
โกติน นาทวีสะสม'พ่อทวดยุคแรกสงขลา
อีกตำนานหนึ่งของ พระหลวงพ่อทวด โกติน นาทวี นักสะสมพระยุคแรกของ จ.สงขลา : เส้นทางนักพระเครื่อง โดย ตาล ตันหยง
จะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย คือ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีพื้นที่รอยต่อกับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบในแถบนี้ โดย ๔ อำเภอของ จ.สงขลา นี้ก็ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย แม้จะไม่มากนักก็ตาม
อ.นาทวี เป็นอำเภอเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรมีค่ามากมาย ชาวบ้านไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ความเจริญรุ่งเรืองมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอดีตที่เคยเป็นเมืองเล็กในป่าใหญ่ ทุกวันนี้กลับกลายเป็นอำเภอสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.สงขลา ที่มีเส้นทางคมนาคมรอบด้าน โดยเฉพาะในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดด่านติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เพิ่มขึ้นอีกจุดขึ้นในอำเภอแห่งนี้ ตรงตำบลที่มีชื่อว่า บ้านประกอบ เมื่อถึงวันนั้นแล้ว เชื่อแน่ว่าเศรษฐกิจของ อ.นาทวี จะเติบโตขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า
เส้นทางนักพระเครื่อง วันนี้ได้เดินทางไป อ.นาทวี เพื่อพบปะพูดคุยกับ โกติน (ปรีชา กระจ่างพัฒน์วงษ์) เจ้าของร้านกาแฟ เพิ่มพูน อันเก่าแก่ แหล่งนัดพบของนักสะสมพระเครื่องในท้องถิ่นนี้ โดยมี “โกติน” นักสะสมพระหลวงพ่อทวด มานานกว่า ๔๐ ปี เป็นเสาหลักของที่นี่ และที่สำคัญ “โกติน” เป็นคนหนึ่งที่ไปเข้าแถวอย่างยาวเหยียด เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๕ เพื่อรอรับ พระหลวงพ่อทวด รุ่นหลังเตารีด และ หลังตัวหนังสือ อย่างละ ๑ องค์ โดยใช้เวลารอนานกว่าครึ่งวันถึงจะได้รับพระ ทั้งนี้ก็ด้วยความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อทวด ที่มีอยู่อย่างแรงกล้า
“ตอนนั้นผมยังอยู่กับแม่ที่ตัวเมืองปัตตานี ได้รู้ข่าวสารแบบบอกกันต่อๆ ปากต่อปากว่า พระอาจารย์ทิม จะปลุกเสกพระหลวงพ่อทวด ในตอนเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ผมกับเพื่อนๆ จึงพากันนั่งรถสองแถวออกจากปัตตานีตั้งแต่เช้า ไปถึงวัดช้างให้ปรากฏว่ามีผู้คนล้นหลาม เต็มลานวัดไปหมด คนที่อยากได้พระหลวงพ่อทวด ต้องเข้าแถวรอกันอย่างยาวเหยียด พอถึงตอนเที่ยงทางวัดก็เปิดหน้าต่างจ่ายพระให้ชาวบ้านที่ต้องการทอนพระ (เช่าบูชา) ซึ่งเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีการแซงหน้าแซงหลังกันแต่อย่างใด พอถึงตรงหน้าต่างก็ยื่นเงินเข้าไป พร้อมกับบอกเจ้าหน้าที่ข้างในว่า จะเอาพิมพ์หลังเตารีด หรือพิมพ์หลังตัวหนังสือ ถ้าเป็นพิมพ์หลังเตารีดทำบุญองค์ละ ๓๐ บาท หลังตัวหนังสือทำบุญองค์ละ ๒๐ บาท มีเฉพาะพิมพ์ใหญ่เท่านั้น ไม่มีพิมพ์กลาง หรือพิมพ์เล็ก แต่อย่างใด (พิมพ์กลางพิมพ์เล็กอาจจะมีแต่ผมไม่เห็น หรืออาจจะออกในวันต่อมาก็ไม่ทราบ) ผมมีเงินเพียง ๕๐ บาทเท่านั้น ก็เลยได้พระมาเพียง ๒ องค์ พระทั้ง ๒ องค์นี้ผมยังเก็บรักษาจนถึงทุกวันนี้ โดยตั้งใจจะมอบให้ลูกๆ ไว้ใช้ต่อไป สมัยนั้นผมยังไม่ค่อยมีเงินมากนัก หากมีเงินมากๆ ผมคงจะได้พระหลวงพ่อทวดมากกว่านี้” โกติน ในวัย ๗๒
