
ปาฏิหาริย์แคล้วคลาดที่'ลีการ์เดนส์'
อ.กุล สุนทรวิจิตร อีก ๑ ปาฏิหาริย์แคล้วคลาดที่ "ลีการ์เดนส์" : สรณะคนดัง เรื่อง / ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ / ศูนย์ข่าวภาคใต้
เหตุ “คาร์บอมบ์” กลางเมืองหาดใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นวันที่ตรงกับกำหนดการแถลงข่าวการจัดงาน “หาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์” บริเวณการจัดงานคือ ถนนเสน่หานุสรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุระเบิดกลางเมือง แต่เคราะห์ดีที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ให้เลื่อนการจัดงานจากเวลาเดิมโดยจะเริ่มช่วงบ่ายไปเป็นช่วงเย็น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองสงขลา รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อแรงระเบิดไปอย่างหวุดหวิด หลังจากคนร้ายจุดชนวนระเบิดเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.
“ผมรอดตายกับพระมาแล้วหลายหน และครั้งล่าสุดกับเหตุการณ์คาร์บอมบ์ลานจอดรถใต้โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่าหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เปลี่ยนแผนไม่ไปที่เกิดเหตุอย่างกะทันหัน ทั้งที่มีภารกิจต้องไป แต่กลับเลือกไปสำรวจเส้นทางนำนักท่องเที่ยวไหว้พระแทน ไม่เช่นนั้นผมอาจจะเป็นหนึ่งในผู้โชคร้ายที่ต้องหนีตายในวันนั้น” คำบอกเล่าของ..."อาจารย์กุล” หรือ “กุล สุนทรวิจิตร” นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา
เหตุการณ์ระทึกขวัญกลางเมืองหาดใหญ่ ในช่วงบ่ายปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่หนแรกที่ อ.กุล รอดพ้นจากความตายอย่างฉิวเฉียด เพราะ “เมืองศูนย์กลางของภาคใต้” ตกเป็นเหยื่อการลอบสร้างสถานการณ์มาแล้ว ๕ ครั้ง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา
อ.กุล เล่าต่อว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ในช่วงค่ำคืนของวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๙ โดยปฏิบัติการครั้งนั้นผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ในเมืองแห่งนี้ไล่เลี่ยกันทั้งหมดจำนวน ๕ จุด จุดแรกที่เกิดระเบิด คือ บริเวณประตูหน้าศูนย์การค้าโอเดียน ๑ มุมถนนธรรมนูญวิถี ตัดถนนเสน่หานุสรณ์ เป็นจุดที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
จุดที่ ๒ บริเวณหน้าศูนย์การค้าโอเดียน ๒ ประตูออกของห้าง ถนนเสน่หานุสรณ์ มีแผงขายสินค้าหน้าห้างได้รับความเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเช่นกัน จุดที่ ๓ บริเวณหน้าร้านนิวเชอรี่นวดแผนโบราณ ถนนธรรมนูญวิถี มีผู้เสียชีวิต ๔ ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก จุดที่ ๔ บริเวณศูนย์การค้าบิ๊กซี สาขาหาดใหญ่ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ และจุดที่ ๕ บริเวณหน้าห้องน้ำ ชั้น ๕ โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้าไดอาน่า ถนนศรีภูวนารถ อ.หาดใหญ่ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต ๔ คน บาดเจ็บ อีก ๖๒ ราย ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
“เหตุการณ์ครั้งนั้น ผมจำได้ดี เนื่องจากผมมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าโอเดียนหาดใหญ่ และจุดระเบิดก็อยู่ใกล้สถานที่ทำงาน ซึ่งก่อนเกิดเหตุผมยังนั่งทำงาน แต่จู่ๆ ก็เหมือนมีอะไรมาดลใจให้นำรายละเอียดเส้นทางนำนักท่องเที่ยวมาเลซียไหว้พระไปให้กับผู้ประกอบการนำเที่ยวที่นัดหมายกันไว้ และยังไม่ทันคล้อยหลังจากที่ทำงานก็มีเสียงตูมสนั่นขึ้นทันที” อ.กุล เล่าราวกับว่าเหตุการณ์นี้เพิ่งผ่านพันไปเพียงไม่กี่นาที ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วเกือบ ๖ ปี
พร้อมกันนี้ อ.กุล ยังบอกด้วยว่า ทั้ง ๒ เหตุการณ์ระเบิดกลางเมือง มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ “เส้นทางไหว้พระ” เป็นแรงเหนี่ยวนำให้เฉียดพ้นอันตรายอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะตลอดการดำรงตำแหน่ง “หัวเรือมัคคุเทศก์เมืองสงขลา” เรื่องที่ผลักดันและนำเสนอในแง่มุมการท่องเที่ยวมาตลอดนั่นคือ “เส้นทางบุญ” เพราะด้วยความ “ศรัทธา” และชื่นชอบในเรื่อง ”วัด” จึงบรรจุเรื่องราวการนำ “เที่ยวในวิถีพุทธศาสนา” ให้กับนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์มาตลอด
