พระเครื่อง

พระรอดแขนติ่งวัดมหาวันจ.ลำพูน

พระรอดแขนติ่งวัดมหาวันจ.ลำพูน

08 พ.ย. 2555

พระรอดแขนติ่งวัดมหาวันจ.ลำพูน : สายตรง พระล้านนา โดยน้อย ไอยรา www.pralanna.com

               พระรอด วัดมหาวัน ยุคหลังยอดนิยมอันดับหนึ่ง คือ พระรอดแขนติ่ง ประวัติการสร้างยังไม่ทราบแน่ชัด จากการสอบถามเซียนพระรุ่นเก่าที่ทันเหตุการณ์ ทั้ง ลุงถวิล วิลสา และลุงเสมอ บรรจง เมื่อพ.ศ.๒๕๕๐ ขณะนั้น ลุงถวิล อายุ ๖๗ ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์การขุดหา พระรอด วัดมหาวัน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐

               ลุงถวิล เล่าว่า "สมัยนั้นลุงถวิลอยู่ที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ต้องเดินทางมาส่งของที่ตัวเมืองลำพูน โดยใช้รถคอกหมู หรือรถลากไม้ส่งของเสร็จก็ไปนอนค้างที่วัดพระคง ตื่นขึ้นมาก็ไปเข้าวัดมหาวัน เพื่อไปหาพระรอด สมัยนั้นพระบิ่น หักชำรุด ไม่ซื้อ เลือกเอาแต่พระสภาพสมบูรณ์ นักขุดพระก็มี ลุงมา และลุงต๋อ เท่าที่จำได้ ลุงถวิลพบเห็นพระรอดแขนติ่ง ที่ลุงมา ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๙ โดยลุงมาเล่าให้ฟังว่า ขุดได้บริเวณลานวัดมหาวัน ได้พระครั้งละ ๒-๓ องค์ ลักษณะการขุดพบ พระกระจายทั่วๆ ไปเช่นเดียวกับพระรอดรุ่นเก่า"

               ส่วนลุงเสมอ เซียนพระอาวุโสสุดของประเทศไทย อายุ ๘๕ ปี (เกิด พ.ศ.๒๔๖๔) เล่าว่า "หลังไฟไหม้กาดหลวงครั้งใหญ่ ปี ๒๕๑๐ ลุงเสมอได้ลาออกจากพนักงานเก็บเงินตลาด มาเปิดร้าน "เสมออินกาแฟ" และแผงพระที่ตลาดบุญอยู่ เริ่มไปวัดมหาวัน ปี ๒๕๑๑ เพื่อไปหาพระรอด ช่วงนั้นพบพระรอดแขนติ่ง ที่ลุงต๋อ หลายองค์ ลุงต๋อยืนยันว่าขุดได้ พระเก่าแท้แน่นอน เนื้อดีพิมพ์สวย และเคยมอบพระรอดพิมพ์นี้ให้ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดมหาวัน สมัยนั้นราคาพระรอดแขนติ่งตอนนั้นองค์ละไม่ถึงร้อยบาท เท่าที่สังเกตลักษณะการขุดพบพระรอดแขนติ่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ มาถึงราวปี ๒๕๒๐ ต้นๆ ได้พระไม่ค่อยถี่ มีการเว้นช่วง ๒-๓ เดือน ได้พระครั้งหนึ่ง เข้าไปเช่าได้พระครั้งละ ๒-๓ องค์ ปริมาณได้น้อยกว่าพระคงที่ขึ้นวัดมหาวันเสียอีก สมัยนั้นปล่อยให้คนกรุงเทพฯ ไปหมด พระผ่านมือลุงเสมอประมาณ ๓๐ องค์"

               จากคำบอกเล่าของลุงถวิล และลุงเสมอ ซึ่งทั้งสองท่านอยู่ในเหตุการณ์ ระหว่างการขุดหาพระรอด วัดมหาวัน มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ ต้นๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๐ ปลายๆ พอจะสรุปได้ว่า...มีการขุดพบพระรอดแขนติ่ง ที่วัดมหาวันจริง ลักษณะการขุดพบ พระกระจายอยู่ทั่วไปตามบริเวณลานวัด คล้ายกับการขุด พระรอด รุ่นเก่า

               ส่วนการขุดพบพระรอดแขนติ่ง ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ นั้น ไม่อาจเสาะหาข้อมูลได้ เพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างเสียชีวิตไปหมดแล้ว เท่าที่พอจะค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ก็จากหนังสือ ปริอรรถาธิบายพระรอด ของ "ตรียัมปวาย" พิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๒ ซึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระรอด ในสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าครองนครลำพูน องค์ที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๓๘-๒๔๕๔)

