
เหรียญหลวงปู่ผ่านรุ่น๘๙เกิดเหตุบล็อกรุ่น๘๘
เหรียญผ่านตลอดหลวงปู่ผ่านเหรียญรุ่น ๘๘ บล็อกยังไม่ถูกทำลายจึงมีรุ่น ๘๙ : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
"มีหลวงปู่ผ่าน เมื่อมีปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็จะผ่านทุกเรื่อง"
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อด้านพุทธคุณของพระเครื่อง และวัตถุมงคลของ "หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป" อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าประทีปปุญญาราม บ้านเซือม หมู่ ๑๑ ต.โพนแพง อ.อากาศ อำนวย จ.สกลนคร พระสายป่าศิษย์สืบสายธรรมพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งพระป่า พระนักปฏิบัติอีกรูปหนึ่งของอีสาน
วัตถุมงคลหลวงปู่ผ่าน ได้จัดสร้างมีจำนวนกว่า ๔๐ รุ่น แต่ที่ได้รับกล่าวขวัญและได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงนักสะสม เกือบทุกรุ่น โดยในจำนวนนี้มีอยู่ ๑ รุ่น ที่ผู้รับจ้างทำเหรียญยังไม่คืนบล๊อคให้วัด คือ รุ่นที่ ๒๙ เหรียญผ่านตลอด ๘๘ โดยในหนังสือ เหรียญและวัตถถุมงคลหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป ได้ระบุว่า เหรียญรุ่นนี้มีการสร้างเพียง ๒ เนื้อ คือ เนื้อทองแดงจำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ เหรียญ และ เนื้อทองเหลืองจำนวนการสร้าง ๖,๐๐๐ เหรียญ
ทั้งนี้เมื่อมีการส่งมอบวัตถุมงคลให้วัด คณะกรรมการวัดได้ขอเรียกคืนบล๊อคเพื่อทำลายแต่ผู้สร้างยังไม่คืนให้วัด เมื่อเหรียญรุ่นนี้หมดจากวัดแต่ยังปรากฏว่ายังมีเหรียญออกมาให้เช่าบูชาในลักษณะที่ไม่มีวันหมด จึงมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า "มีการสร้างเสริม" ขึ้นมาภายหลัง เพราะนับตั้งแต่วัดสั่งให้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นนี้ ทางผู้รับงานยังไม่คืนบล็อกให้วัดมาจนถึงทุกวันนี้ เหรียญรุ่นนี้จึงเล่นยากกว่ารุ่นอื่นๆ
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สร้างไม่คืนบล๊อคให้วัด จึงมีการสร้างเหรียญขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า "ผ่านตลอด ๘๙ เจริญรุ่งเรือง" โดยมีนายอำนวย บัวเขียว นายก อบจ.ชุมพร สร้างถวาย ชุดกรรมการ ๕ เนื้อ มี ๔๙ ชุด เนื้อนวโลหะตอกโค้ด ๑ ตัว ๓๐๐ เหรียญ เนื้อนวโลหะตอกโค้ด ๒ ตัว ๙๙ เหรียญ เนื้อทองเหลือง ๓๙๙ เหรียญ และ เนื้อทองแดง ๕,๐๐๐ เหรียญ เมื่อสร้างเสร็จได้ทำลายบล๊อกโดยจัดแสดงไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ผ่าน
ด้วยเหตุนี้นักสร้างวัตถุมงคล เมื่อจัดพิมพ์และปลุกเสกวัตถุมงคลเสร็จแล้ว จะมีการนำบล็อกมาทำลาย ซึ่งมักจะเชิญนักข่าวไปทำข่าวเพื่อเป็นสักขีพยานว่าบล็อกถูกทำลายแล้ว และมักจำทำลายบล็อกในวันปลุกเสก
สำหรับผู้เช่าวัตถุมงคลสร้างใหม่นั้น ภาพข่าวการทำลายบล็อก น่าจะเป็นข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นว่า พระเครื่องและวัตถุมงคลรุ่นนั้นๆ จะไม่มีการสร้าง พระเสริม พระเพิ่ม พระเติมขึ้นมาในภายหลัง