
ธุดงค์-พระธุดงค์:คำวัด
ธุดงค์-พระธุดงค์ : คำวัดโดยพระธรรมกิตติวงศ์
"เดินธุดงค์ตามรอยบุญพระอาจารย์ จากหน้าอำเภอสวนผึ้งสู่ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย" เป็นโครงการที่พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และเจ้าสำนักธรรมสถานวิโมกสิวาลัย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จัดขึ้นทุกๆ ๓ เดือน ครั้งละ ๓ โดยครั้งล่าสุดได้จัดตั้งแต่วันที่ ๑๑-๑๓ สิงหาคม โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ได้มีการเดินเป็นระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส
ธุดงค์ เป็นวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดดยิ่งขึ้น
ธุดงค์ ใช้เรียกการที่ภิกษุสมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ แล้วแบกกลดไปตามทาง หรือเข้าไปป่าว่า เดินธุดงค์ หรือออกธุดงค์ เรียกพระภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนั้นว่า พระธุดงค์
ธุดงค์ ที่อนุญาตไว้มี ๑๓ ข้อ แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร) มี ๒ ข้อ คือ ๑.ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และ ๒.ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร
หมวดที่ ๒ ปิณฑบาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต) มี ๕ ข้อ คือ ๑.ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ๒.ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร ๓.ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร ๓.ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร ๔.ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ) มี ๖ ข้อ คือ ๑. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๒.ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ๓.ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร ๔.ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕.ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตรและ ๖.ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร
ในสมัยพุทธกาลมีพระอริยบุคคลที่มีความสำคัญด้านถือธุดงค์ ๕ รูป ประกอบด้วย ๑.พระมหากัสสปะ ถือผ้าบังสุกุล อยู่ป่า บิณฑบาตเป็นวัตร ๒.พระนาลกะ ถือไม่โลเลในการภิกขาจาร ไม่โลเลในเสนาสนะ พระโมฆะราช ถือบังสุกุลทรงจีวรเศร้าหมอง ๓.พระจักขุบาล ถือเนสัชชิก และ ๔.พระมหากาล ถืออยู่ป่าช้า