
พุทธแห่ง'ผ้ายันต์กันเพลี้ย'อ.แห้ว
พุทธแห่ง'ผ้ายันต์กันเพลี้ย'อ.แห้ว (หมอดูเทวดา)แห่งวังนาคราช : ชั่วโมงเซียน โดยอ.โสภณ
“ผ้ายันต์กันเพลี้ย” ของพระปลัดอิศรา ญานธโร เจ้าอาวาสวัดการ้อง ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เลขานุการเจ้าคณะตำบลดอนโพธิ์ทอง ถือเป็นต้นตำรับและตำนานแห่งผ้ายันต์กันเพลี้ย เมื่อท่านมรณภาพจึงกลายเป็นตำนาน แต่ใช่ว่าชาวนาจะขาดที่พึ่ง เพราะที่วังเจ้าพ่อนาคราชจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ "นายณรงศักดิ์ คูกิติรัตน์" เจ้าจองฉาย "อ.แห้ว หมอดูเทวดา" ก็สร้างออกมาจ่ายแจกลูกศิษย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง “ผ้ายันต์กันเพลี้ย” คนจำนวนไม่น้อยอาจจะคิดไปก่อนว่า "เป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ ทำขึ้นมาแหกตาชาวนา" สำหรับผู้ที่อ่านอักขระเลขยันต์ที่ปรากฏบนผ้ายันต์กันเพลี้ยได้ ต้องถึงกับอึ้งในพุทธคุณและภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ยุคก่อน
"ผ้ายันต์กันเพลี้ย” ของ อ.แห้ว หมอดูเทวดา มีคาถาที่สำคัญดังนี้ คาถาหัวใจแม่โพสพ ใช้ว่า “โพสะวะโภชะนัง อุตตะมะ ลาภัง มัยหัง สัพพะสิทธิหิตัง โหตุ” เขียนควงกับหัวใจธาตุ ๔ ที่ว่า “นะ มะ พะ ทะ” หมายถึง "น้ำ ดิน ไฟ ลม"
คติความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพนั้น เป็นเทพธิดาที่ได้รับความเคารพนับถือกราบไหว้มาแต่โบราณกาล เป็นเทพธิดาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิตเหล่าชาวนา เมื่อแรกทำนาจนกระทั่งถึงเวลาไถคราด เก็บเกี่ยวรวงข้าวด้วยเคียวเหล็ก จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาแม่โพสพทุกระยะไป เช่น ก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนา จะปลูกศาลเพียงตา สูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชาแม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะ อ้อนวอนพระแม่โพสพให้คุ้มครองรักษาต้นข้าว ขอให้ปีนี้จงทำนาได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนาหว่าน นาดำ เพราะแม่โพสพเป็นหญิงขวัญอ่อนง่าย จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญเสมอ พระคาถาอาคมต่างๆ
สำหรับการบูชาพระแม่โพสพนั้น ให้เริ่มด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ แล้วกล่าวว่า “อิมินา มาลวปูปผะคันธะ ทัณฑะทีปะ ธูปาทิปะ ธูปาทิ สักกะรานิจะ อันนะปานะ สูปะพยัญชะนะ ปูวะผะลา ผะละเภสัชชาทินิจะ อิมายะ พีระพันธุ โพสะพะ สิรมาตุยา ปูเชมะ อมัสมิ ปัจจุบันนะกาเล อัมหากัง นิจจะกำลัง สัสสะ พิชะธัญญะ ตัณฑุลาทีนัญจะ วิรุฬหิยา หิรัญญะ สุวณณา ทิโภคานัญจะ วุฑฒิยา”
