
พ่อหลวงล้านพระหมอลุ่มแม่น้ำตาปี
พ่อหลวงล้าน เขมจิตโตเกจิ-พระหมอต่อกระดูกแห่ง "ลุ่มแม่น้ำตาปี" : เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
พระครูเกษมจิตตาภิรักษ์ หรือ "พ่อหลวงล้าน เขมจิตโต" อายุ ๗๗ พรรษาที่ ๕๐ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดขนาย และเจ้าคณะตำบลบางงอน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าแห่งปักษ์ใต้
หลวงพ่อล้าน บำเพ็ญเพียรตั้งมั่นอยู่ในสมณธรรมอย่างเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติดีเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เป็นที่พึ่งพิงทางใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไป วัตถุมงคลและเครื่องรางที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกโด่งดังไปไกลทั่วประเทศ โดยเฉพาะตะกรุดผานไถและผ้ายันต์กันโจร
"ล้าน สงนรินทร์" เป็นชื่อและสกุลเดิมของพ่อหลวงล้าน เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๗๖ ณ บ้านคลองเคี่ยม ต.บางงอน อ.พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดขนาย จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ หลังจากนั้นได้ช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำนาและปลูกผักขายใช้ชีวิตในวัยหนุ่มด้วยการหาเลี้ยงครอบครัว
แต่แล้วในวัย ๒๗ ปี ท่านเกิดมีความคิดที่จะบวชเรียนตามประเพณี จึงได้กราบลาบุพการี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ณ วัดขนาย มีพระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว) เจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูพิทักษ์ธรรมสาร (หลวงพ่อพริ้ม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูรัษฎารามคณิศร์ เจ้าคณะตำบลบางงอนเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า เขมจิตโต
หลังอุปสมบทได้ศึกษาในพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ก่อนหันไปศึกษาวิชาอักขระขอม ลงเลขยันต์ จากหลวงพ่อพริ้ม สำหรับหลวงพ่อพริ้มนั้น ได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระสมุห์รวย หตาโส อดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนอีกทีหนึ่ง นอกจากวิทยาคมอักขระขอม ท่านยังได้เรียนวิชาต่อกระดูกตำรับวัดขนายโดยตรงจากหลวงพ่อพริ้ม ซึ่งสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผู้เป็นเจ้าของตำรา คือ ตาปะขาวผู้สร้างวัดขนาย ท่านได้ศึกษาวิชาต่อกระดูกจนมีความเชี่ยวชาญ ได้นำมาใช้รักษาให้ชาวบ้านที่ประสบเหตุจนกระดูกหัก ให้หายเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเปิดรักษาอยู่
ทั้งนี้ วัดขนาย แต่เดิมมีชื่อว่า "วัดโคกพร้าว" ตามตำนานกล่าวกันว่ามีตาปะขาวหรือตาผ้าขาว (ผู้มีวิชาอาคม ถือศีล นุ่งขาวห่มขาว) เป็นผู้สร้างวัดขึ้น แต่ไม่ทราบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านชาวช่องเข้ามาตั้งหลักปักฐานทำมาหากินกันมากขึ้น จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่โตขึ้นเป็นหมู่บ้าน มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า "หมู่บ้านขอ-นาย" ภายหลังเพี้ยนไปเป็น ขนาย ในที่สุด ส่วน วัดโคกพร้าว ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น วัดขนาย ตามชื่อหมู่บ้านไปด้วย
ในสมัยของ พระสมุห์รวย หตาโส อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ของวัดขนาย ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระสมุห์เกษม โดยที่ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ได้พัฒนาวัดขนายให้มีความเจริญก้าวหน้า และยังเป็นพระเถระที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งพระปรีชาอุดม เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีในสมัยนั้น เห็นคุณความดีงามของท่าน และเพื่อเป็นเกียรติแก่พระสมุห์เกษมหรือหลวงพ่อสำรวย จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อวัด จากวัดขนาย มาเป็น วัดเกษมบำรุง จนถึงปัจจุบันนี้ แต่ชาวบ้านในละแวกนั้นก็ยังคงติดปากเรียกกันว่า วัดขนาย อยู่เช่นเดิม
