พระเครื่อง

จาก'ชนกโปรเจกต์'สู่'ปทุมมามหาสิกขาลัย'

จาก'ชนกโปรเจกต์'สู่'ปทุมมามหาสิกขาลัย'

19 ม.ค. 2556

จาก'ชนกโปรเจกต์'สู่ 'ปทุมมามหาสิกขาลัย' 'จิตอาสาศึกษา' สร้างคุณธรรมในเยาวชน : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยนภาพร แจ่มทับทิม

                จากการผสมผสานองค์ความรู้งานด้านจิตอาสาที่ พระปกรณ์วินณ์ ฐิตวํโส เลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแล "กองทุนแสงตะวัน" โครงการสนับสนุนเด็กเรียนดีแต่ยากไร้ในชนบทจากท่านเจ้าอาวาสเมื่อ ๔ ปีก่อน ได้จุดประกายให้ท่านเห็นมุมมองทางศาสนาของเด็กรุ่นใหม่ จนเกิดการรวมตัวของเครือข่ายจิตอาสาวัดปทุมฯ ในชื่อ "กลุ่มบัวลอย" แบรนดิ้งจิตอาสา ทำกิจกรรมสื่อสารธรรมะกับคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบนิตยสาร ภาพยนตร์สั้น ฯลฯ

                 ช่วงเวลาของการบุกเบิกที่พระปกรณ์วินณ์ ซึ่งก่อนบวชเคยเป็นครีเอทีฟจากค่ายเพลงดัง เมื่อบวชเรียนแล้ว จึงผสานเทคนิคการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ทางโลกมาผนวกกับแก่นธรรม รับบทบาทเป็นที่ปรึกษา ดูแล นิตยสารธรรมะดีไซน์ในชื่อ "บัวลอย" เรียกว่าไม่ได้สวยหรู มีภาระหนี้สินต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทั้งหมด คงไม่หนักหนาเท่ากับเมื่อกิจกรรมต่างๆ ต้องสะดุดลง ตอนที่วัดปทุมฯ ตกอยู่ในวงล้อมของการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓

                 ท่านเล่าว่า ช่วงที่อยู่ภายในวัด รู้สึกสังเวชใจกับมนุษย์ หลังจากเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ ยิ่งทำให้เกิดพลังในการทำกิจกรรมเผยแผ่ธรรมอย่างเต็มรูปแบบ โครงการสื่อสารธรรมะกับคนรุ่นใหม่ที่ริเริ่มก่อนหน้านั้น ดำเนินไปด้วยการทำงานด้วยจิตอาสาของเด็กที่รู้สึกสนุกสนานกับได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ คล้ายมีแซ่มาหวดให้คนทำงานต้องเผชิญกับมหกรรมทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งก็ไม่ต่างกับการดำเนินโครงการในขณะนี้

                 “การลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอีกครั้ง ยังคงถูกทดสอบทั้งบทบาทการทำงานของสงฆ์ เพราะใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจ หรือแม้กิจกรรมของวัดปทุมฯ จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็ทำให้ต้องเผชิญกับความทุกข์ที่เกิดตามแรงเหวี่ยงการเติบโตของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งยังคงต้องเรียนรู้กัน"

                 แรงผลักดันจากภายในและภายนอกได้ทำให้จิตอาสาทุ่มเทแรงกายแรงใจ ฮึดสู้ทำงานกันต่อนับตั้งแต่งานจัดกิจกรรมในปีพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มาถึงการจัดกิจกรรม ปฏิบัติธรรม เสวนา คนเสิร์ตธรรมะ ในตอน 'ชนกโปรเจกต์' ภายใต้โครงการใหญ่คือการจัดสร้าง "ปทุมมามหาสิกขาลัย" เริ่มต้นโดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภาคีเครือข่ายธรรมจากภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุน

                 พระปกรณ์วินณ์ กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากเมื่อเรานำธรรมะไปเผยแพร่กับเยาวชน เด็กมักจะตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้เจ็ดก้าวจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ แต่การนำเสนอเรื่องราวของพระมหาชนก พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ได้บำเพ็ญเพียรยิ่งใหญ่ ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวความเพียรที่บริสุทธิ์ที่พวกเขาสัมผัสได้ ขณะเดียวกันเยาวชนยังได้ระลึกถึงองค์พระมหากษัตรย์ที่ทรงอุทิศพระวรกายทำงานหนักเพื่อประชาชน 

