
หลวงพ่อแจงตะกรุดพวงสามสุดยอดสองแคว
หลวงพ่อแจง ธมฺมโชโตตะกรุดพวงสาม สุดยอดเมืองพิษณุโลก : ชั่วโมงเซียนโดยอ.โจ้ ขวัญทอง สอนศิริ
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์แจง ธมฺมโชโต เป็นสุดพระเกจิอาจารย์ที่ลือชื่อของเมืองพิษณุโลกอีกรูปหนึ่ง ที่มีบุญฤทธิ์จิตตานุภาพ เป็นที่เคารพนับถือของชาวพิษณุโลกเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะตะกรุดพวงสามที่ท่านจารและเสกด้วยปราณ ถือว่าเป็นสุดยอดตะกรุดเมืองพิษณุโลก ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพันเป็นยิ่งนัก จนมีของปลอมออกระบาดไปทั่ว
หลวงพ่อแจงมีชื่อเสียงเกียรติคุณในการสร้าง ตะกรุดพวงสาม ชุดหนึ่งจะมี ๓ ดอก คือ ตะกรุดเนื้อชินตะกั่ว ๑ ดอก (มีประกายเกล็ดขึ้นทั่วผิว) ยาวประมาณ ๕.๕ ซม. ส่วน อีก ๒ ดอก เป็น ตะกรุดเนื้อทองฝาบาตร ยาวประมาณ ๓.๒ ซม. ตัดมุมทั้งสี่มุม ทั้งนี้หลวงพ่อจะหาฤกษ์แล้วบูชาครูจึงลงตะกรุด เรียกรูปนามไว้กลางแผ่นโลหะ แล้วจึงลงจารอักขระเลขยันต์อันทรงคุณวิเศษ
โดยได้ประยุกต์แปลงอักขระเลขยันต์ที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายให้อัตลักษณ์ยันต์ของท่าน เมือจารแล้วเสร็จหลวงพ่อจะร้อยด้วยเชือกปอกล้วย ห้อยไว้เป็นพวงๆ ละ ๓ ดอก พร้อมกับกระดาษชื่อเจ้าของตะกรุด จึงนิยมเรียกว่า พวงสาม มี ๒ แบบ คือ แบบบุรุษ และแบบสตรี (ขนาดจะเล็กและสั้นกว่าของบุรุษ) รอจนเจ้าของตะกรุดมารับท่านจึงจะประสิทธิให้เป็นรายๆ ไป คณะศิษย์นำไปใช้ติดตัวจนมีประสบการณ์สูงส่งเป็นยิ่งนักจนชื่อเสียงตะกรุดของท่านมีเกียรติคุณปรากฏไปทั่วจึงเป็นที่นิยมแสวงหากันประมาณสามหมื่นต้นๆ ถึงปลายๆ
นอกจากนั้นยังมีตะกรุดมหากระดอน ทำด้วยไม้มงคลตามเคล็ดวิชาของหลวงพ่อ ประกอบด้วย ไม้รอดถานพระ (ไม้รอดส้วมกุฎีพระโบราณที่รื้อ) ไม้ด้ามตาลปัตร และ ไม้กระท้อน ท่านจะหาฤกษ์ แล้วนำไม้ทั้งสามชนิดไปกลึง ให้เป็นรูปลักษณะคล้ายๆ ลูกสะกด ยาวประมาณ ๒ ซม.แล้วจารอักขระมหาอุด มหารูด ด้วยปราณแล้วนำมาปลุกเสกกำกับ
หลวงพ่อแจงเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปทั้งสองลุ่มน้ำ มีผู้คนมาจอดเรือ ผูกเรือจอดติดกันเป็นแพเต็มท่าน้ำหน้าวัด แล้วขึ้นมา กราบไหว้ขอพร หรืออาบน้ำมนต์กับเป็นจำนวนมากทุกวันโดยเฉพาะ เรือมอญ เรือบรรทุกข้าว จะมาจอดพักค้างแรมที่หน้าวัดของท่านในเวลาพลบค่ำ เพราะจะปลอดภัยจากการถูกปล้น เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีโจร มีนักเลงหัวไม้ชุกชุมมาก ถ้าไปจอดที่อื่นจะถูกปล้นเป็นประจำ ด้วยบุญญาฤทธิ์จิตตานุภาพของหลวงพ่อทำให้หมู่โจร และนักเลงหัวไม้ ไม่กล้ามารบกวนและเกรงกลัวเป็นยิ่งนัก จึงนิยมนำทองเหลืองหัวเรือมอญมารีดเป็นแผ่น ให้ท่านจารตะกรุดให้ พอล่องกลับก็แวะมาขอรับ นิยมเรียนกันว่า ตะกรุดหัวเรือมอญ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
ส่วนรูปหล่อโบราณหลวงพ่อแจง พบเห็นได้ ๔ แบบคือ ๑.แบบก้นเรียบ ๒.แบบ ก้นเจาะอุด ๑ รู (บรรจุกริ่ง ปิดอุดด้วยทองเหลืองเนื้อเดียวกับรูปเหมือน) นิยมเรียกกันว่า หนึ่งอุด ๓.แบบ ก้นเจาะอุด ๒ รู เป็นพิมพ์นิยม และนิยมเรียกว่า สองอุด คือ บรรจุกริ่ง ๑ อุด ปิดด้วย ทองเหลืองฯ บรรจุผง ๑ อุดปิดด้วยทองแดง หรือบางครั้งพบเป็นตะกั่ว และ ๔.แบบก้นเจาะอุด ๓ รู (สามอุดบรรจุกริ่ง ๑ อุดปิดด้วยทองเหลืองฯ และอุดบรรจุผง ๒ รู อุดปิดด้วยทองแดง หรือ บางครั้งพบบางองค์มีอุดปิดด้วยตะกั่วด้วย) สำหรับผงที่บรรจุเป็นผงพุทธคุณผสมผงอังคารธาตุของหลวงพ่อแจง