เล่าฟื้นความหลังอย่างมีความสุข
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๔๙๗ พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้สร้าง พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก เพื่อแจกแก่ชาวบ้านที่มาทำบุญที่วัด “โกติน” อายุสิบกว่าขวบ ได้ติดตามคุณแม่จากตัวเมืองปัตตานี ไปทำบุญที่วัดช้างให้ ซึ่งไกลพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางสมัยนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวันนี้ ทั้งนี้ ก็เพราะคุณแม่มีความเลื่อมใสในปฏิปทาอันน่าศรัทธานับถือของพระอาจารย์ทิมเป็นที่ตั้ง ความเป็นพระบริสุทธิ์ผุดผ่องของท่านอาจารย์ทิม เป็นที่เลื่องลือกันมาก และอย่างกว้างไกลไปทั่วทุกแห่งหน
โกติน เล่าว่า “ผมได้ติดตามแม่ไปวัดช้างให้หลายครั้ง เมื่อทำบุญไหว้พระเสร็จแล้วถึงได้ขอทอนพระ (เช่าพระ) หลวงพ่อทวดจากท่านอาจารย์ทิม ท่านบอกให้หยิบพระเอาเองในบาตร ผมกำพระมาได้ ๕ องค์ ก็เอาให้ท่านอาจารย์ทิมมอบให้อีกทีหนึ่ง ส่วนเงินค่าทอนพระนั้น ท่านอาจารย์ทิมจะไม่จับต้องเงินทอง ท่านบอกให้ใส่ไว้ในกล่องเงินทำบุญ จะทำบุญเท่าไรก็ได้ ไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์แต่อย่างใด พอกลับมาถึงบ้านแม่ก็เอาพระหลวงพ่อทวดไว้บูชาบนหิ้งพระ สมัยนั้นใครไปที่วัดช้างให้ จะเอาพระหลวงพ่อทวดกี่องค์ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่โลภมาก เอาเพียงแค่ไม่กี่องค์ เฉพาะคนในบ้านเท่านั้น”
ต่อมา “โกติน” ได้ย้ายมาอยู่ อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่ออายุได้ ๓๓ ปี โดยได้แต่งงานกับภรรยาที่อยู่กินกันอย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้
ชีวิตใหม่ของ “โกติน” ที่ตลาดนาทวี ได้เปิดร้านขายหนังสือพิมพ์ (ชื่อร้าน “เพิ่มพูน”) โดยรับหนังสือพิมพ์ต่อมาจากร้านหาดใหญ่บรรณาคาร (มหารุ่ง) สมัยนั้นรอบด้านตลาดนาทวียังเป็นป่า เงียบสงบ การเดินทางไปมายังไม่สะดวก ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปในชนบท จะขี่ช้างมาหาซื้อข้าวของที่จำเป็นที่ตลาดนาทวี เดือนละครั้ง หรือนานกว่านั้น
“ผมขายหนังสือพิมพ์อยู่ระยะหนึ่งก็เลิก หันมาเปิดร้านน้ำชา (ชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกร้านกาแฟว่า “ร้านน้ำชา”) ตอนเช้าๆ มีคนมานั่งกินน้ำชาก็พูดคุยกันเรื่องต่างๆ นานา เป็นสโมสรเล็กๆ ของคนท้องถิ่น เรื่องที่พูดคุยบางครั้งก็มีเรื่องของหลวงพ่อทวดด้วย เพราะชาวบ้านเคารพนับถือมาก ตอนนั้นผมมีพระหลวงพ่อทวดอยู่แล้ว ๒ รุ่น คือ รุ่นแรก เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ และรุ่นหลังเตารีดกับหลังตัวหนังสือ ที่ผมไปรับมากับมือ รวมทั้งเหรียญรุ่นแรก ปี ๒๕๐๐ ผมจึงได้ส่องดูพระทุกองค์ทุกวันจนจำได้ ขณะเดียวกันใครมีพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน มาให้ดูก็จะขอซื้อเขา วันหนึ่งผมได้ซื้อพระหลวงพ่อทวด พิมพ์พระรอดหน้าเล็ก เนื้อว่าน องค์หนึ่ง ๓๐๐ บาท (ถือว่าค่อนข้างแพง) ภรรยาผมต่อว่าผมไม่หยุด บ่นว่าซื้อมาทำไม เบี้ยก็ไม่ค่อยมี ผมทนเสียงบ่นของภรรยาไม่ไหว เลยขายพระหลวงพ่อทวดองค์นั้นให้พี่สาวภรรยาในราคาเดิม ไม่เอากำไรสักบาท ทุกวันนี้พี่สาวภรรยาก็ยังแขวนพระหลวงพ่อทวดองค์นั้นอยู่ มีเซียนพระจากหาดใหญ่มาขอซื้อถึง ๓ แสนบาทก็ไม่ยอมขาย” โกติน เล่าเรื่องอดีตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม “โกติน” ยังมีความรักชอบในการหาซื้อพระหลวงพ่อทวดอยู่เหมือนเดิม (โดยไม่ให้ภรรยารู้) ชาวบ้านที่รู้ข่าวก็เอาพระหลวงพ่อทวดมาขายให้ องค์ละ ๓๐๐ บาท ได้มาหลายองค์ ต่อมามีเพื่อนคนหนึ่งไม่มีงานทำ “โกติน” จึงบอกให้เขาไปหาซื้อพระหลวงพ่อทวดตามบ้านคน โดยให้ราคาองค์ละ ๕๐๐ บาท ก็ได้พระมาเรื่อยๆ พระเหล่านี้เซียนพระจากหาดใหญ่ได้ขอซื้อต่อจาก “โกติน” องค์ละพันสองพันบาท องค์สวยๆ ก็เก็บไว้ใช้เอง พระเหล่านี้ล้วนเป็น พระองค์ครู ที่สอนให้ “โกติน” ได้เรียนรู้จนดูพระเป็น ซึ่ง “โกติน” บอกว่า จุดสำคัญของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน คือ มวลสารต่างๆ ที่ผสมอยู่ในเนื้อว่าน เช่น เม็ดพุทราป่า เม็ดกล้วยป่า รวมทั้งเม็ดแร่ และพิมพ์ทรง ต้องหาพระแท้ดูให้บ่อยๆ ก็จะจำได้เอง
ที่ผ่านมา “โกติน” มีพระหลวงพ่อทวดเก็บอยู่หลายสิบองค์ ทั้งเนื้อว่าน ๙๗ เหรียญรุ่นแรก และเหรียญรุ่นหลังๆ ที่ทันพระอาจารย์ทิมปลุกเสก รวมทั้งรุ่นหลังเตารีด หลังตัวหนังสือ ปี ๒๕๐๕ ทุกวันนี้พระส่วนใหญ่ได้ให้ลูกชาย ๒ คนไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ไม่กี่องค์ ที่แขวนติดตัวเป็นประจำ คือ เนื้อว่าน ๙๗ พิมพ์พระรอด
“สมัยที่ผมซื้อพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๙๗ ที่ได้มาบ่อยๆ นั้น ยังไม่มีพระปลอม จึงซื้อได้ด้วยความสบายใจ จะมีบ้างก็เป็นพระหลวงพ่อทวดที่สร้างขึ้นจากวัดอื่นๆ ซึ่งพิมพ์ก็ไม่เหมือนกับของวัดช้างให้ แต่สมัยนี้พระปลอมทำได้เฉียบขาดมาก หากไม่มีความรู้ในการดูพระมาก่อนก็อาจจะพลาดได้ สำหรับผมอายุก็มากแล้ว พระแท้เราก็มีอยู่แล้ว จึงไม่ขวนขวายที่จะหาซื้อเข้ามาอีก ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ทุกวันนี้ พระหลวงพ่อทวด เป็นพระหลักยอดนิยมที่นักสะสมพระทั่วประเทศต้องการกันมาก รวมทั้งชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็มาหาเช่าพระหลวงพ่อทวด ทำให้ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลักแสนหลักล้าน ทั้งนี้ก็ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อทวด ที่ได้ช่วยคุ้มครองคนที่บูชาพระของท่านให้ประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง มีความปลอดภัยแคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ รวมทั้งมีเมตตามหานิยมอีกด้วย” โกติน กล่าวในตอนท้าย