               "การพบพระรอดในกรุ สมัยเจ้าหลวงอินทยงยศ ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑ ครั้งนั้น เจ้าหลวงอินทยงยศ ได้พิจารณาเห็นว่ามีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกตรงบริเวณฐานพระเจดีย์มหาวัน และมีรากชอนลึกลงไปภายในองค์พระเจดีย์ ทำให้มีรอยร้าว ชำรุดหลายแห่ง จึงให้ช่างรื้อฐานรอบนอกพระเจดีย์ออกเสีย และปฏิสังขรณ์ใหม่ การกระทำเช่นนี้ได้พบพระรอด ซึ่งเจ้าเหมพันธุไพจิตร รวบรวมบรรจุไว้ในคราวปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นั้น เป็นจำนวน ๑ กระเช้าบาตร (ตะกร้าบรรจุกับข้าวตักบาตร) ได้นำมาแจกจ่ายบรรดาญาติวงศ์ เจ้าลำพูน เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ (บุตร) เมื่อสมัยนั้นยังเป็นหนุ่ม ก็ได้รับพระรอดจากเจ้าพ่อไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นมรดกตกทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งได้จัดพิธีสร้างพระรอดรุ่นใหม่ขึ้นบรรจุไว้แทน ส่วนฐานพระเจดีย์ที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นั้นให้ขยายสัณฐานกว้างขึ้น"

               อีกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการพบพระรอด อินทยงยศ "ในปี ๒๔๘๕ ระหว่างสงครามอินโดจีน ภิกษุกองแก้ว (ราชจินดา) รองเจ้าอาวาส (สมัยพระครูวินัยธร ญาณวิจารณ์ เป็นเจ้าอาวาส) ได้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์มหาวันอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดไม้กาฝากทำให้ชำรุด ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นได้พบ พระรอด ซึ่งเจ้าอินทยงยศ ได้จัดสร้างขึ้นในปี ๒๔๕๑ บรรจุไว้ มีผู้แตกตื่นมาขอเช่าบูชากันเป็นอันมาก โดยเข้าใจผิดว่าเป็นพระรอด รุ่นจามเทวี"

               ยกมาครบสูตร ตำนานพระล้านนา ทั้งเรื่องเล่าและบันทึกเก่าแก่ โดยเฉพาะตัวบุคคลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะ "ท่านตรียัมปวาย" ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นปรมาจารย์พระเครื่อง ก็ต้องยอมรับสมัยก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านได้เขียนตำราพระเครื่อง แต่ละเล่มใหญ่และหนากว่าตำราเรียนในมหาวิทยาลัยเสียอีก

               การพิจารณาพิมพ์ทรง และอายุสมัยการสร้าง

               พระรอดแขนติ่ง มีพิมพ์เดียวที่เรียกว่า "พระรอดแขนติ่ง" เพราะมี "ติ่ง" เนื้อเกินที่ต้นแขนขวาขององค์พระ ฝีมืองานช่างยังด้อยกว่าพระรอด รุ่นเก่า ลักษณะองค์พระฐาน ๓ ชั้นตื้น กลุ่มโพธิ์เป็นแบบนูนต่ำ คล้ายกับ "พระรอดน้ำต้น" มากกว่า เทคนิคการสร้างเหมือนกัน น่าจะสร้างในเวลาไล่เลี่ยกัน (พระรอดน้ำต้น สร้าง พ.ศ.๒๔๖๔)

               บทสรุปมีความเป็นไปได้ว่า พระรอดแขนติ่ง น่าจะเป็นพระรอดที่ เจ้าอินทยงยศโชติ สร้างขึ้น เมื่อครั้งบูรณะเจดีย์วัดมหาวัน ปี ๒๔๕๑ ภายหลังเจดีย์พังทลาย พระรอดจึงกระจายออกมาตามบริเวณลานวัด ปะปนอยู่กับ พระรอด รุ่นเก่า จึงมีการขุดพบ พระรอดแขนติ่ง รวมอยู่ด้วย

               อย่างไรก็ตามข้อเขียนนี้เป็นเพียงการสันนิษฐาน จากการบอกเล่าและบันทึกขึ้นภายหลังการสร้าง ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด เหมือนกับพระสกุลล้านนาอื่นๆ อีกหลายรุ่น หลายพิมพ์ ที่ยังไม่ทราบประวัติการสร้าง เพราะคนบ้านเราขาดการบันทึกข้อมูลที่มีคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไปอย่างน่าเสียดาย

               (หนังสืออ้างอิง : ปริอรรถาธิบายพระรอด โดย "ตรียัมปวาย" พิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓)