พระเครื่อง

'พระรอดน้ำต้น'วัดมหาวัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พระรอดน้ำต้น'วัดมหาวัน จ.ลำพูนสร้างจากเนื้อ'พระรอดของเก่า'ล้วนๆ : คอลัมน์ พระล้านนา โดย... น้อย ไอยรา www.pralanna.com

          "พระรอด" ยุคหลังของวัดมหาวัน จ.ลำพูน อีกพิมพ์หนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ พระรอดน้ำต้น แตกกรุเมื่อปี ๒๕๑๑ ระหว่างการขุดค้นหา พระรอด รุ่นเก่า
 
          จากการสัมภาษณ์ ลุงถวิล วิลสา (พ.ศ.๒๕๔๙) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขุดพบ พระรอดกรุน้ำต้น เล่าว่า “นายปั๋น และนายมนต์ เป็นผู้ขุดได้ พระอยู่ในหม้อดินเผา ลึกประมาณ ๑ เมตร ใกล้ประตูหลังของวัดมหาวัน จำนวนหลายร้อยองค์ นอกจากนี้ยังขุดพบบริเวณใกล้โรงครัว ภายหลังมีการซ่อมแซมอุโบสถ ก็ยังพบพระซุกไว้ในบริเวณอุโบสถอีกด้วย ลุงถวิลยังได้เช่า พระรอดน้ำต้น จากนายมนต์ หนานโผน และเจ้าคุณพระญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดมหาวันในสมัยนั้น องค์ละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบประวัติการสร้าง ในหนังสือปริอรรถาธิบาย พระรอด ของ "ตรียัมปวาย" ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๒ ก็ไม่ได้กล่าวถึงพระรอดน้ำต้น อาศัยตาเซียนรุ่นใหญ่ ทั้งลุงเหมอ (เสมอ บรรจง) พี่หริ (ศิริ คูวิบูลย์ศิลป์) และลุงถวิล ต่างเห็นตรงกันว่า เป็นพระเก่าจริง ก็เลยเช่ากันคนละหลายสิบองค์” 
 
          ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๖ นิตยสารมหาโพธิ์ ฉบับที่ ๓๑ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ ได้ลงตีพิมพ์ ประวัติการสร้างพระรอดกรุน้ำต้น เขียนโดย "บังไพร" มีการอ้างอิงถึงบุคคลในวงการพระเครื่อง จ.เชียงใหม่ ที่เชื่อถือได้ถึง ๓ คน ได้ร่วมเดินทางไปหาข้อมูลด้วยกัน คือ พ่อเลี้ยงศรีวรรณ โปธา คุณเฮง นันทศราวัตร และลุงถวิล วิลสา จึงขออนุญาตเรียบเรียงมาลงอย่างย่อๆ ดังนี้
 
          “จากการสอบถาม อาจารย์สันต์ ตาบุรี อายุ ๗๘ ปี (พ.ศ.๒๕๒๖) ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านเป็นสามเณรน้อย อายุประมาณ ๑๒ ปี อยู่ที่วัดจามเทวี นามว่า "สามเณรอินแสง ตาบุรี" ต่อมาปีเศษได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดมหาวัน เพื่อศึกษาต่อที่วัดพระธาตุหริภุญไชย (ประมาณปี ๒๔๖๒) มีการขุดหาพระรอด สมัยนั้นองค์ละประมาณ ๕๐ สตางค์ ถึง ๒ บาท เป็นอย่างสูง และมักจะเลือกเอาเฉพาะองค์ที่สมบูรณ์ องค์ที่หักชำรุดหรือบิ่น จะทิ้งไว้ตามโคนไม้   
 
          ในช่วงนี้ สามเณรอินแสง ได้ดำริอยู่ในใจว่า เห็นควรจะนำเศษพระรอด และพระเครื่องอื่นๆ ที่หักชำรุดนี้มากดพิมพ์ให้เป็นองค์พระที่สมบูรณ์ โดยใช้เวลาเก็บรวบรวมประมาณ ๒ ปี จนสามเณรอินแสงมีอายุ ๑๖ ปี (ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๔) จึงได้ไปขอยืมแม่พิมพ์จากเพื่อนสามเณรมาเป็นพิมพ์ จากนั้นก็นำเศษพระรอดหักชำรุดที่รวบรวมไว้มาบดละเอียด และนำพระหักชำรุดพิมพ์อื่นๆ ที่ขุดพบในวัดมหาวันอีกเล็กน้อยผสมรวมไปด้วย อีกส่วนหนึ่งเป็นดินขอ (ดินเหนียวที่นำมาเผาทำกระเบื้องมุงหลังคา สมัยก่อน)
 
          หลังจากกดพิมพ์แล้ว จึงทำการเผาจนได้ที่ ด้วยการเผานี้เอง พระรอดกรุน้ำต้น จึงมีหลายสี เช่น พิกุล เขียว เหลือง ฯลฯ เป็นการสร้างเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จำนวนพระประมาณสองหรือสามคุน้ำ เมื่อเสร็จจากการเผาได้นำไปเข้าพิธีต่างๆ อยู่หลายพิธี จากนั้นจึงได้แจกจ่ายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร ที่เหลือเก็บไว้ในกุฏิ ภายหลังได้รวบรวมจำนวนที่เหลือบรรจุลงใน "น้ำต้น" (คนโทน้ำ) ขนาดกลาง และได้เก็บไว้ส่วนตัวเล็กน้อย ก่อนสึกจากสามเณร ได้นำพระรอดที่บรรจุในน้ำต้น ขุดดินฝังไว้ในวัดมหาวัน พร้อมกับปลูกต้นลำไยไว้เหนือหลุม เพื่อเป็นเครื่องหมาย”
 
