พระเครื่อง

ฮ.ศ.-ค.ศ.-พ.ศ.๑๔๓๔-๒๐๑๓-๒๕๕๖(๒๕๕๗)

ฮ.ศ.-ค.ศ.-พ.ศ.๑๔๓๔-๒๐๑๓-๒๕๕๖(๒๕๕๗)

04 ม.ค. 2556

ฮ.ศ.-ค.ศ.-พ.ศ.๑๔๓๔-๒๐๑๓-๒๕๕๖ (๒๕๕๗) : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

              การนับศักราชสากลที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือ คริสต์ศักราช ซึ่งเป็นศักราชของคริสต์ศาสนา เริ่มนับเมื่อพระเยซูประสูติในวันคริสต์มาส (๒๕ ธันวาคม) หลังพุทธศักราช ๕๔๓ ปี ซึ่งพระเยซูเป็นศาสดาของคริสต์ศาสนา เริ่มนับเป็นคริสต์ศักราช  ๑ (ค.ศ.๑) หรือ  A.D.๑ ย่อมาจากคำว่า “Anno Domini” การนับศักราช ก่อนที่พระเยซูประสูติ เรียกว่า before christ เขียนย่อๆ ว่า B.C. ตัวอย่าง ๑,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช เขียนว่า ๑,๐๐๐ B.C. หมายความว่า เป็นช่วงเวลา ๑,๐๐๐ ปี ก่อนพระเยซูประสูติ

              ส่วนการนับศักราชไทย ที่ใช้กันปัจจุบัน คือพุทธศักราช ซึ่งเป็นศักราชของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้แล้วการนับศักราชในเมืองไทยยังมีการนับศักราชแบบอื่นๆ ด้วย คือ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) มหาศักราช (ม.ศ.) ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.)
 
              ฮิจญ์เราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๖๕ เมื่อปีที่ท่านนบีมุฮัมมัด อพยพจากเมืองเมกกะ (มักกะหฺ) ไปยังเมืองเมดีนา (มะดีนะหฺ) โดย ฮ.ศ.๑ ตรงกับ พ.ศ.๑๑๖๕  แต่การเทียบรอบปี ของ ฮ.ศ. กับ พ.ศ. มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน โดยทุกๆ ๓๒ ปีครึ่ง ของ ฮ.ศ. จะเพิ่มขึ้น ๑ ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. ปัจจุบัน ฮ.ศ. น้อยกว่า พ.ศ.๑๑๒๒ ปี และน้อยกว่า ค.ศ.๕๗๙ ปี   ฮิจญ์เราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) นิยมใช้ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวไทยมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันใช้ฮิจญ์เราะหฺศักราชเพื่อประกอบศาสนกิจ โดยฟังประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

              จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ.๑ เมื่อปี พ.ศ.๑๑๘๒ โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ในสมัยโบราณถือตามสุริยคติ (คัมภีร์สุริยยาตร) ใช้วันเถลิงศก (ปัจจุบันตกราว ๑๖ เมษายน) เป็นวันปีใหม่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปีเป็นวันสิ้นปี

              คริสต์ศักราช  ค.ศ ปีของพระผู้เป็นเจ้าเยซู คริสต์ หรือ ค.ศ. (อังกฤษ: AD หรือ A.D.) คือปีที่ใช้อ้างอิง โดยเริ่มนับจากปีที่เชื่อกันว่า พระเยซูเกิด และมีอายุครบหนึ่งปี เป็น ค.ศ.๑ ใช้วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนศักราช

              พระธรรมกิตติวงศ์ หรือ เจ้าคุณทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า พุทธศักราช หรือ พ.ศ. คือ ช่วงกำหนดเวลาซึ่งกำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นเบื้องต้นในการกำหนดนับ ซึ่งพุทธศักราชนี้ในประเทศไทยเริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๑ ปี แต่ในประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศกัมพูชานับในปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเลย เช่น ในประเทศไทยเป็นปี พ.ศ.๒๕๕๖ แต่ในพม่าและกัมพูชาเป็น พ.ศ. ๒๕๕๗ ส่วนในประเทศศรีลังกาจะเปลี่ยนศักราชในวันวิสาขบูชา