พระเครื่อง

สรรพวิชา'เถรส่องบาตรหาของหาย'วัดช้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตามหาของหายที่วัดช้างด้วยสรรพวิชา'เถรส่องบาตรหาของหาย' : ท่องแดนธรรม เรื่องและภาพไตรเทพ ไกรงู

              "วัดช้าง" ต.บ้านนา อ.บ้านนา จ.นครนายก เริ่มสร้างมาแต่ปีใดไม่ผู้ใดทราบแต่มีคนเก่าแก่เล่าต่อกันมาว่าเดิมที่เดียวบริเวณ วัดที่ตั้งอยู่นี้เคยเป็นที่พักช้างของทางราชการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีปะรำพิธีรับช้างอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกของวัดเป็นที่ราบลุ่ม บริเวณรอบๆ เป็นป่าดงดิบรกชัฏหาแสงส่องลงมาถึงพื้นมิได้เลย เต็มไปด้วยโรคร้ายไข้ป่าที่ชุกชุม และเต็มไปด้วย สัตว์ป่าที่ดุร้ายนานาชนิด รวมทั้ง “ช้างป่า”
       
              บริเวณที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลบ้านนาในปัจจุบันนี้ เมื่อในสมัยนั้นเป็นเวิ้งบึงใหญ่ยาวหลายเส้น ลึกและน้ำใสเย็นอยู่ชั่วนาตาปี เคยเป็นที่อยู่และสุสานของโขลงช้างป่าซึ่งได้มาลงเล่นกินน้ำในบึงนี้ และรอบๆเป็นป่าดงดิบมีแมกไม้หลายชนิดหนาแน่นขึ้นเต็มไปหมด โดยเหตุนี้เอง ทางราชการกรุงศรีฯจึงเอาที่บริเวณนี้สงวนไว้เป็นของหลวงสร้างโรงช้างขึ้นไว้ ต่อมาหลายปีก็มีชาวบ้านอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา พากันมาพร้อมกับเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งทางราชการส่งมาที่วังช้าง และมาตะพุ่น (เลี้ยง) ช้างที่จับได้จึงสร้างทับกระท่อมเป็นบ้านเรือนขึ้นเริ่มหนาแน่นหลายครัวเรื่อยมา กลายเป็นว่ามีผู้คนมาอาศัยอยู่มาก เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและของป่า ไม่เหมาะสมแก่การจะทำเป็นโรงช้างต่อไป จึงได้เลื่อนโรงช้างไปทางด้านทิศเหนือ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “บ้านท่ามะเฟือง” กล่าวต่อมากลายเป็นที่ของ “ครูถิน” ในปัจจุบันนี้ ก็แลที่บริเวณนี้เป็นที่หลวงเรียกว่าที่ราชพัสดุ (ที่บริเวณด้านทิศเหนือของวัดไม้รวกซึ่งยังมีโรงฝึกช้างและโรงพักช้างให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้)

              บริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบันนี้ ภายหลังมีราษฎรมาจับจองที่ทางทำนาทำไร่ เจ้าของที่ดินเดิมที่อุทิศให้สร้างเป็นวัดวาอารามครั้งแรกทีเดียวมีนามว่า “นางหับกับนางเอิบ” เป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน การที่พอสร้างวัดขึ้นแล้วมีชื่อว่า “วัดช้าง” ก็เพระเหตุว่า เป็นแหล่งที่ช้างป่าพาโขลงมากินมาเล่นน้ำ ซึ่งบริเวณนี้เป็นบึงเก่ามีมาแต่โบราณแล้ว และภายหลังแม้จะย้ายโรงฝึกโรงพักช้างไปไว้บ้านท่ามะเฟืองแล้ว เวลาไล่ช้างเข้าเพนียดกรุงศรีอยุธยาก็ต้องมาแวะพักช้างที่บริเวณข้างวัดนี้ต่อๆ มาอีกเป็นประจำ

              เมื่อเริ่มทำการก่อสร้างวัดมี “หลวงพ่อคุ้ม” เป็นผู้ริเริ่มร่วมมือกับชาวบ้าน ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไสยเวชวิชาอาคม กล้าแข็ง จึงได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ต่อมาก็ได้มีกำลังทหารหมู่หนึ่งได้ทำการต้อนช้างป่ามาหลบพักอาศัยอยู่ที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญ แต่เนื่องจากได้เกิดมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้ทหารกลุ่มนั้นไม่สามารถหากิ่งไม้แห้งมาทำเป็นฟืนก่อไฟเพื่อหุงต้มอาหารได้ ทหารกลุ่มนั้นจึงได้ใช้วิชาบังตา หลอกหลวงพ่อคุ้ม แล้วแอบใช้มีดถากเสาศาลาการเปรียญเพื่อเอาไม้มาทำฟืนหุงข้าว
 
              แต่หลวงพ่อคุ้มนั้น มีวิชาอาคมที่เหนือกว่า จึงทำให้ทหารกลุ่มนั้นไม่สามารถใช้วิชาบังตากับหลวงพ่อคุ้มได้ การกระทำของทหารที่บังอาจมาลองดีกลุ่มนั้น หลวงพ่อท่านล่วงรู้ด้วยญาณวิเศษ แต่ท่านก็ไม่ได้ว่ากล่าวหรือห้ามปรามการกระทำนั้นแต่อย่างใด คงปล่อยให้เหล่าทหารได้กินข้าวกินปลากันจนเป็นที่เรียบร้อย และนอนหลับไปในที่สุด เมื่อทหารกลุ่มนั้นนอนหลับกันหมด แล้ว หลวงพ่อคุ้มจึงได้ใช้วิชากำบัง ทำการสั่งสอนแก้เผ็ดทหารเหล่านั้น โดยการนำเอากะลามะพร้าว ไปวางครอบไว้บนหัวของช้างที่ทหารเหล่านั้นต้อนมาผูกไว้ใต้ศาลาจนครบหมดทุกตัวกระทั่งรุ่งเช้า