อย่างไรก็ตามในพิธีประชุมเพลิงขณะที่ไฟลุกไหม้หีบและสังขารของหลวงพ่อจนหมดแล้ว ผู้คนต่างเฮโลกับเข้าไปดับไฟ และคว้าเอาอัฐิของท่านมาเก็บไว้หรือ บางรายก็รีบเคี้ยวกลืนลงคอไป จนวุ่นวายไปหมดบริเวณจิตกาธาน ในครั้งนั้นพระราชรัตนรังษี (เกิด พ.ศ.๒๔๕๔ มรณภาพ ในปี พ.ศ.๒๕๓๔สิริอายุ ๘๐ ปี) อดีตเจ้าอาวาสวัดจอมทอง (อยู่เหนือวัดเกาะแก้ว) พ.ศ.๒๔๗๘ ภายหลังได้สมณศักดิ์ ที่พระราชรัตนรังษี ในปี พ.ศ.๒๕๒๖) จึงรีบขึ้นไปเก็บอัฐิที่คงเหลือในทันที พร้อมกันนี้ได้จัดสร้าง เหรียญรูปเหมือนครึ่งองค์พิมพ์เสมา(ทรงตั้ง) หลังยันต์ และแบบเข็มกลัด เนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์จุดไข่ปลา (ใต้ พ.ศ.๒๔๙๓) คือ จัดไข่ปลา ๗ เม็ด กับ จุดไข่ปลา ๘ เม็ด (ใบคล้ายจะแกะได้คล้ายหลวงพ่อมาก จึงเป็นพิมพ์นิยม) แหวนรูปเหมือน เนื้อเงินลงถมโบราณ มี ๒ แบบ คือ หัวแหวนรูปทรงสี่เหลี่ยม และ ทรงรูปไข่ จารึกคาถามหาอุด คาถาอุดทัง อัดโธ )
ปัจจุบันตะกรุดพวงสามหลวงพ่อแจง จึงเป็นตะกรุดยอดนิยมอันดับหนึ่งในพระเกจิอาจารย์เมืองพิษณุโลก ที่ควรค่าแห่งการสะสม ศึกษาและแสวงหา หรือมีไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตเป็นยิ่งนัก ส่วนรูปหล่อโบราณ นิยมแสวงหากันมากใน หลักหมื่นต้นๆ แล้วแต่สภาพและความสมบูรณ์ขององค์พระ
ผู้รุ่งเรืองเพราะพระธรรม
หลวงพ่อแจง ธมฺมโชโต เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดแสงดาว มีพระปลัดลิต หรือ หลวงพ่อฤทธิ์ วัดท่าตะเคียน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเลี่ยม เป็นพระกรรมวาจารย์ พระปลัดเอี่ยม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๕ได้ฉายาว่า "ธมฺมโชโต" แปลว่า "ผู้รุ่งเรืองเพราะพระธรรม"
เมื่อบวชได้ ๑ พรรษา พระครูเลี่ยมได้นำไปฝากเรียนที่สำนึกวัดท้ายตลาด หรือ วัดโมลีโลกยาราม จ.ธนบุรี จำพรรษาอยู่ ๕ พรรษา ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและจิตศาสตร์ พุทธาคมจากพระเถราจารย์หลายรูปในสมัยนั้นแล้วจึงขึ้นมาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว บ้านเกิด ได้ ๔ พรรษา จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว และเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ จากคำบอกเล่าของเจ้าคุณทองปลิว โสรโต
ในปัจฉิมวัย คณะศิษย์ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงถวายไว้ประจำวัด และตั้งใจจะนำเศษโลหะที่เหลือมาหล่อรูปหล่อขนาดคล้องคอ พร้อมเหรียญรูปเหมือน ซึ่งเตรียมการไว้แล้ว แต่หลวงพ่อแจงได้มรณภาพ ลงก่อนในวันแรม ๙ ค่ำ เดือนยี่ พ.ศ.๒๔๙๓ ด้วยโรคลำไส้พิการ สิริอายุได้ ๖๘ ปี พรรษาที่ ๔๗
จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณทองปลิว ว่า “...ก่อนวันประชุมเพลิง ได้มีการเททองหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อแจงขนาดคล้องคอ ด้วยการโยงด้ายสายสิญจน์จากมือสังขารของหลวงพ่อจากบนศาลาการเปรียญ มาสู่มณฑลพิธีเททอง ด้านล่าง ปรากฏว่า ด้ายสายสิญจน์ตกลงไปในเป้าหลอมทอง ที่ลุกไหม้เป็นเปลวไฟอันร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น แต่ด้ายสายสิญจน์กลับไม่ไหม้ไฟเลยแม้แต่น้อย เป็นที่อัศจรรย์ในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นยิ่งนัก...”