พระเครื่อง

พระเจดีย์ : คำวัด

พระเจดีย์ : คำวัด

18 พ.ค. 2555

พระเจดีย์ : คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์

              “พระมหาเจดีย์พระธาตุโพธิ์ทอง” ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ โดยสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ กทม. เป็นประธาน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๙ เมตร หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกผนวชเมื่ออายุ ๒๙ พรรษา มีระเบียงรอบพระมหาเจดีย์กว้าง ๓ เมตร เมื่อรวมทางเดินทั้ง ๒ ข้าง กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของพระมหาเจดีย์ ๒๙ เมตร เป็น ๓๕ เมตร อันหมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
 
              องค์พระมหาเจดีย์มี ๕ ยอด อันหมายถึง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์นี้ ลานองค์พระมหาเจดีย์มีพื้นที่กว้างด้านละ ๘๐ เมตร อันหมายถึงพระพุทธเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ส่วนความสูงของเจดีย์นั้นเป็นไปตามความเหมาะสมของการออกแบบ คือ ๔๓ เมตร
 
              อย่างไรก็ตาม พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า “เจดีย์” ไว้ว่า สิ่งที่พึงบูชา ใช้ได้ใน ๒ ความหมายคือ ๑.หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่มีรูปทรงคล้ายล้อมฟาง หรือโอคว่ำ ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ เช่น พระธาตุ ส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐหรือคอนกรีต เพื่อความแข็งแรงทนทาน ซึ่งมีหลายรูปแบบ
 
              ๒.หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เพราะเป็นสิ่งที่พึงบูชา หรือสิ่งที่พึงเคารพในฐานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของสูง เรียกว่าพุทธเจดีย์
 
              คำว่าเจดีย์มีที่มาจากคำว่า “เจติยะ” ในภาษาบาลี หรือ “ไจตย” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งจะมีความหมายที่กว้าง เพราะหมายถึงสิ่งที่ใช้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องรำลึกทั้งนี้เฉพาะแต่เจดีย์ครั้งหลัง พุทธกาลที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น มีการกำหนดให้สร้างขึ้น ๔ อย่างได้แก่
 
              ๑. ธาตุเจดีย์ คือ สิ่งก่อสร้างอย่างที่เรียกว่า “พระสถูป” ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
 
              ๒. ธรรมเจดีย์ คือ พระธรรมคำสั่งสอนทั้งมวลของพระพุทธเจ้า ทั้งที่จารึกลงเป็นพระคัมภีร์หรือหนังสือ เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกหรือแผ่นจารึกอักษรธรรม เป็นต้น
 
              ๓. บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่สำคัญ ๔ แห่ง ที่เคยเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ซึ่งทรงอนุญาตให้ใช้เป็นสังเวชนียสถานสำหรับพุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่รำลึกถึง พระองค์ ได้แก่ ๑.ป่าลุมพินีวัน เมืองกบิลพัสดุ์ สถานที่ทรงประสูติ ๒.ต้นโพธิ์ ตำบลพุทธคยา สถานที่ทรงตรัสรู้

              ๓.ตำบลอิสิปัตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่ทรงปฐมเทศนา และ ๔. ตำบลสาละวัน เมืองกุสินารา สถานที่ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
 
              ๔. อุเทสิกะเจดีย์ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธองค์ เช่น พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธบัลลังก์ เป็นต้น เชื่อกันว่ารูปแบบลักษณะเดิมของ “พระสถูป” นั้น มาจากการอิงแบบอย่างลักษณะของเนินดินที่พูนเป็นโคก ตรงที่ฝังอัฐิธาตุในวัฒนธรรมของชาวอินเดียที่นิยมให้มีการปักร่มหรือฉัตรบน โคกนั้นเพื่อแสดงเกียรติยศสำหรับบุคคลสำคัญซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อมีการสร้าง เป็นพระสถูปก็อาศัยรูปแบบลักษณะนั้น โดยเฉพาะพระสถูปของพระพุทธองค์