเรียนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่า เมื่อประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมามี พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู ปี ๒๕๐๖ ที่ว่านี้ ได้แตกรังออกมาจากวัดแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี มีพระจำนวนหลายร้อยองค์ เป็นที่ฮือฮากันมาก โดยมี เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์ซุ้มกอ มีหู ปี ๒๕๐๖ เนื้อทองแดงรมดำ รวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง พระชุดนี้ได้มีการนำเข้ามากระจายขายในเมืองกรุง และมีการประมูลในเว็บไซต์พระเครื่องต่างๆ ในช่วงแรกนักเล่นหายังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม เพราะองค์พระสวยสมบูรณ์กว่าปกติ เช่น มีผิวปรอทเคลือบอย่างสวยงามแทบทุกองค์ ในช่วงนั้นมีการเช่าหากันแค่หลักพันเท่านั้น แต่จากการศึกษาในเชิงเจาะลึก พบว่า พระชุดนี้เป็น พระแท้ดูง่าย ตามมาตรฐานสากลนิยม ต่อมา พระชุดนี้ราคาได้ขยับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ องค์สวยสมบูรณ์ ค่านิยมขยับเข้าใกล้หลักแสนแล้ว ตามหลัง พระพิมพ์ ปี ๒๕๐๕ ว ธรรมดา มาติดๆ

             ขณะเดียวกัน เริ่มมีการให้ข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิ พระสายหลวงพ่อทวด ที่น่าเชื่อถือระบุว่า พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เคยไปเยี่ยมวัดที่ จ.จันทบุรี ดังกล่าวในสมัยนั้น และได้มอบพระจำนวนหนึ่งให้เจ้าอาวาสวัดนั้น และพระชุดนี้ถูกเก็บลืมไว้หลายสิบปี โดยที่ยังคงสภาพสมบูรณ์เดิมๆ ไว้ทุกประการ ก่อนที่จะมาถูกค้นพบโดยพระลูกวัดในภายหลัง จากที่กล่าวมานี้มีข้อสังเกตที่ว่า พระหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู นี้น่าจะมีการปลุกเสกขึ้นในปี ๒๕๐๖ พร้อมๆ กับ พระพิมพ์ซุ้มกอ มีหู ปี ๒๕๐๖ ที่ค้นพบในวัดดังกล่าวเช่นกัน

             โดยทั่วไปแล้ว พระพิมพ์หลังหนังสือ พิมพ์มีหู ทุกรุ่นทุกพิมพ์ มักจะหาองค์ที่สวยงามสมบูรณ์แบบได้ยากกว่า พิมพ์ไม่มีหู ทั้งนี้ ก็เพราะ พระพิมพ์มีหู ผู้ใช้สามารถนำองค์พระไปห้อยติดกับสายสร้อยได้เลย โดยไม่ต้องเลี่ยมกรอบก่อน เพราะในองค์พระมีหูสำหรับร้อยสร้อยอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์พระที่ห้อยเกิดการสึกหรอจากการเสียดสีกับผิวกาย จนเสียสภาพเดิมๆ ไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับพระประเภทไม่มีหู ที่มีหลงเหลือให้ได้พบเห็นสภาพสวยสมบูรณ์ได้มากกว่า

             ในส่วนของ พระพิมพ์มีหู ที่ยังมีสภาพเดิมๆ นั้น ส่วนใหญ่มักเป็นพระเก่าเก็บ หรือเก็บจนลืมเกือบ โดยไม่ได้นำองค์พระออกมาใช้ติดตัวแต่อย่างใด สำหรับ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๖ ว หัวกลวง องค์ที่โชว์นี้ เป็นพระที่มีความสวยงามคมชัด จมูกโด่งคมสัน และมีผิวปรอทเดิมคลุมผิวไว้แทบทั่วทั้งองค์ บ่งบอกถึงความเป็นพระเก่าเก็บ ไม่ผ่านการใช้มาก่อน พระองค์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวดพระของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชามาแล้ว ๓ ครั้ง

             ส่วนอีกองค์เป็น พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ ว หัวกลวง จัดเป็นพระสวยสมบูรณ์แทบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกองค์หนึ่ง ที่มีผิวปรอททองแซมปีกแมงทับ
เป็นพระเก่าเก็บ ไม่ผ่านการใช้มาก่อนเช่นกัน โดยได้รับรางวัลพระชนะเลิศจากงานประกวดพระของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชา มาแล้วหลายครั้งเช่นกัน ปัจจุบันค่านิยมพระสวยพิมพ์นี้ทะยานเกินหลักแสนมาระยะหนึ่งแล้ว

             ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการพระสายหลวงพ่อทวด นักสะสมพระชุดหลวงพ่อทวด องค์สวยแชมป์ไว้แทบครบทุกพิมพ์ ซึ่งเป็นเจ้าของ พระหลวงพ่อทวด ๒ องค์ ในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งข้อมูลบทความ