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดขนาย จ.สุราษฎร์ธานี พ.ศ.๒๕๔๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางงอน ส่วนลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นพระสมุห์ล้าน เขมจิตโต พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูเกษมจิตตาภิรักษ์
หลวงพ่อล้าน มักนำปัจจัยที่สานุศิษย์นำมาถวายหรือได้รับกิจนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกสำคัญทุกครั้ง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา จะนำไปพัฒนาวัดและส่งเสริมด้านการศึกษาทั้งสิ้น ทำให้วัดขนายแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาบรรยากาศภายในบริเวณวัดมีแต่ความสงบวิเวกเหมาะสมสำหรับการ ปฏิบัติธรรม
ด้วยล่วงเข้าสู่วัยชราอายุกว่า ๗๗ ปีแล้ว ทำให้สุขภาพร่างกายย่อมเสื่อมถอยไปตามวัยแต่ถึงกระนั้น ท่านก็คงยังเมตตาให้คณะศิษย์ได้เข้าพบเพื่อกราบนมัสการสนทนาธรรมจากท่านอยู่มิได้ขาดสมกับที่ได้รับการยกย่องให้ท่านเป็นพระเกจิดังแห่งลุ่มน้ำตาปี
รวมบุญซื้อที่ดินวัดขนาย
หลวงพ่อล้าน มีความชำนาญพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ, มงกุฎพระพุทธเจ้า, พระเจ้า ๑๖ พระองค์ และฆะเฏสิ ทรงอิทธิคุณในทางขับไล่สิ่งอัปมงคลชั่วร้าย เสริมดวงชะตา นำพาโชคลาภวาสนาบารมีสำหรับวัตถุมงคลที่หลวงพ่อล้าน ได้จัดสร้างจนโด่งดัง คือ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลังยันต์น้ำเต้า แต่ที่ได้รับการเล่าขานถึงอย่างกว้างขวาง คือ ตะกรุดผานไถพลิกแผ่นดิน ที่จัดสร้างจากผานไถจริงที่ใช้ไถนา เอามาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ทำตะกรุด นำมาหลอมรวมกันตามสูตรที่เรียนมาจากครูบาอาจารย์ จนได้รับการยอมรับจากบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องวัตถุมงคลว่ามีคุณเด่นด้านเมตตามหานิยมและค้าขายเจริญรุ่งเรือง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วัตถุมงคลของหลวงพ่อล้าน จะได้รับความนิยมจากบรรดาสานุศิษย์ แต่ท่านไม่เคยอวดโอ่มี แต่พร่ำสอนให้ญาติโยม อย่าดำรงชีวิตด้วยความประมาท อย่ายึดมั่นถือมั่นเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีพ้น ขณะยังมีชีวิตขอให้ทุกคนหมั่นประกอบแต่กรรมดี ละเว้นทำชั่ว เพราะอายุคนนั้นสั้นนัก ถึงไม่แก่ไม่เฒ่าก็ตายได้เช่นกัน จงอย่าประมาท
ล่าสุดทางวัดมีโครงการขยายธรณีสงฆ์ซื้อพื้นที่ขยายที่ดินวัด หลวงพ่อล้าน ได้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นสรงน้ำ ๕๕ เช่น พระบูชาหลวงพ่อล้าน เนื้อโลหะผสม หน้าตัก ๑๒ นิ้ว ๕ นิ้ว พระปิดตาเงินล้านหล่อโบราณ เหรียญหล่อโบราณรุ่นแรก ประกอบด้วย เนื้อเงิน เนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะ เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังสร้างพระปิดตาเงินล้านเนื้อทองผสมพิมพ์ใหญ่ ๕๐๐ องค์ พระปิดตาเงินล้านเนื้อทองผสมพิมพ์เล็ก ๑,๐๐๐ เหรียญพระพุทธศรีวิชัย ๕,๐๐๐ องค์ เพื่อแจกญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัด
วัตถุมงคลรุ่นสรงน้ำ ๕๕ ได้ประกอบพิธีเททองหล่อนำฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ณ มณฑลพิธีวัดวังขนาย และจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยพระเกจิอาจารย์เมืองสุราษฎร์ธานี พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่วัดขนาย จ.สุราษฎร์ธานี และศูนย์พระเครื่องชั้นนำทั่วไป ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด