พระเครื่อง

พระกำลังแผ่นดินแรง!'ทั้งพุทธคุณและค่านิยม'

04 ธ.ค. 2555

พระกำลังแผ่นดินกำลังแรง!'ทั้งพุทธคุณและค่านิยม' : เรื่อง / ภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู

              “มีพระสมเด็จจิตรลดาถือว่ามีพระบารมีในหลวงคุ้มครองตัว มีความเข้มขลังทุกอณู โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด และค้าขาย ไม่ต้องแขวนเต็มองค์เพียงแค่ชิ้นส่วน หรือฝุ่นผงที่กะเทาะจากองค์พระใครมีไว้ครอบครองก็ถือว่าสุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล ไม่บ่อยครั้งนักของการจัดสร้างวัตถุมงคลที่เส้นพระเกศาของในหลวงเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์”
    
              ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อในพุทธคุณของ "พระสมเด็จจิตรลดา" หรือ "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น เข้าใจว่าท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" ส่วนคำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนาม "พระสมเด็จจิตรลดา" ว่า "พระกำลังแผ่นดิน"

              ณ เวลานี้ พระสมเด็จจิตรลดา ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของคนในวงการพระเครื่อง แต่ต้องแลกมาด้วยเงินไม่ต่ำกว่า ๑.๕ ล้านบาท ซึ่งนับวันตัวเลขดังกล่าวจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ หาเป็นปีที่จัดสร้าง พ.ศ.๒๕๐๘ และ พ.ศ.๒๕๐๙ ค่านิยมจะอยู่ที่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพิมพ์เล็กล่าสุดเท่ามีมีการเช่าซื้อกันสูงถึง ๖ ล้านบาท

              "ความนิยมและค่านิยมพระในหลวงไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก ผ่านเข้ามาในตลาดพระเครื่องเพียง ๕ องค์เท่านั้น ด้วยจำนวนที่น้อยนี่เอง ทำให้ค่านิยมสูงกว่าพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ มากถึง ๒ เท่า" นี่คือคำยืนยันของ ส.อ.สุเมธีก์ อาริยะ ผู้เชี่ยวชาญพระสมเด็จจิตรลดา หรือที่รู้จักกันในนาม "เปี๊ยก จิตรลดา"

              ด้วยเหตุที่พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระที่มีค่านิยมที่สูง มากด้วยพุทธคุณ รวมทั้งมีความต้องการในตลาดเช่าซื้อสูงมาก ทำให้มีการทำปลอมขึ้นทุกปี ส่วนฝีมือการทำปลอมนับวันจะดีขึ้น โดยเฉพาะพระที่ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ และพ.ศ.๒๕๑๓ รวมทั้งใบกำกับที่พระราชทานมากับองค์พระก็มีการทำปลอมด้วย เรียกว่า “ปลอมทั้งองค์พระ ปลอมทั้งใบกำกับพระ"

              พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กประมาณ ไม่เกิน ๓,๐๐๐องค์ พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ตั้งแต่ใน พ.ศ.๒๕๐๘ จนสิ้นสุดใน พ.ศ.๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ"

              มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิน และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน ๑ คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มีศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

              ส่วนประสบการณ์ที่เกิดจากการอาราธนาอัญเชิญพระพุทธคุณขององค์พระสมเด็จจิตรลดาไปบูชานั้น บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล พบแต่ความสำเร็จ เป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นและให้ความเกื้อหนุนเสมอ มีพระพุทธานุภาพ คุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากผองภัยพิบัติต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเสมอ “ดุจพระบารมีปกเกล้าซึ่งเหมือนเป็นมงคลแห่งชีวิต”


พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็ก

              พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ ซม. สูง ๑.๙ ซม. และ ๒.พิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒ ซม. สูง ๓ ซม. โดยประมาณ

              พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย

              พระสมเด็จจิตรลดา มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน พระราชทานให้กับพสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดีแก่ประเทศชาติ โดยทรงมิได้เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือชั้นผู้น้อย จนมาถึงคนขับรถ คนสวน แม่ครัว และบรรดาข้าราชการทหารที่ไปร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ เช่น เวียดนามและลาว ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงจะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้แก่นายทหารเหล่านั้นในจำนวนที่ไม่มากนัก ซึ่งจะทรงมีพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เองว่าจะมีพระราชทานหรือไม่ จำนวนเท่าใด

              ในการขอพระราชทานจะต้องขอพระราชทานต่อพระองค์เท่านั้น จะไม่พระราชทานให้แก่ผู้ที่ไม่ได้ขอพระราชทาน ส่วนสมเด็จพระจิตรลดาพิมพ์เล็กทรงพระราชทานให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ มีทั้งเด็กชาย เด็กหญิง และสตรีที่สนองงานพระองค์

              สำหรับพุทธลักษณะขององค์พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กนั้น ตามประวัติที่ทรงสร้างประมาณว่ามีไม่มากนัก และทรงมีการพระราชทานให้เพียง ๒ ปี เท่านั้น คือ พ.ศ.๒๕๐๘ และ พ.ศ.๒๕๐๙


รังพระสมเด็จจิตรลดา

              ปัจจุบัน พระสมเด็จจิตรลดาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือของผู้รับพระราชทาน ทั้งๆ ที่ผู้ได้รับพระราชทานส่วนใหญ่ไม่อยากขาย แต่ด้วยเหตุที่พระมีเพียงองค์เดียว แต่มีลูกมากกว่า ๑ คน การแบ่งครึ่งองค์พระป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงนำพระมาขายแล้วเอาเงินไปแบ่งให้ลูกหลาน ทั้งนี้ จะเก็บใบกำกับพระไว้ แต่ภายหลังก็เอาใบกำกับพระมาขาย เพราะเก็บไว้ไม่รู้ว่าจะแบ่งกันอย่างไรอีก ทั้งนี้ หากขายพระสมเด็จจิตรลดาพร้อมๆ กับใบกำกับพระ จะได้ราคาสูงกว่า

              มีข้อมูลจากวงการพระเครื่องที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันนี้มีผู้ครอบครองพระสมเด็จจิตรลดาในระดับที่เรียกว่า "รังพระสมเด็จจิตรลดา" หลายคน เช่น นายสมชาติ ศรีรัตนารุ่งเรือง เจ้าของธุรกิจรังนก มีอยู่ในครอบครองประมาณ ๗๐-๘๐ องค์ ถือว่ามากที่สุดในวงการพระเครื่อง โดยได้ไล่เก็บตั้งแต่ยังไม่ได้รับความนิยมและมีราคาไม่แพง ในขณะที่ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ "โป๊ยเสี่ย" เจ้าของพระสมเด็จองค์ลุงพุฒิ (พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่) แว่วข่าวมาว่ามี พระสมเด็จจิตรลดา อยู่ในรังประมาณ ๓๐ องค์ เช่นเดียวกับ "เสี่ยเผด็จ หงษ์ฟ้า" มี พระสมเด็จจิตรลดา ประมาณ ๓๐ องค์ เท่ากัน

              พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ไล่เก็บสะสมมาตั้งแต่ราคาไม่แพง แต่เก็บได้กว่า ๒๐ องค์เท่านั้น นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มี พระสมเด็จจิตรลดา อยู่ในครอบครองประมาณ ๒๐ องค์ พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร สะสมไว้ประมาณ ๑๐ องค์ เสี่ยปรีชา ชัยรัตน์ มี ๑๕ องค์ ส่วน "เสี่ยกำพล วิระเทพสุภรณ์" ก็มีพระสมเด็จจิตรลดาหลายองค์เช่นกัน