
เหรียญครูบาผัดทองคำรุ่นแรกค่านิยมสองแสนกว่า
เหรียญครูบาผัดทองคำ รุ่นแรกพุทธเด่นทางเมตตา ค่านิยม ๒๒๐,๐๐๐ บาท : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
พระครูพิศิษฏ์สังฆการ หรือครูบาผัด ผุสฺสิตธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล ตั้งอยู่ ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพระเกจิอันดับ ๑ ใน ๙ ของพระเกจิแห่งล้านนา มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากมาย และงานเผยแผ่ศาสนาอีกมากมายเช่นกัน และยังเป็นผู้สืบทอดวิชาทำตะกรุดมหากาสะท้อนกลับ และตะกรุดหัวใจพุทธคุณ ๑๐๘ ตะกรุดมหาลาภ
"นายผัด เจริญเมือง" เป็นชื่อและสกุลเดิมของครูบาผัด เกิดเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๖๘ ปีฉลู บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๘๓ ขณะอายุ ๑๕ ปี ณ วัดป่าแคโยง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยมีพระอุปัชฌาย์คือ พระอธิการอินตา วัดสันกลาง ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ที่วัดกองทราย ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยพระอุปัชฌาย์คือพระอธิการมั้น นันโท วัดป่าเปอะ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้รับฉายา ผุสสิตธัมโม
พ.ศ.๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล พ.ศ.๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภี และเจ้าคณะอำเภอสารภี ขึ้นเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสารภี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ที่พระครูพิศิษฏ์สังฆการ พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ สิริอายุรวม ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๕
ครูบาผัดได้จัดสร้างทั้งพระเครื่อง และเครื่องรางไว้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้เหรียญรุ่นแรกถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งนี้นายวิเชียร อินทะพันธ์ นักธุรกิจหนุ่มทำธุรกิจเหล็ก และนักสะสมพระเครื่องผู้ครอบครองพระองค์นี้ ให้ข้อมูลว่า เหรียญรุ่นนี้ออกในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดศรีดอนมูล เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้า โดยผู้ที่ร่วมทำบุญ ๑๐,๐๐๐ จะได้พระราชทานเหรียญรุ่นนี้จากพระหัตถ์ เข้าใจว่าน่าจะสร้างอยู่ในหลักสิบต้นเท่านั้น ค่านิยมเนื้อทองคำอยู่ในหลักแสนต้นๆ เหรียญที่นำมาเป็นพระองค์ค่านิยมอยู่ที่ ๒๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนเนื้อทองแดงอยู่ในหลักพันกลางๆ เท่านั้น
ปัจจุบันวัดศรีดอนมูลมีครูบาน้อย เตชปญฺโญ หรือพระครูสิริศีลสังวร เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการค้นคว้าวัตรปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยอย่างจริงจังจากหนังสือ (ปั๊บสาภาษาล้านนา) ต่างๆ ที่มีอยู่ จึงค้นพบวิธีการเข้านิโรธกรรมของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย จึงตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะอุทิศชีวิตแลกกับชีวิตของครูบาผัดที่กำลังอาพาธอยู่ ด้วยการถือปฏิบัติการเข้านิโรธกรรม ตามแบบครูบาศรีวิชัย ปฏิบัติครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ และถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าอาการของครูบาผัด ที่คณะแพทย์บอกให้ทำใจ ได้หายเป็นปลิดทิ้ง จึงได้ปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าครูบาผัดจะมรณภาพแล้วก็ตาม ครูบาน้อย มักจะอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ ให้รู้จักบุญคุณ ทดแทนพระคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ จนได้รับฉายาว่า “นักบุญยอดกตัญญู”