พระเครื่อง

พระพิมพ์พุทธคยาพระกรุที่จารึกคาถาหัวใจพุทธ

พระพิมพ์พุทธคยาพระกรุที่จารึกคาถาหัวใจพุทธ

24 ม.ค. 2556

พระพิมพ์พุทธคยาพระกรุที่จารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา : พระกรุกรุงศรีอยุธยา โดยมโนนัย อัศธีระนันท์

                เดิมที “พระพิมพ์พุทธคยา” นี้ พบเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคว้นพิหารและเบงกอล (ระฆัมปุระ,นาลันทา และพุทธคยา) จัดเป็นพระพิมพ์ที่สร้างขึ้นเป็นลำดับแรกๆ ในพุทธศาสนา จัดอยู่ในหมวดศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗) ใต้ฐาน “พระพิมพ์พุทธคยา” จะมีจารึก “คาถา เย ธมมา” หรือที่เรียกกันว่า คาถาหัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้

                เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสํจ โย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณติ

                แปลว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น” พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ ในพุทธประวัติ ผู้เผยแพร่พระวัจนะนี้เป็นองค์แรก คือ พระอัสสชิ ๑ ในพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งได้เปล่งวาจา อันถือเป็นการอธิบายหลักของพระพุทธศาสนาจากพระตถาคต แจงเหตุของการหลุดพ้นแล้วของตน ด้วยคาถาบทสั้นๆ นี้ แด่ อุปติสสะปริพพาชก ซึ่งต่อมาคือ “พระสารีบุตร”และอุปติสสะปริพพาชก ก็ได้เอ่ยพระวัจนะนี้แด่สหายร่วมสำนัก คือ โกลิตตะปริพพาชก ซึ่งต่อมาก็คือ “พระโมคคัลลา” นั่นเอง

                “คาถา เย ธมมา” บทนี้ เป็นการประกาศถึงเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา เป็นธรรมบทแรกๆ ซึ่งมุ่งเข้าถึงจิตใจของผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนการป่าวประกาศและเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปในดินแดนต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นพระคาถาที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ในอันที่จะจารึกอยู่บนพระพิมพ์ อันเป็นสื่อในการประกาศ “พระพุทธวัจนะ” ให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจโดยทั่วกัน

                อีกนัยหนึ่ง “คาถา เย ธมมา” นี้ ยังเป็นเสมือนบทนำที่ทำให้ผู้ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้ระลึกถึงคำสั่งสอนอื่นๆ เป็นมนต์อันวิเศษ เพราะคาถานี้เองจึงได้เกิดอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ขึ้นมา อันได้แก่ พระโมคคัลลา และพระสารีบุตร

                ใน พ.ศ.๒๔๗๕ สืบเนื่องจากมีการบุกรุกขุดค้นหาสมบัติในราชวังเดิม (วัดพระศรีสรรเพชญ์) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระเจดีย์เป็นอันมาก ทางหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับโบราณสถานโบราณวัตถุในสมัยนั้น อันได้แก่ ราชบัณฑิตยสภา จึงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการขุดค้นและบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์ ได้มีการค้นพบพระพิมพ์นี้ ในกรุวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งพบในพระเจดีย์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระพิมพ์ที่จารึกคาถานี้สร้างด้วยเนื้อดีบุกผสม (เนื้อชินเงิน) มีขนาดสูงประมาณ ๒๐ ซม. กว้างประมาณ ๑๕ ซม. พุทธลักษณะใกล้เคียงกับ พระพุทธเมตตา (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) ที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาโพธิ์เจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย (สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้) ซึ่งเป็นการค้นพบ “พระพิมพ์พุทธคยา” ที่จารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

                พระคาถานี้จารึกเป็นภาษาบาลี เป็นตัวเขียนด้วยตัวอักษรคฤนถ์ จารึกอยู่บริเวณด้านล่างใต้ฐานองค์พระ

                ครั้น พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้มีการค้นพบพระพิมพ์นี้ ที่กรุวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพุทธลักษณะแบบเดียวกับที่พบในกรุพระราชวังเดิมทุกประการ

                ภายหลังยังได้พบ “พระพิมพ์พุทธคยา” นี้ ที่ ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สร้างด้วยเนื้อตะกั่ว แต่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งองค์พระพุทธเป็นปางประทับห้อยพระบาท ซึ่งแตกต่างจากที่พบในประเทศอินเดีย และที่พบใน จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ก็มีจารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

                นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์นี้ที่กรุอื่นๆ ใน จ.กาญจนบุรี ในเวลาต่อมายังพบ “พระพิมพ์พุทธคยา” ที่ จ.ลำพูน ศิลปะใกล้เคียงกับที่พบใน จ.พระนครศรีอยุธยา แต่สร้างด้วยเนื้อดินเผา รวมไปถึงที่ จ.นครปฐม พบพระเนื้อดินเผาแบบพุทธคยาด้วยเช่นกัน แต่ไม่สวยงามเท่าที่พบใน จ.พระนครศรีอยุธยา

               “พระพิมพ์พุทธคยา” เป็นพระที่หาชมพระแท้ๆ ได้ยากมาก ผู้ที่เคารพบูชาในปัจจุบัน มักมีความศรัทธาในแง่ที่ว่า เป็นพระที่ตั้งบูชาเพื่อป้องกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่านิยมที่มักจะเกิดขึ้นกับพระพิมพ์หรือพระแผงที่มีขนาดใหญ่

                จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมด “พระพิมพ์พุทธคยา” จึงมีความสำคัญยิ่งในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศิลปะที่สวยงามอลังการ ผนวกกับจารึกอักษรโบราณ ที่แสดงถึง “พระวัจนะ” อันถือเป็นคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา ยังเพิ่มคุณค่าให้แก่พระพิมพ์นี้เป็นอันมาก

                จึงกล่าวได้ว่า พระพิมพ์พุทธคยา เป็นพระกรุที่สร้างสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อเผยแพร่และแสดงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว