พระเครื่อง

'สวัสดิ์'ผู้สร้าง'พระหลวงพ่อทวด'(เบตง)

'สวัสดิ์'ผู้สร้าง'พระหลวงพ่อทวด'(เบตง)

17 ก.พ. 2556

ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลกีฎา ผู้สร้าง 'พระหลวงพ่อทวด' รุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) : เส้นทางนักพระเครื่อง ตาล ตันหยง

              ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่สร้างขึ้นและปลุกเสกโดย ท่านพระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ทุกรุ่นทุกเนื้อทุกพิมพ์ เป็นที่แสวงหากันอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ในวงการพระเครื่อง แม้ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็นิยมเช่าหาเช่นกัน นับตั้งแต่รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นพระเนื้อว่าน, เหรียญรุ่นต่างๆ, พระเนื้อโลหะ (หลังเตารีด หลังตัวหนังสือ พระรูปเหมือนลอยองค์), พระบูชารูปเหมือน, ผ้ายันต์ ฯลฯ

              โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด ปี ๒๕๐๕ ทั้งเนื้อทองผสม และเนื้อนวโลหะ เช่าหากันถึงหลักล้านขึ้นไป

              รวมทั้ง พระรูปเหมือน รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๒๕๐๕ หล่อโบราณ ออกที่วัดพุทธาธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา สนนราคาอยู่ที่หลักล้านเช่นกัน

              เบื้องหลังการสร้าง พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) ปี ๒๕๐๕ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ คือ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลกีฎา ซึ่งเมื่อปี ๒๕๐๕ ท่านได้เดินทางไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นครั้งแรก สมัยนั้นการเดินทางไป อ.เบตง เป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะเส้นทางผ่านป่าเขา ถนนไม่ได้ลาดยาง มีรถประจำทางวิ่งวันละ ๑ เที่ยวเท่านั้น บางครั้งดินบนเขาพังทลายลงมาปิดถนนก็มี การเดินทางบางครั้งจึงมีผู้นิยมผ่านทางด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา เข้าเขตมาเลเซีย แล้วจึงย้อนกลับมาที่ อ.เบตง ซึ่งเป็นหนทางที่สะดวกกว่ากัน

              จุดเริ่มต้นของการสร้าง พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) ปี ๒๕๐๕ มาจาก คุณรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา  นางเอกหนังไทยชื่อดัง ซึ่งภายหลังได้เป็นผู้จัดสร้างหนังไทยหลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนทุกเรื่อง คุณชะลอ เชาวน์ดี นายด่านศุลกากร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ชอบนั่งสมาธิ จึงได้แนะนำให้คุณรัตนาภรณ์ขอพรจาก หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ปรากฏว่าหนังเรื่องต่อมาของคุณรัตนาภรณ์ประสบผลสำเร็จ ไม่ขาดทุน คุณรัตนาภรณ์จึงได้ตอบแทนคุณชะลอด้วยการมอบหนังที่ตนสร้างให้ชาวเบตงชมฟรี แต่นายด่านชะลอกับท่านสวัสดิ์เห็นว่าน่าจะเก็บเงินค่าดูหนังเพื่อเอาไว้ใช้เป็นการกุศล ปรากฏหนังของคุณรัตนาภรณ์ที่เปิดฉายให้ชาวเบตงชมนั้น คืนเดียว ๒ รอบ เก็บเงินได้ถึงกว่า ๓ หมื่นบาท ซึ่งนับว่ามากมายในสมัยนั้น ท่านสวัสดิ์, คุณชะลอ และชาวเบตง เห็นว่าเงินจำนวนนี้น่าจะนำมาสร้าง รูปหล่อหลวงพ่อทวด  เพื่อประดิษฐานไว้ที่ อ.เบตง สักองค์หนึ่ง เพราะชาวเบตงเคารพศรัทธาหลวงพ่อทวดมาก แต่การเดินทางไปกราบไหว้ถึงวัดช้างให้ในสมัยนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก จึงตกลงหล่อ รูปเหมือนหลวงพ่อทวด  ขนาดหน้าตัก ๒๓ นิ้ว ประมาณเท่ากับองค์จริง ปรากฏว่าเงินกว่า ๓ หมื่นบาทที่ได้จากฉายหนังใช้ไปในการหล่อพระหลวงพ่อทวดไม่ถึงหมื่นบาทเท่านั้น