              เมื่อทหารกลุ่มนั้นตื่นนอนขึ้นมา ก็ไม่พบช้างของพวกตนที่ผูกไว้ที่โคนเสาแล้ว แม้จะออกตามหาไปจนทั่วก็ไม่มีวี่แววแต่อย่างใด ต่างพากันสำนึกผิดจึงได้พากันเข้าไปกราบขอขมาอภัยที่ได้ล่วงเกินหลวงพ่อไป ซึ่งหลวงพ่อคุ้มท่านก็มีเมตตาให้อภัยในโทษนั้น และให้ทหารพวกนั้นไปทำการตัดต้นไม้มาทำเสาศาลาการเปรียญให้เรียบร้อยดังเดิม จากนั้นหลวงพ่อท่านก็ถอนอาคม และคืนช้างให้กับทหารกลุ่มนั้นไป
 
              หลวงพ่อคุ้ม ได้ร่วมกับชาวบ้านก่อสร้างวัดจนสำเร็จลุล่วง ใน เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๓ ชาวบ้านก็ได้ตั้งชื่อวัดตามท้องถิ่นที่อยู่นั้นว่า “วัดช้าง “และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ ปัจจุบันสภาพป่าดงดิบได้หายไปหมดแล้วกลายเป็นตัวอำเภอบ้านนา

              วัดช้างนอกจากมีหลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แล้ว บริเวณผนังด้านนอกของวิหารหฃลวงพ่อดำได้มีการจัดทำพระราชประวัติสมเด็จพระเรศวรตั้งแต่พระราชมภพชนถึงสิ้นพระชน เพื่อเทิดพระเกียรติ


เถรส่องบาตรหาของหาย

              ปัจจุบันวัดช้างมี พระครูโสภณนาคกิจ หรือ พระอาจารย์เดช เจ้าคณะตำบลพิกุลออก เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นศิษย์เอกสายตรงก้นกุฏิ “พระครูธวัชภัทราภรณ์" หรือ "พระอาจารย์ต๊ะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำนานการสร้าง “พระกริ่งใหญ่ วัดช้าง” อันลือลั่น เป็นที่รู้จักกันดีในวงการผู้ที่นิยมพระกริ่งในเมืองไทย ทั้งนี้พระกริ่งวัดช้างถือเป็นพระกริ่งที่มีความเป็นมาเกี่ยวพันกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม

              พระอาจารย์เดช นอกจากเป็นพระนักพัฒนาแล้ว ท่านยังสนใจศึกษาเรื่องเวทมนต์คาถาอาคมอักขระเลขยันต์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิชาดูบาตรหาของหาย หรือ วิชาเถรส่องบตร ซึ่งเดิมที่นั้นสรรพวิชาเถรส่องบาตร เป็นของ "พระครูพิศาลธรรมประยุต" หรือ "หลวงพ่อเกิด ปุณณปัญโญ" อดีต เจ้าอาวาสวัดสะพาน ต.อาษา อ.บ้านนา จ.นครนายก จากนั้นถูกถ่ายทอดมายังหลวงพ่อพระครูภัทรกิจโกศล หรือหลวงพ่อภู ภัททญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง ก่อนที่จะถ่ายทอด “พระครูธวัชภัทราภรณ์" หรือ "พระอาจารย์ต๊ะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง

              ในอดีตนั้นวิชาเถรส่องบาตร เข้าใจว่า หลวงพ่อเกิดจะดูเรื่องควายที่ถูกขโมยเป็นหลัก เพราะสมัยนั้นโจรขโมยควายชุกชุม เมื่อควายตายจากและหมดความสำคัญต่อชาวนา จึงเปลี่ยนเป็นรถไถ รถยนต์ ซึ่งมาสู่รุ่นของหลวงปู่ภู และอาจารย์ต๊ะ ก็เปลี่ยนมาดูรถไถ รถยนต์ ของมีค่าทุกชนิด รวมทั้งคนหายด้วย

              พระอาจารย์เดชเริ่มใช้วิชาเถรส่องบาตรช่วยหาของหายโปรดชาวบ้านมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ หลังจากอาจารย์ต๊ะมรณภาพ โดยในช่วงแรกๆ ญาติโยมจะของให้ใช้วิชาช่วยดูของมีค่าหาย เมื่อกิตติศัพท์ร่ำลือออกไป ทำให้มีคนมาขอให้ช่วยดูรถยนต์ที่หาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และน่าอัศจรรย์ใจว่า กว่าครึ่งหนึ่งของรถที่หายไปสามารถหาพบ ที่ยิ่งกว่านั้น คือ แม้ชำแหละเป็นซากก็หาเจอ

              "วิชาเถรส่องบาตรหาของหาย เป็นเรื่องของความเชื่อ ในกรณีดูรถหายจะดูอยากเพราะเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ แต่ถ้าเป็นของที่อยู่กับที่ดูง่าย ถ้าจะให้ตามเจอต้องมาดูภายใน ๗ วัน หากนานกว่านั้นเป็นเรื่องยากที่จะดูว่าอยู่ที่ไหน ทั้งนี้จะดูเส้นทางการเคลื่อนที่ของรถ ไปไกลจากจุดเกิดเหตุ และสถานที่เก็บรถว่าลักษณะโดยรอบนั้นเป็นอย่างไร อาตมาเป็นเพียงผู้ประกอบพิธีเพื่อเป็นแนวทางในการค้นนหาเท่านั้น" พระอาจารย์เดชกล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