
'มารยาลวงโลกของปฏิทินมายา'
โลกไม่สิ้นในวันสิ้นโลก เรื่องของ...'มารยาลวงโลกของปฏิทินมายา' : เรื่องและภาพโดยไตรเทพ ไกรงู
ตามคำทำนายของ "ปฏิทินมายา" วันศุกร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) จะเป็น “วันสิ้นโลก!”คำทำนายว่า พ.ศ.๒๕๕๕ หรือ ค.ศ.๒๐๑๒ ถือเป็นปีแห่งหายนะของโลก และมีการพยากรณ์เกิดขึ้นมากมายว่าจะเกิดภัยธรรมชาติเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด เขื่อนแตก และอุกกาบาตพุ่งชนโลก จนสร้างความหวั่นไหวให้กับผู้คน เป็นจำนวนมาก บางส่วนกำลังนับถอยหลังรอคอยความจริงที่จะเกิดขึ้นในวันดังกล่าว
เพื่อเป็นการพิสูจน์คำทำนายของปฏิทินมายา เมื่อค่ำวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ทีมงานพยัคฆ์ภูเพ็กได้รวมตัวกันที่ปราสาทภูเพ็ก ซึ่งเป็นโบราณสถานสร้างในยุคขอมเรืองอำนาจ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาสูง ๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่หมู่บ้านภูเพ็ก ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ทีมงานประกอบด้วยแกนนำ ๔ คน ได้แก่ ๑.นายแพทย์ศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ๒. นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือสุริยะปฏิทินพันปี ๓.อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรือฤาษีเอก อมตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณ และ ๔.นายบุปผา ดวงมาลย์ ผู้นำท้องถิ่นที่รู้จักปราสาทภูเพ็กทุกซอกทุกมุม
อย่างไรก็ตามอย่างก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕ ทีมงาน"พยัคฆ์ภูเพ็ก"ได้ปฏิบัติการท้าพิสูจน์วันสิ้นโลกเริ่มขึ้น เมื่อเวลา ๐๔.๐๐น. ของ ทั้งนี้นายสรรค์สนธิ ได้นำทีมพิสูจน์ ปฏิบัติการวันสิ้นโลก จะเน้นการพิสูจน์ว่า “แกนโลก” ยังคงเหมือนเดิม โดยใช้ข้อมูลดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ฐาน ๖๐ ซึ่งบันทึกไว้ที่แท่งหินก้อนสี่เหลี่ยม “สุริยะปฏิทิน” และพื้นหินทรายที่ตัวปราสาทภูเพ็กเป็นหลักฐานผลการพิสูจน์พบว่า แกนของโลกยังคงอยู่ที่มุมเอียง ๒๓.๕ องศา จากแนวดิ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบอย่างดีว่าโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะดังกล่าว ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์ด้วยมุมตกกระทบไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาจึงก่อให้เกิดฤดูกาลอย่างที่เราๆท่านๆสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วิธีการคำนวณใช้สูตร “มุมเอียงของแกนโลก = ๙๐ องศา"(มุมตกกระทบเวลาเที่ยงสุริยะของวันเหมายัน + องศาของเส้นรุ้ง)
ส่วนการพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่าดวงอาทิตย์จะต้องขึ้น ตรงกับสัญลักษณ์ราศีคันช่าง หรือราศีตุล (Zodiac Libra) ของสุริยะปฏิทินขอมพันปี ซึ่งเท่ากับมุมกวาด ๙๐ องศา การตรวจสอบแกนโลกเบื้องต้นพบว่าทุกอย่างยังปกติ โดยดูจากเงาของนาฬิกาแดดที่อิงทิศเหนือแท้จากสุริยะปฏิทิน ในที่นี้เงาดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบต่อผิวโลก ณ ปราสาทภูเพ็กยังคงเหมือนเดิมคือ ขนานกับเส้นแบ่งเวลาอย่างลงตัวพอดี (เวลาที่เก็บข้อมูล ๐๘ :๐๐ สุริยะ หรือ ๐๘:๐๐ Solar Time) และเงาก็อยู่ที่เส้น "วิษุวัต" ในทางกลับกันหากแกนโลกเปลี่ยนไปเงาของดวงอาทิตย์จะเพี้ยนจากปกติ
