พระเครื่อง

เหรียญพระอาจารย์ฝั้นรุ่นแรกปี๒๕๐๗หลักล้าน

เหรียญพระอาจารย์ฝั้นรุ่นแรกปี๒๕๐๗หลักล้าน

24 ก.พ. 2556

เหรียญพระอาจารย์ฝั้นรุ่นแรกปี ๒๕๐๗ เหรียญหลักล้านแพงที่สุดของสายอีสาน : เหรียญหลักยอดนิยมโดย ตาล ตันหยง

             พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นแม่ทัพธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายอรัญวาสี หรือที่เรียกกันว่า “วัดป่า” และยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา

             พระอาจารย์ฝั้น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ ขณะอายุได้ ๑๙ ปี ครั้นอายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสิทธิบังคม อ.พรรณานิคม ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๔๖๓ ได้พบกับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมกับปวารณาขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๘ ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

             พระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดเวลาที่อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างไม่มีความด่างพร้อยใดๆ คำสอนของท่านเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสของทุกคนที่มีโอกาสได้กราบไหว้ โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติธรรมที่ก่อให้เกิดสติปัญญา ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ ณ วัดป่าอุดมสมพร อันเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ และพระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ ได้เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดป่าอุดมสมพร ปัจจุบันบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้น ได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ สูง ๒๗.๙ เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ในสายวัดป่ากรรมฐาน ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้น ถือไม้เท้า ขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านอย่างครบถ้วนและสวยงาม

             ในด้านวัตถุมงคล พระอาจารย์ฝั้น ได้ชื่อว่าเป็นพระป่าที่มีผู้สร้างวัตถุมงคลให้ท่านอธิษฐานจิตมากที่สุด โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนมีมากกว่า ๑๐๐ รุ่น ในยุคแรกๆ ได้มีผู้บันทึกการจัดอันดับเหรียญรุ่นต่างๆ ของท่าน โดยมี พล.ต.ต.ไพรินทร์ บุณยะผลึก สมัยที่ท่านเป็นสารวัตรใหญ่อยู่ที่ สภ.เมืองสกลนคร ท่านมักจะไปกราบพระอาจารย์ฝั้น เสมอๆ โดยได้รับแจกเหรียญแจกเป็นประจำ พร้อมกับได้บันทึกรายละเอียดของเหรียญแต่ละรุ่น จนกลายเป็นทำเนียบเหรียญพระอาจารย์ฝั้น ในทุกวันนี้

             เหรียญพระอาจารย์ฝั้นที่นิยมสูงสุด คือ เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๕๐๗ สร้างโดยคณะศิษย์ทหารอากาศ อันมี น.อ.เกษม งามเอก เป็นผู้ดำเนินการ เหรียญรุ่นนี้มีเนื้ออัลปาก้า จำนวนสร้าง ๒๑๙ เหรียญ ซึ่งปรากฏตัวเลขนี้อยู่ที่ขอบล่างของหลังเหรียญ นอกจากนี้ยังมีเหรียญเนื้อทองคำ ๓ เหรียญ และเนื้อทองแดง (ลองพิมพ์) ประมาณ ๑๐ เหรียญ

             ทุกวันนี้เหรียญเนื้ออัลปาก้าเช่าหาที่หลักล้านต้นๆ เหรียญทองแดงอยู่ที่หลักล้านกลาง ส่วนเนื้อทองคำยังไม่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือกัน จึงไม่มีตัวเลขในเรื่องราคาซื้อขายแต่อย่างใด...นับเป็นเหรียญพระคณาจารย์ยุคหลังปี ๒๕๐๐ ที่มีราคาเช่าหาสูงที่สุดของวงการพระสายอีสาน เหรียญพระอาจารย์ฝั้น แทบทุกรุ่นมี ของปลอม ออกมานานแล้ว โดยเฉพาะรุ่นที่นิยมกันมากๆ มีหลายฝีมือที่ทำได้ใกล้เคียงของแท้มาก ชนิดบาดคอเซียนมาแล้ว ผู้สนใจเหรียญสายนี้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ

             ความพิเศษของเหรียญพระอาจารย์ฝั้น ทุกรุ่นที่มีการจัดสร้างขึ้นนั่นก็คือ ไม่มีการเปิดให้สั่งจองหรือเช่าบูชาแต่อย่างใด ผู้สร้างถวายจะลงขันกันในหมู่คณะ แล้วรับส่วนแบ่งของตนไปตามแต่จะตกลงกัน โดยเหรียญจำนวนหนึ่งถวายให้พระอาจารย์ฝั้นแจกฟรีแก่ชาวบ้าน หรือผู้ที่ไปกราบไหว้ท่าน โดยที่ทางวัดก็ไม่มีตู้จำหน่ายเหรียญแต่อย่างใด ผู้ที่ได้รับเหรียญส่วนใหญ่ก็คือ ชาวบ้านที่ไปช่วยทำงานวัด โดยเฉพาะงานก่อสร้าง ซึ่งไม่มีค่าแรงแต่อย่างใด เป็นจิตอาสาอย่างแท้จริง พอตกตอนเย็นพระอาจารย์ฝั้นจะนำเหรียญของท่านมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้านเหล่านั้น เป็นประจำทุกวัน คนที่ได้รับเหรียญบ่อยๆ ก็แจกต่อให้พรรคพวกเพื่อนฝูง ในขณะเดียวกัน เซียนพระท้องถิ่นก็มักจะไปขอเช่าต่อมาอีกทอดหนึ่ง จนเกิดการซื้อขายขึ้นมาในภายหลัง และเป็นที่นิยมกันทั่วไป เพราะเหรียญของท่านมีประสบการณ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านแคล้วคลาดปลอดภัย และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างขวาง

            ขอขอบพระคุณ บอย ท่าพระจันทร์ เจ้าของเหรียญพระอาจารย์ฝั้น ทั้ง ๒ เหรียญที่เห็นในภาพนี้