
"พระปกเกล้าปกแผ่นดิน พระนาคปรก ๙ เศียร องค์ใหญ่ที่สุดในโลก
คติความเชื่อ เรื่องอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป มีมากมายหลายประการ เหลือที่จะนับจะประมาณได้ เช่น ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน หมายความว่า ผู้นั้นต้องเอาพระพุทธรูปไปถวายพระสงฆ์ไว้ในวัดใดวัดหนึ่ง ต้องบริจาคเงินสร้าง หรือเช่ามาแล้ว นี้เป็นทานมัยกุศลชั้นต
ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายความว่า ก่อนแต่จะทำการถวายทาน หรือถวายพระพุทธรูป เจ้าภาพก็ต้องสมาทานศีลเสียก่อน ศีลที่สมาทานคราวนี้ เกิดขึ้นเพราะการสร้างพระพุทธรูปเป็นปัจจัย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญศีลมัยกุศลไปด้วย
และ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คำว่าภาวนานั้นมีสองอย่างคือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
การได้เห็นพระพุทธรูปด้วยตา ได้กราบได้ไหว้ด้วยกาย ได้เปล่งวาจาระลึกถึงพระพุทธคุณ ใจก็น้อมนึกไปตามว่า ผู้นั้นได้เจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน จัดเป็นสมถกรรมฐานเป็นมหากุศล ตายด้วยจิตดวงเดียว อย่างต่ำต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างกลางสามารถไปเกิดในสวรรค์ อย่างสูงสามารถไปสู่พระนิพพานได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง ๓-๔ ปีนี้ มีโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่หลายสิบองค์ ทั้งที่เป็นปูนปั้น และเนื้อโลหะ และโครงการหนึ่งที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ โครงการสร้างพระพุทธรูปพระนาคปรก ๙ เศียร “พระปกเกล้า ปกแผ่นดิน” เป็นพระนาคปรก ๙ เศียร เนื้อโลหะองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ของ มูลนิธิธรรมอิสระ วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
โดยในส่วนของพระหัตถ์ปางประทานพร ได้ประกอบพิธีเททองหล่อไปแล้วเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ผ่านมา
นายอำนวย ตีระเมธี ประธานมูลนิธิธรรมอิสระ (วัดอ้อน้อย) บอกว่า พระนาคปรกองค์นี้ ให้ชื่อว่า พระนาคปรกปกเกล้าปกแผ่นดิน เพื่ออัญเชิญพุทธบารมีของ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ปกเกล้า ปกกระหม่อม คุ้มครองให้ประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น สืบไป
ส่วนรายละเอียดของพระมีความหมายดังนี้ ฐาน ๓๒ เมตร สูง ๖๐ เมตร ความหมาย เลข ๙ ของพระนาคปรก หมายถึง พระบารมี ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ปกเกล้า ปกกระหม่อมคุ้มครองพสกนิกร และประเทศไทย ให้มีความสุข ร่มเย็น
เลข ๓๒ ซึ่งเป็นความกว้างของหน้าตักองค์พระ หมายถึง มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันเป็นลักษณะพิเศษ ที่ปรากฏเฉพาะพระวรกายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะที่เลข ๖๐ อันเป็นส่วนสูงองค์พระ สื่อถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างครั้งนี้ ที่ต้องการถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อีกทั้งยังเป็นการสร้างถาวรวัตถุให้เป็นร่องรอยการสืบสานพระพุทธศาสนา
ในการหาปัจจัยสมทบทุนสร้างพระนาคปรกปกเกล้าปกแผ่นดิน ทางมูลนิธิธรรมอิสระ (วัดอ้อน้อย) จึงจัดสร้าง พระหลวงปู่ทวด รุ่นประสะโลหิต ขึ้นมาเป็นรุ่นที่ ๒ ประกอบด้วย
พระหลวงปู่ทวดลอยองค์ เนื้อนวโลหะ ขนาด ๒.๕ ซม.พระหลวงปู่ทวดลอยองค์ เนื้อนวโลหะ ขนาด ๑.๕ ซม. และ พระผงหลวงปู่ทวดใบโพธิ์สีดำ โดยหลวงปู่พุทธะอิสระจะอธิษฐานจิตตลอดพรรษา โดยสามารถจองพระตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ (วันเข้าพรรษา) ส่วนกำหนดวันรับพระ วันที่ ๑๐-๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ (วันทอดกฐิน)
ด้าน นายวิชชุ ภาวะสุทธิรักษ์ ประธานฝ่ายเผยแผ่ธรรมมูลนิธิธรรมอิสระ (วัดอ้อน้อย) ให้เหตุผลของการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดรุ่นประสะโลหิตว่า เป็นไปตามคำเรียกร้องของคณะศิษย์ ที่ทราบข่าวว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ผ่านเหตุการณ์ลอบสังหารมาได้ นอกจากเพราะบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นายสนธิอธิษฐานจิตขอความคุ้มครองช่วยปกเกล้าปกกระหม่อม และบุญบารมีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่เคารพ ยังมีบูชาองค์หนึ่ง คือ พระหลวงปู่ทวด รุ่นประสะโลหิต ที่ได้รับจากหลวงปู่พุทธะอิสระ โดยรุ่นแรกสร้างในหลักร้อยองค์เท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล มูลนิธิธรรมอิสระเชิญร่วมพิธีอาบน้ำพระเวท และพิธีประสะโลหิตหลวงปู่ทวด วันเสาร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒
พิธีศักดิ์สิทธิ์ “ประสะโลหิต” โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย พุทธศาสนิกชนร่วมบุญสร้างพระปกเกล้า ปกแผ่นดิน” รวมทั้งร่วมพิธีพิธีอาบน้ำพระเวท และพิธีประสะโลหิตหลวงปู่ทวดได้ที่มูลนิธิธรรมอิสระ (วัดอ้อน้อย) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร. ๐-๓๔๒๐-๔๘๑๕ กด ๑ และ ๐๘-๓๙๐๓-๘๐๐๐ หรือร่วมบุญผ่านบัญชี ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี ๒๔๕-๐-๓๙๙๑๒-๒ และ ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี ๗๖๕-๒-๑๕๘๗๘-๖
ตำนานแห่งพระนาคปรก
ปางนาคปรก เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูป ลักษณะนั่งสมาธิ และมีพระยานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป
คติการสร้างพระนาคปรก ตรงกับพุทธประวัติตอนที่ หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ พระองค์ท่านได้แปรที่ประทับ เพื่อเสวยวิมุติสุขยังสถานที่ต่างๆ ในอาณาบริเวณที่ไม่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นัก โดยประทับแต่ละที่สัปดาห์ละ ๗ วัน
และในสัปดาห์ที่สาม ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย
ผู้รจนาปฐมสมโพธิ ได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อ "มุจลินท์" ได้ขึ้นจากสระน้ำ ที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงเป็นเพศมาณพ ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์
เรื่องพระปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาค เหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์
ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่ง คือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชั้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย
พระปางนาคปรก เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ พระคาถาบูชา สวด ๑๐ จบ (องคุลีมาลปริตร) ดังนี้
"ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิ ชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"