พระเครื่อง

วันสัตตนาคารำลึกโอรส-ธิดา'๗พญานาคราช'

วันสัตตนาคารำลึกโอรส-ธิดา'๗พญานาคราช'

12 ต.ค. 2555

วันสัตตนาคารำลึกวันชุมนุมโอรส-ธิดา...'๗พญานาคราช' : ท่องไปในแดนธรรม โดยพาบุญมา

               งานประเพณีไหลเรือไฟ นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อย่างไรก็ตามก่อนงานประเพณีไหลเรือไฟ ๑๐ วัน ยังมีประเพณีอย่างหนึ่งยังไม่เป็นที่รูจักของคนในภูมิภาคอื่น คือ "วันสัตตนาคารำลึก" โดยมีกำหนดจัดทุกๆ ปี ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ)"
 
               เมื่อวันสำคัญเช่นนี้ เวียนมาถึงในแต่ละปีผู้ที่ได้ถวายตัวเป็น โอรส-ธิดา (ลูกพระธาตุ) ขององค์สัตตนาคาทั้ง ๗ และผู้ที่ประจักษ์ในปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารจึงได้จัดงานพิธีต้อนรับและอุทิศส่วนกุศลแด่องค์พระญานาคราชเจ้า โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕
 
               ในคืนวันงาน บริเวณลานองค์พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร บรรดาโอรส-ธิดา พญาสัตตนาคาตลอดถึงผู้ที่ศรัทธาในองค์พระธาตุพนมและพญาสัตตนาคา ต่างพร้อมเพรียงกันในลานพิธี ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น ร่วมทำวัตรสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม เมื่อถึงเวลาตี ๒ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา และพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ พิธีประทับทรงพญาสัตตนาคา เพื่อมาช่วยเหลือบรรดาโอรส-ธิดา และบ้านเมือง ขณะเดียวกันจะเป็นคืนชุมนุมร่างทรงหรือคนมีองค์พญานาคจากภาคอีสานทั่วสารทิศ ทั้งเพศชายและหญิง ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนเช้าวันที่ ๒ จะมีการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร
 
               พระเทพวรมุนี (สำลี ปญฺญาวโร ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เล่าให้ฟังว่า เรื่องการนั่งประทับทรงเกี่ยวกับพญานาคเกิดขึ้นในยุคพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส ป.ธ ๖) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร (พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๕๓ ) ลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนทั่วไปมักเรียกท่านว่า “ท่านพ่อ” ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ และชอบค้นคว้าวิชาโบราณคดี ประวัติศาสตร์จนได้รับขนานนามว่า นักปราชญ์แห่งลุ่มน้ำโขง
 
               ท่านพ่อได้ทำนุบำรุงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและให้เจริญก้าวหน้าอย่างมากมาย ใน พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้ก่อตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและได้ส่งพระภิกษุ สามเณรและแม่ชีไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากหลายสำนัก ได้ฝึกพระภิกษุสามเณรในวัดอยู่เสมอๆ
  
               สำหรับเรื่องพญานาคนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านพ่อฯ ได้ตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นได้ ๑ ปี เหตุเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณตี ๒ เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๕๐๐ คืนนั้นฝนตกหนักครึ่งชั่วโมงแล้วตกพรำๆ มาอีกกว่า ๒๐ นาที ขณะที่ฝนตกฟ้าร้องดังสนั่นแผ่นดินสะเทือน นายไกฮวด ชาวธาตุพนมได้ออกมารองน้ำฝนที่หน้าร้านของตน เห็นแสงประหลาดเป็นลำงามโตเท่าลำต้นตาลขนาดใหญ่มีสีต่างๆ กันถึงเจ็ดสี พุ่งแหวกอากาศแข่งกันเป็นลำยาวหลายเส้น จากทางด้านทิศเหนือมองเห็นได้แต่ไกลจึงได้ร้องเอะอะเรียกภรรยามาดูแสงสีงามประหลาด หน้าสะพรึงกลัวขนหัวลุกนั่น พอมาถึงหน้าซุ้มประตูแสงนั้นก็หายเข้าไปในองค์พระธาตุพนม โดยที่ไม่ได้ตาฝาดไปเอง 
 
