พระเครื่อง

วิปัสสนากรรมฐาน
สารัตถะประโยชน์ทั้ง...กายและใจ

วิปัสสนากรรมฐาน สารัตถะประโยชน์ทั้ง...กายและใจ

23 พ.ค. 2552

วิปัสสนา คือ อุบายวิธีสำหรับฝึกจิตให้เกิดปัญญา รู้แจ้งตามความเป็นจริง ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ข้อ ๕๕ หน้า ๓๐ ฉบับมหาจุฬาฯ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความหมายของวิปัสสนาไว้ว่า “ปัญญาที่รู้ชัด ด้วยการวิจัย เลือกเฟ้น กำหนดหมาย คิดค้น ใคร่ครวญธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริ

 ตามความหมายในพระไตรปิฎก วิปัสสนา จึงหมายถึง “ปัญญาที่รู้ชัดเห็นจริงในธรรม” นั่นเอง

 ปัญญาในความหมายทางโลก คือ สติปัญญา ความเฉลียวฉลาดในกิจธุระหน้าที่ต่างๆ อาจจะเป็นความฉลาดในทางที่ดีก็ได้ ในทางที่ไม่ดีก็ได้

 แต่ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นปัญญาที่จะต้องฟาดฟันกิเลสในตัวเราเอง ให้เกิดความรู้ทางใจ ที่เรียกว่า “วิปัสสนา” 

 ฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นการฝึกปัญญาให้เห็นสภาพตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น การพิจารณาให้เห็นลักษณะ ๓ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ คือ พิจารณาว่า ชีวิตคนเรานี้

 เป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีเกิด มีเสื่อม และจะต้องมีดับเสมอหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏสงสาร

 เป็นทุกขัง มีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก เพราะไม่อยู่ในสภาพเดิม มีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่

 เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นสิ่งที่ตนบังคับไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่สมมติขึ้นทั้งนั้น ฉะนั้นจะต้องไม่หลงตน ไม่ลืมตัว

 สำหรับความแตกต่างระหว่าง สมถะ กับ วิปัสสนา นั้น พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมังกโร) หรือ เจ้าคุณพรหม กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา และเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำกรุงเทพมหานครแห่งที่ ๑ วัดยานนาวา อธิบายให้ฟังว่า

 การปฏิบัติธรรม หรือ ที่เรียกว่า ปฏิบัติกรรมฐาน ดังที่ได้อธิบายแล้วว่า มีทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทยมีสำนักที่สอนทั้งสมถะและวิปัสสนาหลายแห่ง กรรมวิธีดำเนินการสอนและปฏิบัตินั้น ย่อมแตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมของจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติ และตามที่สืบทอดกันมาจากบุรพาจารย์ของแต่ละสำนัก เช่น
 บางแห่งสอนให้ภาวนาคำว่า "พุทโธ" โดยให้หายใจเข้าว่า “พุท” หายใจออกว่า “โธ”
 บางแห่งให้ภาวนาคำว่า “สัมมาอรหัง” โดยให้หายใจเข้าว่า “สัมมา” หายใจออกว่า “อรหัง”
 บางแห่งให้กำหนดอาการพองยุบของท้อง โดยหายใจเข้า ให้กำหนดว่า “พองหนอ” หายใจออกให้กำหนดว่า “ยุบหนอ”

 บางแห่งให้ถือเอานิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น ให้เพ่งลูกแก้ว ให้เพ่งไฟ ให้เพ่งน้ำ เป็นต้น

 และบางแห่งให้กำหนดอาการเคลื่อนไหวของอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อกิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้มีสติรู้เท่าทันในกิริยาอาการที่เกิดขึ้น

 ในบรรดาการปฏิบัติเหล่านั้น ถ้าปฏิบัติโดยกำหนดให้จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่สนใจอารมณ์ หรือสิ่งอื่นที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติจนทำให้จิตเกิดเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิในระดับใดก็ตาม

 นี้ถือว่าเป็น สมถะ เพราะเป็นหลักการกระทำ หรือวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสงบทางใจ หรือเป็นหลักการที่ทำให้จิต ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่านดำรงตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 แต่ถ้าปฏิบัติโดยมีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ ได้แก่รูปนาม ตั้งสติกำหนดทุกอย่าง เช่น การเห็น การได้ยิน การกิน การดื่ม การพูด การคิด เป็นต้น

 อารมณ์ใดปรากฏชัดเจน ก็ตั้งสติกำหนดอารมณ์นั้น ถ้ามีอารมณ์อื่นที่ชัดเจนแทรกเข้ามา ก็ทิ้งอารมณ์เดิมแล้วไปกำหนดอารมณ์ใหม่ เป็นการกำหนดให้รู้เท่าทันรูปนาม ไม่ให้มีความยินดียินร้ายไปตามอารมณ์นั้น

 นี้ถือว่าเป็น วิปัสสนา เพราะธรรมดากฎของวิปัสสนานี้ อารมณ์ไหนกิเลสเกิดขึ้นได้ ก็ควรตั้งสติกำหนดอารมณ์นั้น เพื่อทำลายอนุสัยที่จะทำให้เกิดกิเลส และเพื่อสร้างภูมิสติปัญญาให้เจริญขึ้น และเมื่อปฏิบัติจนสติปัญญามีกำลังมากขึ้น ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

