
พระยอดธงเมืองนครศรีธรรมราช
พระยอดธงเมืองนครศรีธรรมราช : โดย...ไตรเทพ ไกรงู
พระยอดธงเมืองนครนั้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จัดสร้างองค์พระพุทธสิหิงค์ในรูปแบบของสุดยอดพระเครื่องซึ่งประดิษฐานบนธงชัย ในการรณรงค์สงครามแต่ครั้งอดีตกาล ด้วยความเชื่อที่ว่า จะสามารถปกป้องภยันตรายจากข้าศึกศัตรูและรบชนะข้าศึกกลับสู่บ้านเมืองได้อย่างปลอดภัย ในส่วนของกองทัพสมัยนั้นก็จะมีการเสริมสิริมงคลแก่กองทัพโดยอาราธนาพระพุทธรูปลอยองค์ ๑ องค์ มาเสียบไว้ที่ยอดธงประจำทัพในแต่ละทัพ เราเรียกกันว่า "พระยอดธง" ซึ่งความเชื่อนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ศุภมัสดุพุทธศักราชได้ ๒๕๕๔ ได้มีการอัญเชิญพุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์พระคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศและดินแดนภาคใต้ มาจัดสร้างขึ้นเป็นพระยอดธงเมืองนคร โดยคงพุทธลักษณะอันงดงามแห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อนำเงินที่ได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานวัดวังตะวันออก
เนื่องด้วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) โอรสแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ประสูติแต่คุณหญิงปราง อันมีที่ประทับอยู่ที่วัดวังตะวันออกนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการรณรงค์สงคราม ได้รับชัยชนะจากศัตรูทั่วทุกทิศานุทิศ ถวายงานรับสนองพระบรมราชโองการแห่งองค์พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าราชวงศ์จักรีตีข้าศึกไปจนถึง ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนมาถึงปัจจุบัน
สำหรับวัดวังตะวันออก จ.นครศรีธรรมราช นั้น มีความเกี่ยวพันกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ปรากฏเรื่องราวในตำนานพงศาวดารที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษก มีหลายเมืองยังไม่ยอมขึ้นตรงต่อพระองค์รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นชุมนุมขึ้นเป็นเอกเทศเนื่องจากบ้านเมืองยังอยู่ในภาวะระส่ำระสายหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระเจ้าตากได้ทำการปราบหัวเมืองต่างๆ อย่างเด็ดขาด เว้นแต่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าเมืองมีนามว่า "เจ้านครพัฒน์" เนื่องจากเมื่อเจ้านครพัฒน์ได้พิจารณาสถานการณ์แล้วเห็นว่า พระเจ้าตากเป็นผู้มีบุญญาธิการมากจึงรับพระบรมราชโองการ ยกพลลงไปปราบทางใต้ไปจนอินโดนีเซีย และเมื่อปราบศัตรูสิ้น เจ้านครพัฒน์ได้ถวายน้องภรรยาชื่อว่า คุณปราง ให้เป็นสนมในองค์พระเจ้าตากสิน และทุก ๑ ปีจะนำค่าภาษีอากรมาถวายให้ที่กรุงธนบุรี
ต่อมาเมื่อภรรยาของเจ้านครพัฒน์เสียชีวิต พระเจ้าตากทราบจึงรับสั่งให้พาคุณปรางกลับไปนครศรีธรรมราชด้วย แต่มาทราบภายหลังว่าคุณปรางตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือน แต่พระองค์ได้ตรัสไปแล้ว เจ้านครพัฒน์จึงต้องพาคุณหญิงปรางกลับมาที่นครศรีธรรมราช แล้วจึงได้สร้างวังใหม่ บริเวณวัดวังตะวันออก ในปัจจุบัน สถาปนาคุณหญิงปรางขึ้นเป็นพระนางมิ่งเมือง
ส่วนวังตะวันออกนั้น ถูกทิ้งร้างมาระยะหนึ่ง ต่อมาจึงมีการถวายที่เป็นวิสุงคามสีมาโดยมีพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจำพรรษา จึงเรียกกันว่าวัดวังตะวันออกสืบมา นับเป็นที่สำคัญอันเกี่ยวพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสถานที่ซึ่งพ่อท่านคล้าย (วาจาสิทธิ์) ได้มาจำพรรษา และบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน
พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่ ชมรมพระเครื่องเมืองสิบสองนักษัตร วัดวังตะวันออก จ.นครศรีธรรมราช โทร.๐-๗๕๓๑-๗๐๗๓ และ ๐๘-๑๙๕๘-๓๑๕๙
---------------------------
(พระยอดธงเมืองนครศรีธรรมราช : โดย...ไตรเทพ ไกรงู)