
พุทธกาล-พุทธมณฑล : คำวัด
พุทธกาล-พุทธมณฑล : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีพระโคตมพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระบรมศาสดา และได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ ๗๐๐ ล้านคน
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "พุทธกาล" หมายถึงช่วงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ เรียกเต็มๆ ว่า สมัยพุทธกาล ครั้งพุทธกาล หรือพุทธสมัย ก็เรียก
พุทธกาล อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ซึ่งเชื่อกันว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี ่วงเวลานี้เนียกว่า พุทธกาล ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนาดำรงอยู่มาได้ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๕๐๐ จึงเรียกปีนั้นว่า กึ่งพุทธกาล
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะถึงปี กึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจของชาวพุทธทั้งประเทศได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐
ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้นมี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐
ในครั้งนั้นมีการสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมายจึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วน คือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