                 "ในแต่ละปี ทางวัดปทุมฯ จะพิจารณาว่า มีแนวทางการส่งเสริมเยาวชนให้เข้าสู่การศึกษาธรรมในลักษณะใดบ้าง ซึ่งวัดปทุมฯ เป็นวัดที่มีความใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดล จึงได้นำหลักความเพียรที่บริสุทธิ์มาให้กับเยาวชนได้เรียนรู้ ในเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๖ ทางวัดจะมีการขยับขยายโครงการการเผยแผ่พระธรรมในรูปแบบการสัญจร โดยตั้งเป้าหมายไว้ในสถานศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน และโรงเรียนมัธยม โรงเรียนกวดวิชา ในเขตปทุมวันให้เข้ามามีส่วนร่วม" 

                 กอปรกับในปีนี้ยังมีความสำคัญยิ่งเนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย จะทรงมีพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี ท่านมีงดงามทั้งความเป็นอริยสงฆ์ และผู้นำทางจิตวิญญาณ สร้างคุณูปการต่อสังคมไทยมากมาย ซึ่งเยาวชนควรจะได้เรียนรู้

                 แม้ความมุ่งหมายดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ดีงามในการนำธรรมะเชื่อมโยงกับสังคม ชุมชนรอบบริเวณของวัดปทุมวนาราม หากแต่งานดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะราบรื่น

                 “พูดในทางธรรม ในดีก็มีเสีย ในเสียก็มีดี เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของโลกได้  จึงทำงานขึ้นมาเพื่อให้คนได้เห็นผลงานในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หรือไม่ถูกติฉินนินทา เหมือนครั้งหนึ่งวัดปทุมฯ ถูกมองว่ามีนัยทางการเมือง

                 “การทำงานจัดกิจกรรมออกสู่ภายนอก คนทำงานก็ยังถูกกระทบกระทั่งอยู่ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่ง เมื่อไปดูรากเหง้าของพระพุทธเจ้า ท่านไม่เคยปฏิเสธในเรื่องโลกธรรม การทำงานของกลุ่มจิตอาสาที่โดนถากถาง หัวเราะเยาะ ทำให้เราปฏิเสธความจริงของโลกไม่ได้ มีเพียงการทำหน้าที่ให้ดี แสดงผลงานออกไป เมื่อบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้ แล้วจะทำอย่างไรให้โครงการปทุมมามหาสิกขาลัยฯ ดำเนินโครงการต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างน้อยในระยะเวลา ๕ ปี โครงการน่าจะเริ่มต้นเดินได้ ซึ่งการสร้างความรู้ทางธรรมยังสอดคล้องกับหลักการแก้ปัญหาของพระมหาชนกเรื่องต้นมะม่วงด้วยการปลูกฝังสร้างโพธิยาลัย อันเป็นที่มาของปูย์ทะเลมหาวิทยาลัย โดยอาศัยความรู้ที่ยิ่งใหญ่เป็นทางแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

                 “เพราะบ้านเมืองอาจจะแก้ไขปัญหาคนไม่ได้เสียทั้งหมด  เมื่อทำงานเสร็จ พระธรรมธัชมุนี หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านจะอบรมธรรมะหลังการทำงานของจิตอาสาเสมอ ท่านบอกว่าอย่ามองโลกด้านสุขเพียงด้านเดียว ทุกอย่างมีทุกข์และทุกข์ก็ทำให้เกิดปัญญา เมื่อผ่านทุกข์ไปแล้ว เราจะพบสุขที่แท้ เมื่อเราถูกตำหนิ ว่ากล่าว ทั้งหมดเป็นโลกธรรมที่จะทำให้เราไม่เหลิง

                 "หากวัดปทุมฯ ไม่ผ่านพบเหตุการณ์นี้ก็อาจจะไม่เติบโต ไม่ว่าวัดจะถูกยึดโยงไปอย่างไร สิ่งที่เดียวที่เราจะสามารถกระได้คือการทำงานที่ดีมีคุณภาพขึ้นมา เพื่อให้เกิดการเติบโตทางธรรมจากการลงมือทำงาน ซึ่งงเป็นหลักคิดที่จิตอาสาได้เรียนรู้ สอดคล้องกับความเพียรที่บริสุทธิ์ หลักคำสอนสำคัญในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก

                 “ที่สำคัญคือการปฏิบัติให้มาก ซึ่งการปฏิบัติคงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเดินอยู่บนพรมแดง โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ศาสนาพุทธที่แท้จริง คือการเดินด้วยเท้าเปล่าที่ร้อนระอุ มีความยากลำบาก เพื่อที่จักเข้าใจว่าธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร”

                 เป้าหมายของ "ปทุมมามหาสิกขาลัย" ก็คงจะดำเนินไปเช่นนั้น !

                 ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการ "ปทุมมามหาสิกขาลัย" ได้ที่ www.watpathumwanaram.com หรือ www.facebook.com/bualoyteamwork  ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเลขานุการโครงการ โทร.08-3076-7670