          จากการวิเคราะห์ประวัติการสร้าง พระรอดน้ำต้น ที่ อ.สันต์ ตาบุรี เล่ามาก็ตรงกับความเชื่อของนักนิยมพระท้องถิ่นว่า พระรอดน้ำต้น มีพิมพ์เดียว มีทั้งพระลงกรุ และไม่ลงกรุ พระที่ลงกรุจะมีคราบรารักดำ ปกคลุมผิวพระ บางองค์มีคราบปูนขาวเกาะอยู่ตามซอกแขน พระที่ยังไม่ผ่านการใช้มาก่อน ผิวพระจะแห้งจัด ดูแล้วซึ้งตา ส่วนพระที่ไม่ลงกรุ ผิวพระจะสะอาดกว่า เทียบกับ พระรอดแขนติ่ง และพระรอดครูบากองแก้ว พิมพ์เล็กนิยม ขนาดจะใหญ่กว่าเล็กน้อย
 
          การพิจารณาพิมพ์ทรง เมื่อเทียบกับ พระรอด รุ่นเก่าทั้ง ๕ พิมพ์แล้ว ฝีมืองานช่างยังด้อยกว่า ลักษณะโพธิ์ของพระรอด รุ่นเก่า จะเป็นแท่งลูกบาศก์ สามมิติ ส่วนโพธิ์ของ พระรอดน้ำต้น เป็นแบบนูนต่ำ พิจารณาจากพิมพ์แล้ว ฟอร์มองค์พระฐาน ๓ ชั้น ที่ตื้น ลักษณะโพธิ์คล้ายกับ พระรอดแขนติ่ง มากกว่า
 
          พระรอดน้ำต้น ส่วนใหญ่จะมีปีกโดยรอบ เป็นเทคนิคการสร้างพระเนื้อดิน ที่เวลากดพิมพ์พระเสร็จแล้ว ถอดพิมพ์ออกมาโดยไม่ได้ตัดขอบ ให้พิจารณาดูด้านล่างหลังของพระ จะมีรอยย่นพับขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการถอดพิมพ์ งัดก้นพระออก จุดนี้สามารถใช้เป็นหลักในการดู พระแท้พระปลอม ได้เหมือนกัน เพราะพระแต่ละองค์รอยพับด้านหลังจะไม่เหมือนกันทีเดียว ส่วนของพระปลอม เท่าที่เห็นมา หลังจะอูม ไม่มีรอยพับ ธรรมชาติความเก่าไม่มี
 
          ความนิยม พระรอด ของคนเมืองเหนือมีมานาน ร่วมร้อยปีแล้ว ยุคก่อนการขุดพบ พระรอด เป็นเรื่องบังเอิญ เจดีย์พังทลาย แล้วมีการบูรณะซ่อมแซม จึงมีการขุดพบพระรอด เมื่อมีผู้นำไปบูชาติดตัวนานๆ เข้า ผู้คนก็มีความเชื่อในคุณวิเศษของพระรอดกันมากขึ้น และกว้างขวางขึ้น รวมทั้งความต้องการของผู้คนก็มากขึ้นด้วย พฤติการณ์จากการขุดพบพระรอดด้วยความบังเอิญ ก็กลายเป็นความตั้งใจขุดหาพระรอดขึ้นมาแทน
 
          การขุดหา พระรอด เริ่มขึ้นในสมัย เจ้าอินทยงยศโชติ หลังการบูรณะเจดีย์วัดมหาวัน ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา จน พระรอด งวดลงทุกที การขุดจึงยุติลงประมาณ พ.ศ.๒๕๓๐ 
 
          ความเชื่อในคุณวิเศษของ พระรอด เรื่องแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงเป็นที่เลื่องลือกันมาก คล้ายกับ พระคง ที่เชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน กลายเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของคนท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น
 
          พระรอดน้ำต้น แม้อายุจะน้อย ไม่ถึงร้อยปี แต่เนื้อพระที่นำมาสร้างครึ่งต่อครึ่งเป็น พระรอดรุ่นเก่าล้วนๆ ที่ชำรุดนำมาบดสร้างเป็นองค์พระขึ้นมาใหม่ ในทุกวันนี้ ชิ้นส่วนพระรอดรุ่นเก่า มีค่าเป็นหมื่นเป็นแสน สู้หา พระรอดน้ำต้น ราคาเบาๆ แค่หลักหมื่นต้น ดูเก่าใหม่ง่าย ของปลอมยังทำได้ไม่ใกล้เคียง แถมแบรนด์ดัง วัดมหาวัน เหมือนกัน
 
          (คำว่า "น้ำต้น" หมายถึง คนโทน้ำ เนื้อดินเผา ที่ชาวเหนือนิยมใส่น้ำไว้ดื่ม ทำให้น้ำในคนโทนั้นเย็นโดยธรรมชาติ)
.......................................
(หมายเหตุ 'พระรอดน้ำต้น'วัดมหาวัน จ.ลำพูนสร้างจากเนื้อ'พระรอดของเก่า'ล้วนๆ : คอลัมน์ พระล้านนา โดย... น้อย ไอยรา www.pralanna.com)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