นอกจากนี้แล้วในวันอาทิตย์ ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕ ทีมงาน"พยัคฆ์ภูเพ็ก" ยังตรวจสอบอัตราความเร็วการหมุนรอบตัวเองของโลก ปกติโลกหมุนรอบตัวเองในอัตราความเร็ว ๑ องศา ต่อ ๔ นาที หรือ ๑๕ องศา ต่อ ๑ ชั่วโมง โดยคำนวณจากโลกเป็นวัตถุทรงกลม ๓๖๐ องศา และหมุนรอบตัวเองโดยเฉลี่ยวันละ ๒๔ ชั่วโมง ตัวเลขนี้ใช้ในการกำหนดเวลามาตรฐาน Greenwich Mean Time (GMT) โดยให้เมือง Greenwich ที่ประเทศอังกฤษเป็นจุดเริ่มต้นของ "ศูนย์องศา เส้นแวง" (Longitude 0) ประเทศไทยเราใช้เส้นแวงที่ ๑๐๕ ตะวันออก เราจึงอยู่ที่โซนเวลา +๗ GMT คำนวณจาก ๑๐๕ องศา x ๔ นาที = ๔๒๐ นาที หารด้วย ๖๐ = ๗ ชั่วโมง ผลการทดสอบต่างๆในวันนั้นรุปว่า "ตำแหน่งดวงอาทิตย์ และอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลกยังคง "ปกติทุกอย่าง" ดวงอาทิตย์ขึ้นที่มุมกวาด ๙๐ องศา และโลกหมุนรอบตัวเองที่อัตรา ๑๕ องศา ต่อ ๑ ชั่วโมง เช่นเดียวกับเมื่อหลายพันปีก่อน"
นายสรรค์สนธิ บอกว่า ภารกิจการพิสูจน์แกนโลกเพื่อตรวจสอบว่ายังคงอยู่ในสภาพปกติ ไม่พลิกกลับขั้วหรือเสียการทรงตัว ดังคำร่ำลือของข่าวที่กระจายไปทั่วโลก โดยทีมงานเริ่มต้นประมาณ ๒๒.๐๐ น. ของวันที่ ๒๐ ธันาคม ๒๕๕๕ จนถึงเวลา ๐๒.๐๐ น. ของ วันที่ ๒๑ ธนวคม ๒๕๕๕ ด้วยการจับพิกัดดาวเหนือโดยอิงทิศเหนือแท้จากท่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ (ท่อโสมสูตร) ของปราสาทภูเพ็กและทำมุมเงย ๑๗ องศา ประสานกับการล๊อกเป้าโดยใช้กลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopia) และกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ผลการปฏิบัติงานพบว่าขั้วโลกยังคงชี้ที่ตำแหน่งดาวเหนือตามปกติ
ครั้นถึงเวลา ๐๖.๓๐ น. วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ สุริยะปฏิทินขอมพันปี ที่หน้าปราสาทภูเพ็ก ทำหน้าที่ชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ราศีแพะทะเล ทำมุมกวาดจากทิศเหนือ ๑๑๕ องศา ทีมงานได้ใช้ลูกดิ่งผูกเชือกเพื่อเป็นเครื่องช่วยนำสายตา ผลการพิศูจน์ในเชิงประจักษ์พบว่าดวงอาทิตย์ยังคงมาตามนัดที่พิกัดดังกล่าวแสดงว่าแกนโลกยังคงปกติ
จากนั้น ๐๘.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. เป็นการคำนวณอัตราความเร็วการหมุนรอบตัวเองของโลก (Speed of Earth’s rotation) โดยใช้นาฬิกาแดด ควบคู่กับสมการแห่งเวลา (Equation of time) และนาฬิกาดิจิต้อล พบว่า "โลกยังคงหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว ๑๕ องศา ต่อ ๑ ชั่วโมง ตามปกติที่เคยเป็นอยู่ทุกวัน"
ครั้นถึงเวลาเที่ยงสุริยะ (Solar noon) ทีมงานคำนวณมุมเอียงของดวงอาทิตย์ (Angle of incidence) โดยใช้นาฬิกาแดด เข้าสูตรสมการกับข้อมูลที่เก็บจากวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ “ศารทวิษุวัต” กลางวันเท่ากับกลางคืน ผลการคำนวณพบว่า แกนโลกยังคงอยู่ที่ ๒๓.๔ องศา ใกล้เคียงกับข้อมูลแกนเอียงของโลกที่เราๆท่านๆทราบโดยทั่วกันว่า ประมาณ ๒๓.๕ องศา
"ผลการปฏิบัติทั้ง ๔ ข้อ สามารถยืนยันได้ว่า “แกนโลก” ยังคงปกติ ทุกอย่างยังเหมือนเดิมขอให้ทุกท่านใช้ชีวิตตามปกติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปซื้อผ่อนส่งบ้านหลังแรก และรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาลก็ต้องไปจ่ายต้นพร้อมดอกเบี้นตามกติกา" นายสรรค์สนธิ กล่าวยืนยัน
นอกการการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการไม่ประมาทกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง ทีมงานได้จัดให้มีการบวงสรวง และพิธีแก้อาถรรพ์ อันเนื่องจากปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์เรียงตัวเป็นเส้นตรง ได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ ดาวพุธ และดาวอังคาร โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณและร่างทรงจากสำนักต่างๆมารวมตัวกันอย่างคับคั่ง ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในศาสตร์แห่งความลี้ลับ ผสมผสานอย่างลงตัวกับวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ สร้างความประทับใจอย่างมากกับผู้ร่วมกิจกรรม สมกับที่นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา กล่าวว่า “ปราสาทภูเพ็ก เป็นที่นัดพบระหว่างวิทยาศาสตร์ กับศาสตร์แห่งความเชื่อ”