พระเครื่อง

อามิสทาน-ธรรมทาน : คำวัด

อามิสทาน-ธรรมทาน : คำวัด

05 ต.ค. 2555

อามิสทาน-ธรรมทาน : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

                คนไทยหายใจเข้าออกเป็นบุญ นึกถึงการทำบุญอยู่เสมอ ขาดบุญไม่ได้ แต่มักไม่เข้าใจความหมายของ "บุญ" อย่างเช่นเวลาพูดว่า "ทำบุญทำทาน"
 
                ทำบุญ คือ การทำความดี, การประกอบกรรมดี, การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มพูนความดี และเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ออกไปจากใจ
 
                การทำทานได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้นจะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ทาน มี ๒ แบบ คือ อามิสทาน ให้วัตถุสิ่งของ และธรรมทาน
   
                ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "อามิสทาน" (อา-มิด-สะ-ทาน) แปลว่า การให้วัตถุสิ่งของที่พึงให้ เรียกว่า ทานวัตถุมี ๑๐ อย่าง คือ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ มาลัยและดอกไม้ ของหอม (ธูปเทียน) เครื่องลูบไล้ (สบู่เป็นต้น) ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีป (ไฟฟ้า)ด้วยเรื่องจิตใจที่ดีงามมุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่นที่ให้แก่บิดามารดา ถวายแด่พระสงฆ์ เป็นต้นบ้าง มุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่นที่ให้คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไปด้วยความกรุณาสงสารบ้าง
 
                อามิสทาน เป็นเหตุให้ครองใจคน คือยึดเหนี่ยวน้ำใจกันเข้าไว้ได้ และเป็นบุญอย่างหนึ่งอันเป็นเหตุให้ได้มนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติในทุกภพทุกชาติ
 
                ส่วนคำว่า "ธรรมทาน " หมายถึง การให้ธรรม การให้ความดี การให้ความรู้ การให้สติปัญญา ให้ข้อแนะนำทั้งทางโลกและทางธรรม ด้วยการสอน การเทศน์ การแนะนำ การเขียน และการประกาศ เป็นต้น
 
                การทำให้คนอื่นได้ความรู้ ได้ความคิดเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ ชักนำให้คนอื่นมีความรู้สึกอยากเว้นชั่ว อยากประพฤติชอบ อยากประกอบจิตไว้ในคุณธรรม จัดเป็นธรรมทานทั้งสิ้น
 
                การให้อภัย ให้ปัญญา ให้ความยุติธรรม ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น ให้ความเป็นกันเอง ให้กำลังใจ ให้สติ ให้คำปลอบใจ เป็นต้น อนุโลมเข้าเป็นธรรมทานได้
 
                ท่านว่า "การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง" คือดีกว่าการให้วัตถุสิ่งของหรืออามิสมานนั่นเอง