“ผมจะพานักท่องเที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆ ในหาดใหญ่ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช เพราะปักษ์ใต้บ้านเรามีวัดดีๆ เยอะแยะมากมาย แต่คนส่วนใหญ่มักมองผ่าน ในขณะที่ชาวมาเลเซียกลับชื่นชอบ ผมจึงพยายามสร้างกระแสท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมในเส้นทางบุญของภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าสิ่งที่ทำคงหนุนนำให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ระเบิดมาได้อย่างหวุดหวิดถึงสองครา” อ.กุล กล่าว
เมื่อถามถึงพระเครื่องที่แขวนติดตัว “นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสงขลา” บอกว่า ศรัทธาในพระเครื่องท้องถิ่น นั่นคือ เหรียญอาจารย์แปลง วัดควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีเหตุผลเดียว คือ เป็นวัดใกล้บ้าน และเป็นพระภิกษุที่ชาวบ้านเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ และที่สำคัญเป็นเหรียญที่ได้รับมากับมือ "ท่านพระครูวิศาลธรรมคุณ” หรือ “อาจารย์แปลง ติสฺสโร” นั่นเอง
“ผมแขวนเหรียญอาจารย์แปลง มาตลอด นับแต่ท่านมอบให้กับมือ โดยบอกว่า อย่าลืมกำพืด อย่าลืมถิ่นฐานบ้านเรา ขอให้ช่วยกันบอกกล่าวในสิ่งดี เพื่อให้บ้านเกิดเป็นที่รู้จักของคนอื่นๆ ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า บารมีของเหรียญอาจารย์แปลง กอปรกับสิ่งดีที่ผมปฏิบัติตามคำสั่งท่านนั่น คือ เส้นทางบุญพาชาวมาเลย์ไหว้พระ จึงทำให้ผมรอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์” อ.กุล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเหรียญหลวงพ่อแปลง รุ่นแรก สร้างเมื่อปี ๒๕๓๑ ในงานฉลองอายุ ๘๐ ปี โดยแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงที่แวะมาทำบุญที่วัด โดยแต่ละคนที่ได้รับเหรียญจากมือท่าน จะได้รับคำสอน ซึ่งหากใครยึดถือและปฏิบัติตามได้ ว่ากันว่า จะประสบผลสำเร็จมากมาย ทั้งทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ดั่งที่ตัวเองได้ประจักษ์มาแล้ว
นำคนไทยในมาเลย์ไหว้พระแผ่นดินแม่
อ.กุล บอกว่า นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่นิยมไหว้พระจะแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ ๑.กลุ่มเชื้อสายจีนที่ชอบทำบุญสะเดาะเคราะห์ กับ ๒.กลุ่มคนไทยเดิมที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ยุคเก่าก่อน ซึ่งถือเป็นคนไทยในสมัยล่าอาณานิคม เมื่อครั้งไทยถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู เประ ตอนบนให้สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๕๑ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มีโรงเรียนสอนภาษาไทย และพระพุทธศาสนา มาจนถึงปัจจุบัน
อาทิ รัฐกลันตัน ซึ่งมีชุมชนชาวไทยมากในเขตตุมปัต โกตาบาห์รู ปาซีร์มัส ปาซีร์ปูเตะห์ บาเจาะ ตาเนาะแมเราะ และเบอสุต ชาวไทยในรัฐนี้สามารถพูดภาษาเจ๊ะเห ซึ่งเป็นภาษาถิ่นเดียวกับที่พูดในบางส่วนของ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส นอกจากนี้ยังมีคนไทยในรัฐเกดะห์ ปะลิส และรัฐเประ รวมถึงรัฐอื่นๆ อีกด้วย
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความศรัทธาที่จะไหว้พระ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย จึงนำมาซึ่งเส้นทางบุญ โดยจะนำไปไหว้พระหลวงพ่อทวด วัดพะโคะ จ.สงขลา รวมถึงพาไปห่มผ้าพระธาตุเมืองคอน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมาเลซียเชื้อสายพุทธเหล่านี้ เชื่อว่า “เกิดมาชีวิตหนึ่งต้องมาสักการะพระธาตุเมืองคอนให้ได้” และในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีคนกลุ่มนี้เข้ามาท่องเที่ยวในเส้นทางบุญ ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน/ปี
“เราได้พาเขาไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนผืนแผ่นดินแม่ แค่นี้เขาก็ยกมืออนุโมทนาบุญท่วมหัว ซึ่งความสุขเหล่านี้เป็นเรื่องทางใจ เพราะอย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนไทยด้วยกัน ดังนั้น คงไม่มีสุขใดที่จะทำให้เขาสุขใจมากไปกว่านี้อีกแล้ว และที่สำคัญ เราก็พลอยอิ่มเอิบใจไปด้วย” อ.กุลกล่าว