ทั้งนี้ ในการปลุกเสกผ้ายันต์นี้เกจิจะใช้คาถา "คาถาพารพัดกัน" ที่ว่า “นะกัน โมกัน พุทกัน ธากัน ยะกัน กันนะ กันนา กันนิ กันนี กันนึง กันนี กันนุ กันเน กันเนย นะล้อม โมวิรัง พุทบัง กันธา” บางสำนักจะใช้ “กันหะ เนหะ กันนะ เนนะ สัพศัตรูวินาศสันติ” เช่นเดียวกับ "กระดาษสารพัดกัน" ของพระครูภาวนาภิรัต หรือหลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ พระคณาจารย์ชื่อดังของ จ.ระยอง เมื่อประมาณปี ๒๕๑๘ หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ทิมที่วัด มักจะได้รับแจกรูปกระดาษที่มียันต์เดินรอบรูปท่าน และบอกให้นำไปติดบ้าน ติดรถ หรือติดตัว ทั้งหลวงปู่ทิมท่านยังเคยบอกว่า "รูปนี้มีพุทธคุณเทียบเท่าตะกรุด ๑ ดอก" บรรดาศิษย์มักจะเรียกกันว่า "รูปกันนะ"
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นผ้ายันต์กันเพลี้ย แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้ทำนาสามารถนำมาได้เช่นกัน เพราะคาถาสารพัดแก้สารพัดกันเป็นคาถาที่พระเกจิอาจารย์ใช้บริกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลที่มุ่งหวังให้มีพุทธคุณ “กันภัย”
เมื่อเขียนถึงพระแม่โพสพก็ต้องนึกถึง "แม่โพสพรอด ข้าวเปลือกรอด" ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม พุทธสโร แห่งวัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งมีอภินิหารมหัศจรรย์ยิ่งนัก หลวงพ่อเดิมมักสั่งลูกศิษย์ให้เสาะหาเก็บเอาไว้ หลวงพ่อบอกว่าเขารบทัพจับศึกกันในสมัยโบราณนั้น ใครมีแม่โพสพรอดจะได้กลับมาเห็นหน้าลูกเมียทุกคน เพราะตามธรรมดาเขานับถือพระแม่โพสพอยู่แล้ว เวลาจะกินก็เสกข้าว (เปล่า) กินก่อน ๓ คำ เวลากินอิ่มแล้วก็ยกมือไหว้พระแม่โพสพระลึกถึงพระคุณ
โดยระหว่างที่กินข้าวนั้น ถ้าหากเห็นว่ามีข้าวเปลือกปนอยู่ในจานข้าวสวยก็จงเลือกออกมาดู ถ้าหากมีเมล็ดไหนแตกหรือมีรอยร้าวที่เปลือกแสดงว่าใช้ไม่ได้ให้ทิ้งไป หากเมล็ดใดแข็งและไม่มีรอยแตกรอยร้าว คงสภาพเหมือนเดิมให้เก็บเอาไว้เพราะนี่คือแม่โพสพรอด ถือเป็นของกายสิทธิ์ตามธรรมชาติ เพราะถือเคล็ดเอาว่า รอดจากการสีข้าว หรือรอดจากการตำข้าว รอดจากการเก็บ การหากาก รอดจากการหุงด้วยความร้อนโดยเปลือกเมล็ดไม่แตก จึงเรียกว่า แม่โพสพรอด หรือข้าวเปลือกรอด บางตำราว่าข้าวเพชรหลีกก็มี สรรพคุณก็ตรงตามชื่อ คือแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ นานา
ยันต์ตระกุดหนังหมู
ผู้ที่เดินทางไปดูหมอกับ อ.แหว หมอดูเทวด ส่วนใหญ่จะได้รับแจก "ยันต์หนังหมู" คนและ ๑ แผ่น อุปเท่ห์ของยันต์หนังหมู “เพื่อให้ผู้ใช้มีความรู้สึกว่าทำอะไรให้สำเร็จง่ายๆ ในลักษณะท่าทำอะไรก็ให้หมูๆ” นั่นเอง