               ต่อมาอีกสองวัน คือวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนเดียวกัน พระธรรมราชานุวัตร ได้ให้สามเณรทรัพย์ นั่งทางในตรวจดูเหตุการณ์ว่า แสงประหลาดเจ็ดสีเท่าลำต้นตาล ที่นายไกฮวดเห็นเข้ามาในวัดนี้มีความจริงเท็จแค่ไหน สามเณรทรัพย์เจ้าฌานสมาธิอยู่คู่หนึ่ง ก็เข้าไปพบพญานาคราชทั้งเจ็ดเรียงกันเป็นแถวอยู่บริเวณลานพระธาตุพนม ลำตัวโตใหญ่เท่าลำต้นตาล มีหงอนแดงน่าสะพรึงกลัวสยองพองหัวเหลือที่จะกล่าว สามเณรทรัพย์ยืนงงงันอยู่ด้วยความประหลาดใจ พลันประเดี๋ยวเดียวพญานาคทั้ง ๗ ได้กลับกลายเป็นมาณพ ๗ ชาย ทรงเครื่องขาวเรียงกันเป็นแถวอยู่ที่เดิม จะว่าก้มมิใช่ ยืนก็มิใช่ อากัปกิริยาอยู่ระหว่างยืนกับก้ม สามเณรทรัพย์สนเท่ห์ใจงงจนพูดอะไรไม่ออก ทันใดมาณพผู้เป็นหัวหน้าได้ร้องถามว่า พ่อเณรมีธุระอะไร อย่ากลัวจงบอกมา สามเณรยืนงงอยู่มิได้ตอบว่ากะไร ตั้งใจจะกลับกุฏิ
 
               พญานาคผู้เป็นหัวหน้าได้พูดขึ้นอีกว่า “พ่อเณรจะกลับแล้วหรือยัง ขอไปด้วย จะไปสนทนากับท่านเจ้าคุณ” พอขาดคำก็เข้าประทับร่างสามเณรทรัพย์ ทันทีด้วยจิตอำนาจที่เหนือกว่า สามเณรทรัพย์พลันหมดความรู้สึกวูบไปทันที สักครู่ก็หันมายกมือไหว้ ท่านพ่อพระธรรมราชานุวัตร พร้อมกับพูดว่า “สวัสดีท่านเจ้าคุณ หม่อมฉันมาสองคืนแล้วมิรู้หรือ” ท่านพ่อฯ รู้สึกแปลกใจและสงสัยจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร? มาจากไหน? 
 
               เสียงประทับทรงตอบว่า “พวกหม่อมฉันเป็นพญานาคราช มาจากสระอโนดาตในเทือกเขาหิมาลัย มีนามตามลำดับเป็นมงคลตามอริยทรัพย์อันประเสริฐ คือ ๑.พญาสัทโทนาคราชเจ้า เป็นประธาน ๒.พญาศีลวุฒินาโค ๓.พญาหิริวุฒนาดโค ๔.พญาโอตตัปปะวุฒนาโค ๕.พญาสัจจะวุฒินาโค  ๖.พญาจาคะวุฒนาโค ๗.พญาปัญญาเตชะวุฒนาโค


บุญประเพณีไหลเรือไฟ

 
               "ไหลเรือไฟ" เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนอีสาน ยึดถือปฏิบัติ สืบทอด กันมาแต่ครั้งโบราณ ประเพณีการไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า "ล่องเรือไฟ" "ลอยเรือไฟ" หรือ "ปล่อยเรือไฟ" ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จะเป็นประเพณีที่คาบเกี่ยว ระหว่างเดือน สิบเอ็ด และเดือนสิบสอง ส่วนมากนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑ คำ เดือนสิบเอ็ด พอถึงวันงาน ชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์และสามเณร จะช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อไปลอยที่แม่น้ำ ในช่วงเช้าจะมีการประกอบการกุศล โดยการไปทำบุญตักบาตร มีการถวายภัตตาหารเพลแล้ว เลี้ยงญาติโยมที่มา
 
               ในช่วงบ่ายมีการละเล่นต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งมีการรำวงเป็นการฉลองเรือไฟ พอประมาณ ๕-๖ โมงเย็น หรือตอนพลบค่ำ มีการสวดมนต์รับศีลและฟังเทศน์ ถึงเวลาประมาณ ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. ชาวบ้าน จะนำของกิน ผ้า เครื่องใช้ ขนม ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย หมากพลู  บุหรี่ ฯลฯ ใส่ลงในกระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้งถึงเวลาจะจุดไฟให้เรือสว่าง แล้วปล่อยเรือให้ลอยไปตามแม่น้ำ
 
               จังหวัดที่เคยทำพิธีกรรมการไหลเรือไฟอย่างเป็นทางการ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนอง เลย มหาสารคาม และอุบลราชธานี ส่วนประเพณีไหลเรือไฟนครพนม พ.ศ.๒๕๕๕ จัดขึ้นบริเวณริมแม่น้ำโขงและหน้าตลาดอินโดจีน อ.เมือง จ.นครพนม ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๑ โดยจะมีการไหลเรือไฟวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๕