              เมื่อได้รูปหล่อหลวงพ่อทวดมาแล้วจะประดิษฐานที่ไหน ที่เหมาะสมก็ต้องเป็นที่วัดพุทธาธิวาส ซึ่งเป็นวัดใหญ่ในตัวเมืองเบตง ทางวัดก็ยินดีให้ประดิษฐาน แต่คณะกรรมการต้องสร้างวิหารให้ด้วย ซึ่งต้องใช้เงินแสน ช่วงนั้นนายด่านชะลอย้ายกรุงเทพฯ พอดี ผู้ที่ต้องรับหน้าที่เป็นหัวเรือก็คือ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช

              ท่านสวัสดิ์ กล่าวถึงตรงนี้ว่า “การหาเงินก้อนนี้คิดดูแล้วก็ต้องสร้างพระรูปเหมือนหลวงพ่อทวดขนาดเล็กแบบห้อยคอ ให้ชาวเบตงช่วยกันทำบุญบูชา ครั้งแรกคิดว่าจะสร้างเป็นพระเนื้อว่าน แต่เมื่อไปขออนุญาตจากพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ท่านบอกว่า หลวงพ่อทวดเคยนิมิตบอกว่า พระเนื้อว่านให้สร้างครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น การสร้างพระหลวงพ่อทวด รุ่นต่อไปจึงต้องเป็นรูปแบบอย่างอื่น  พอดีวันหนึ่งผมนั่งรถไฟซึ่งเป็นรถด่วนสุไหงโก-ลก ถึงกรุงเทพฯ ได้นั่งติดกับผู้โดยสารคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เขาได้ให้พระรูปหล่อองค์หนึ่งแก่ผม ซึ่งตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นหลวงพ่ออะไรวัดไหน มาทราบภายหลังว่าเป็นรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ซึ่งหลวงปู่นาค วัดระฆัง สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๕ ผมรู้สึกชอบมาก จึงนำพระองค์นี้ไปให้ท่านอาจารย์ทิมพิจารณาว่าจะสร้างพระหลวงพ่อทวดในรูปแบบนี้ ท่านบอกว่า สวยดี พร้อมกับอนุญาตให้ผมสร้างพระหลวงพ่อทวดตามตัวอย่างที่ให้ท่านดู”

              ท่านสวัสดิ์บอกว่า ที่ผ่านมาท่านไม่เคยสร้างพระเครื่องมาก่อน และไม่รู้จักใครในวงการนี้ พอดีนายด่านคนใหม่ที่ย้ายมาอยู่เบตง คือ คุณสุรพล อติชาตนันท์  บอกว่าเป็นญาติกับ นายช่างหรัส พัฒนางกูร ช่างหล่อพระชื่อดังสมัยนั้น ผู้รับการหล่อพระวัดสุทัศนฯ เป็นประจำ จึงได้พาท่านสวัสดิ์ไปรู้จักที่โรงหล่อพระ ตรอกบ้านช่างหล่อ พรานนก ธนบุรี

              “งานหล่อพระรูปเหมือนหลวงพ่อทวด นายช่างหรัสจึงรับไปทำทั้งหมด เพราะผมไม่มีความรู้ทางด้านนี้จริงๆ  เริ่มตั้งแต่การขึ้นหุ่น การหลอมโลหะ  การเททอง การบรรจุผงใต้ฐาน การตอกหมายเลของค์พระ ช่างหรัสเป็นผู้จัดหาจัดทำทั้งหมด คิดเป็นเงินองค์ละ ๒๐ บาท จำนวนสร้าง ๙๙๙ องค์ รวมเป็นเงิน ๑๙,๙๘๐ บาท นับเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ ๔-๕ บาท กาแฟดำแก้วละ ๕๐ สตางค์ เงินเดือนเสมียนขั้นต้น ๔๕๐ บาท เมื่อนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับชาวเบตง ทุกคนบอกตรงกันว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ พวกเขาจะช่วยกันเอง ผมเป็นคนต่างถิ่นยังช่วยพวกเขาได้ ทำไมพวกเขาถึงจะช่วยผมไม่ได้ ผมได้ฟังแล้วก็ซาบซึ้งใจพี่น้องชาวเบตงจริงๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังระลึกนึกถึงความมีน้ำใจของชาวเบตงอยู่เสมอ” ท่านสวัสดิ์กล่าวในตอนหนึ่ง