ด้านหน้าของยันต์หนังหมูจะเขียนเป็นภาษาจีนว่า “福" ออกเสียงว่า "ฟู่” หรือ "ฝู” ในภาษาจีนกลาง หรือ “ฮก” ภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่า โชคดี, ความสุข, โชคลาภ, วาสนา, ความมั่งคั่ง, ความอุดมสมบูรณ์, อำนาจ และเกียรติยศ ส่วนด้านหลังเป็นตัว “นะ” ที่ใช้ “ณ” เขียนแล้วเติมอุณาโลมไว้ที่หางนั้น เป็น “นะมหานิยม” ซึ่งเป็นคาถาที่ใช้ทางเมตตามหานิยม ทั้งนี้ ถ้าเขียนเอียงในแนวนอนให้อุณาหันไปทางขวามือจะเรียกว่า “นะ เจริญศรี” โดยมีการเรียกสูตร “นะ ศรี ศรี เจริญ ศรียิ่งกว่าแก้วศรีผลึก ตรึกจิตรตรึกใจ ตรึกในพระวินัย มหานะ สีกาโรโหติ สัมพะโว”
ในการเขียนตัว “น” จะบริกรรมว่า “นะ กา โร โห สัม พะ โว” ส่วนที่เป็นหาง (อุณาโลม) ให้บริกรรมว่า “อุ ณา โล มาปะ นะ ชา ยะ เต จงมาบังเกิดเป็น อุ” เมื่อลงแล้วให้เสกด้วยคาถาที่ว่า “พุทธัง จะมหาวาโย หังจิตตัง ปุ ริโสอิตถิโย พันธะนัง สัมโมคะมะนะ นะโมพุทธายะ นะชาลิติ อิติพุท โธ พระมหานิ ยมนะ” (นะตัวนี้ใช้ลงฝ่ามือ หรือใช้เสกแป้งเวลาผัดหน้า เป็นเมตตามหานิยม สงสาร)
ส่วนคาถาที่ อ.แห้ว มักให้ศิษย์ไปบริกรรมที่ว่า “จิ เจ ขัน ติ จิ เจ” เป็นคาที่มาจากตัวย่อของยอดพระกัณฑ์พระไตรปิฎกที่ว่า “จิ เจ รุ นิ“ เป็นพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ไว้สำหรับสวดและภาวนาทุกเช้าคำ เพื่อความสวัสดีเป็นสิริมงคลแก่ผู้สาธยาย อันเป็นบ่อเกิดมหาเตชัง มีเดชมาก มหานุภาวัง มีอานุภาพมาก และมีลาภยศ สุขสรรเสริญ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย อุปัทวันตราย และความพินาศทั้งปวง ตลอดทั้งหมู่มารร้ายและศัตรูคู่อาฆาตไม่อาจแผ้วพานได้ โบราณท่านว่า ผู้ใดได้พบยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกนี้แล้ว ท่านว่าเป็นบุญอันประเสริฐนัก เมื่อพบแล้วให้พยายามสวดภาวนาอยู่เป็นนิตย์ตราบเท่าชีวิต จนทำลายขันธ์จากมนุษย์โลก แล้วก็จะไปยังเกิดในสัมปรายภพสวรรค์สุคติภพด้วยพระอานิสงส์เป็นแน่แท้
อ.แห้ว หมอดูเทวดา มักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอๆ ว่า “เราไม่ใช่เทวดาที่จะไปหยั่งรู้หมดทุกเรื่อง เราไม่ใช่ผู้วิเศษ เป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางการดำเนินชีวิต ให้เป็นไปทำนองคลองธรรมเท่านั้น" ทั้งนี้ อ.แห้ว หมอดูเทวดา มักประกาศกับผู้มาร่วมสร้างว่า “หากเพียงแค่คิดว่าทำบุญแล้วจะโกงไม่ต้องมาทำบุญที่นี่” ส่วนงานประจำปีของวังเจ้าพ่อนาคราช คือ ทุกๆ วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี จะเป็นวันที่องค์เจ้าพ่อนาคราชจะประทับทรงผ่านร่าง อ.แห้ว เพื่อให้พรแก่ลูกศิษญ์ที่นับถือ และประชาชนทั่ว และในปีนี้ก็เช่นกันงานเริ่มตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. เป็นต้นไป