 พร้อมกันนี้ เจ้าคุณพรหมยังบอกด้วยว่า การที่บุคคลปฏิบัติกรรมฐานไปแล้ว มีอาการปวดศีรษะ หรือฟุ้งซ่านไปบ้าง ปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้าง ซึ่งอาการต่างๆ ดังกล่าวนี้ ย่อมมีสาเหตุมาจากการปฏิบัติที่เคร่งเกินไป หรือเพราะการ “ปรับอินทรีย์ไม่เท่ากัน”

 เช่น นั่งมากเกินไป เดินจงกรมมากจนเกินไป อยากจะให้จิตสงบนิ่งเร็ว หรืออยากจะบรรลุธรรมเร็วๆ เลยไปบังคับจิต บังคับลม ที่ตนเองกำหนดมากเกินไป เป็นต้น เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายขึ้นได้

 เพราะฉะนั้น ในเวลาปฏิบัติ อาจารย์ท่านจึงสอนให้ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั่งพอประมาณ เดินพอประมาณ ไม่ต้องไปบังคับลม ทำจิตใจให้สบาย เมื่อทำได้เช่นนี้ อาการเหล่านั้นก็จะหายไป

 แต่ถ้าปรับอินทรีย์ให้เสมอกันแล้ว อาการเหล่านั้นยังไม่หายไป ตามหลักการปฏิบัติธรรม ในทางพระพุทธศาสนา ท่านถือว่า อาการเหล่านี้เกิดจากกรรมเก่า กรรมที่เคยทำมาในอดีตชาติ หรือในชาติปัจจุบัน ก่อนที่จะมาปฏิบัติกรรมฐาน เช่น เคยเบียดเบียนทำร้ายมนุษย์ และสัตว์มาก่อน เป็นต้น

 ในการที่จะระงับอาการเช่นนี้ได้ ท่านสอนให้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้หมั่นทำบุญ แผ่เมตตา ให้เจ้ากรรมนายเวร และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขาอยู่เสมอ บุญกุศลย่อมจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ อย่างแน่นอน

 อย่างไรก็ตาม สำนักปฏิบัติธรรมประจำกรุงเทพมหานครแห่งที่ ๑ วัดยานนาวา มีการจัดอบรมปฏิบัติธรรมเป็นคณะใหญ่ และคณะย่อย แก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ผู้ใฝ่ต่อการปฏิบัติเป็นประจำ ทั้งในด้านสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน  ระยะเวลา ๑ วัน ๓ วัน หรือ ๗ วัน และมีอบรมค่ายคุณธรรม สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ทั่วไป โดย วิปัสสนาจารย์ประจำ และวิปัสสนาจารย์พิเศษ ผู้สนใจการปฏิบัติธรรมติดต่อได้ที่  พระครูอนุศาสน์สุธรรมนันท์ โทร. ๐-๒๒๑๒-๖๑๘๐, ๐-๑๓๐๖-๓๙๖๙

สารัตถะประโยชน์
 เจ้าคุณพรหม บอกว่า อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนานั้น สามารถนำมาแสดงให้เห็นตามนัยที่ท่านกล่าวสรุปไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมีอยู่ ๔ ประการ คือ ๑.นานากิเลสวิทฺธสนํ กำจัดกิเลสต่างๆ ๒.อริยผลรสานุภวํ เสวยรสของอริยผล อริยผลได้แก่ อริยผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล  ๓.นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ และ ๔.อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ สำเร็จเป็นอาหุเนยยบุคคลของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย อาหุเนยยบุคคลได้แก่ พระอรหันต์ซึ่งเป็นบุคคลผู้สมควรแก่เครื่องสักการะที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาบูชา

 นอกจากนี้แล้ว การเจริญวิปัสสนานั้น ย่อมเกื้อหนุนให้ได้รับความสุขทั้งทางร่างกาย และจิตใจในชีวิตประจำวันได้ด้วย คือ

 คุณประโยชน์ทางร่างกาย ทำให้ร่างกายมีอัตราการหายใจละเอียดและยาวขึ้น เป็นผลดีต่อปอด กล่าวคือ ร่างกายใช้ออกซิเจน และขับถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง

 อัตราการเต้นของหัวใจน้อยลง เป็นผลดีต่อหัวใจ ปริมาณแลคเตท (Lactate) ในเลือด ซึ่งเกี่ยวกับความวิตก กังวลจะลดต่ำลงเป็นลำดับ เลือดเป็นกรดสูงขึ้นเล็กน้อย แสดงถึงสุขภาพดี คลื่นสมองมีความราบเรียบ ทำให้มีสติปัญญาดี 

 ความต้านทานของผิวหนังสูงขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ความต้านทานของร่างกายดีขึ้น อาจบรรเทาโรคแพ้ต่างๆ และโรคที่เกิดทางร่างกายบางอย่างได้ 

 คุณประโยชน์ทางจิตใจ ทำให้จิตใจผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้จิตใจผ่องใส เกิดความสงบ เยือกเย็น ใจเย็น ทำให้จิตใจเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการเรียน และการทำงาน

 เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นผู้มีสติดี คือ ระลึกได้ว่า จะทำอะไร ไม่หลงลืม เป็นผู้มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่า กำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใจลอย เป็นผู้มีศีล คือไม่ประพฤติทุจริต

 เป็นผู้มีสมาธิ คือ มีจิตตั้งมั่นเป็นอันเดียว ไม่วอกแวกคิดฟุ้งซ่าน เป็นผู้มีปัญญา คือ มีความรอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ สิ่งที่เป็นบุญ และเป็นบาป เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ อ่อนน้อมถ่อมตน

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0