              ในการเททอง นายช่างหรัส ได้นิมนต์ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นผู้ประกอบพิธีที่โรงงานหล่อพระบ้านช่างหล่อ เมื่อตกแต่งองค์พระเสร็จแล้ว พระอาจารย์ทิม ได้นำผงว่านที่เหลือจากการสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ ขึ้นมากรุงเทพฯ บรรจุใต้ฐานองค์พระหลวงพ่อทวดด้วยตัวท่านเอง ที่โรงหล่อของช่างหรัส

              หลังจากนั้นช่างหรัสได้ปิดรูใต้ฐานองค์พระที่บรรจุผงว่าน ๒๔๙๗ (ไม่มีเม็ดกริ่ง) ตกแต่งให้เรียบร้อย พร้อมกับตอกเลขอารบิก ตั้งแต่หมายเลข 1 เรียงลำดับไปจนถึงองค์ที่  999 เป็นที่เรียบร้อย (มีเผื่อเสียไม่กี่องค์) แล้วนำพระทั้งหมดไปถวายพระอาจารย์ทิม ที่วัดช้างให้ โดยท่านได้ทำพิธีปลุกเสกให้เมื่อต้นปี ๒๕๐๕ (ก่อนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นวันทำพิธีปลุกเสกพระหลวงพ่อทวด รุ่นหลังเตารีดและหลังตัวหนังสือ)

              “เสร็จพิธีปลุกเสกแล้ว ผมได้นำพระทั้งหมดกลับไปเบตง ให้ทำบุญบูชาองค์ ๑๐๐ บาท ซึ่งนับว่าแพงมากสำหรับสมัยนั้น แต่พลังศรัทธาของชาวเบตงมีมากมายมหาศาล ทำให้พระหลวงพ่อทวด ๙๙๙ องค์หมดไปในเวลาไม่นานนัก นอกจากได้จ่ายค่าสร้างพระ ๑๙,๙๘๐ บาทให้ช่างหรัสไปหมดแล้ว ยังเหลือเงินอีกเกือบ ๘๐,๐๐๐ บาท ที่ตั้งใจว่าจะนำไปสร้างวิหารประดิษฐานหลวงพ่อทวดก็ไม่ต้องใช้ เพราะพี่น้องชาวเบตงช่วยเหลือกันก่อสร้างจนสำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยดี เงินที่เหลือนี้จึงได้นำไปซื้อดินถมขยายบริเวณหน้าวิหารหลวงพ่อทวดให้กว้างขึ้น ดังที่เห็นในทุกวันนี้...พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน หรือรุ่นเบตงนี้ สมัยนั้นไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เป็นการบอกกล่าวกันปากต่อปากเท่านั้น ผู้คนจำนวนมากพากันไปเช่าบูชาอย่างต่อเนื่อง บางคนมาจากต่างอำเภอของยะลา และต่างจังหวัด เช่น ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ก็มี ทั้งๆ ที่สมัยนั้นการเดินทางไป อ.เบตง ลำบากมาก  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพลังศรัทธาของชาวใต้ที่มีความเคารพเลื่อมใสในบารมีหลวงพ่อทวดอย่างแท้จริง พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน จึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จากการทำบุญองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๐๕ มาถึงทุกวันนี้ เวลาผ่านมา ๕๐ ปี พระรุ่นนี้มีการเช่าหากันถึงหลักล้าน ผมในฐานะผู้มีส่วนสร้างพระรุ่นนี้ก็ย่อมรู้สึกภาคภูมิใจเป็นธรรมดา” ท่านสวัสดิ์กล่าวในที่สุด

              และนับเป็นข่าวดีที่ท่านสวัสดิ์ได้อนุญาตให้ คุณเสริมศักดิ์ สิงหพงศ์ ห้องภาพสุธาสินี และ คุณกุลเชษฐ์ กัลยาณมิตร จัดทำหนังสือ “๕๐ ปี หลวงพ่อทวด เลขใต้ฐานเบตง ปี ๐๕” ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องราวการสร้างพระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) ซึ่งมีภาพประกอบมากมาย รวมทั้งลักษณะของตัวเลขที่ตอกใต้ฐาน ซึ่งถือเป็น “โค้ด” อย่างหนึ่งที่พิสูจน์พระแท้ได้แล้วก็ยังมีภาพพระหลวงพ่อทวด อีกหลายรุ่น รวมทั้งการจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดรุ่นต่างๆ ของท่านสวัสดิ์อีกด้วย ขณะนี้หนังสือเล่มนี้มีจำหน่ายแล้ว เล่มละ ๑,๖๐๐ บาท ติดต่อได้ที่ “เบนซ์ ทวีทรัพย์” โทร.๐๘-๗๖๙๕-๓๙๙๙