พระเครื่อง

เส้นทางฝึก‘ตน’สู่การเป็น‘คน’ของพุทธศาสนา

บนเส้นทางฝึกฝน ‘ตน’สู่การเป็น‘คน’ของพุทธศาสนา : มองนอกดูใน โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

            เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ข้าพเจ้าได้นำตัวแทน ๖ คนจากผู้บวชทั้งหมด ๖๕ คน ในโครงการ “บวชพุทธสาวิกาสองแผ่นดินครั้งประวัติศาสตร์” ณ แดนพุทธภูมิ...พุทธคยา-พาราณสี-สาวัตถี-ลุมพินี-กุสินารา-ไวสาลี-ราชคฤห์-พุทธคยา เพื่อฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า, เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา, เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา, วาระก้าวย่างแห่งปัญญาสู่ปีที่ ๒๕ ของเสถียรธรรมสถาน และ ๕ ปี สาวิกาสิกขาลัย การศึกษาที่ส่งเสริมให้คนบรรลุธรรม ระหว่างวันที่ ๓-๒๒ เมษายน ๒๕๕๕ เข้ากราบ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก) เจ้าคณะภาค ๑๐ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กทม. เพื่อขอลาบวช

             พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก) ได้เมตตาให้กำลังใจว่า “ผู้หญิงทำงานรับใช้พระศาสนาอย่างหนักมาก แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ ดังนั้น การบวชแม่ชีศีล ๑๐ จึงเป็นเรื่องดี อาตมาก็อยากให้การบวชนี้ได้รับการเผยแผ่ออกไปผ่านทางสื่อต่างๆ หรือช่วยกันทำให้เป็นสื่อออกมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงในการทำความดีเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา”

             ในโอกาสนี้ คณะของเราได้มีโอกาสเข้านมัสการ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และรายงานความคืบหน้าในการทำงานของ 'สาวิกาสิกขาลัย' และ การบวชพุทธสาวิกาศีล ๑๐ ในโครงการ ‘บวชพุทธสาวิกาสองแผ่นดินครั้งประวัติศาสตร์’ ด้วย

             รุ่งขึ้น ในวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งเป็นวันปลงผม พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม ได้มาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจการทำงานของเสถียรธรรมสถาน และได้เมตตาให้โอวาทและกำลังใจแก่ผู้บวชอีกด้วย ยังความปลื้มปีติแก่ชุมชนของเราเป็นอย่างยิ่ง

             “คุณแม่ชีศันสนีย์ท่านมีเมตตาเสียสละเพื่อทุกคน ผู้ที่ได้ไปประเทศอินเดียคือผู้มีบุญ ผู้ที่บวชแล้วได้ไปอินเดียแสดงว่าเป็นลูกหลานของพระพุทธเจ้าในอดีต...คุณแม่ชีท่านดูแลอย่างใกล้ชิด ขอสนับสนุน และขอส่งเสริมในกิจการนี้...สิ่งที่ลูกหลานของเราขาดอย่างที่สุด คือ ศีลธรรม วัตถุสิ่งของเงินทองมีเยอะแยะแล้ว ที่ขาด คือ อาหารใจ มาเห็นแล้วก็รู้สึกดีใจมากที่คุณพ่อคุณแม่และทุกคนมาร่วมให้อาหารใจแก่ลูกๆ  ซึ่งก็คือบุญกุศล คือ ศีลธรรม กายมีศีลสุขล้ำ ใจมีธรรมสุขเลิศ ถ้าลูกหลานมีทั้งศีลทั้งธรรม ก็มีแต่ความล้ำเลิศเกิดขึ้นในชีวิต ฉะนั้น อาตมาในนามตัวแทนของพระสงฆ์ ขอเจริญพรขอบคุณคุณแม่ชีศันสนีย์ที่ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา ขอขอบคุณและอนุโมทนาคุณพ่อคุณแม่ของลูกทุกคน และผู้ที่ให้ความสนับสนุนกิจการนี้ ขอให้ลูกๆ ทั้งหลายตั้งอกตั้งใจ ตั้งไว้ให้ดี ตั้งแต่บัดนี้  ขอเชิญตั้งใจ ตั้งตัวตั้งตน ตั้งต้นตั้งมั่น ฝึกฝนใฝ่ฝัน ฝ่าฟันฝันใฝ่ อบรมบ่มเพาะ เจาะจิตเจาะใจ ส่งเสริมสอดไส้ สวมใส่ศีลธรรม...”

             ต่อมาในเช้าตรู่ของวันที่ ๒ เมษายน คณะผู้บวชพุทธสาวิกาและผู้ติดตามได้เดินทางมุ่งสู่แดนพุทธภูมิ และพิธีปลงผมพุทธสาวิกาเริ่มขึ้นในเช้าวันที่ ๓ เมษายน ที่ วัดไทยพุทธคยา จากนั้นขบวนแห่พุทธสาวิกาได้เคลื่อนสู่ปริมณฑลพุทธคยาสัตตมหาสถาน ข้าพเจ้าได้กล่าวรายงานต่อ พระราชรัตนรังษี เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา / หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เกี่ยวกับโครงการ “บวชพุทธสาวิกาสองแผ่นดินครั้งประวัติศาตร์” ซึ่งเป็นงานที่ท่านอาจารย์ได้เคยดำริกับข้าพเจ้าหลายครั้งว่า ให้ทำเรื่อง “อริยสาวิกา” หลังจากนั้น ท่านอาจารย์ได้กล่าวให้โอวาทแก่เหล่าพุทธสาวิกาว่า

             “อนุโมทนาต่อความกล้าหาญของเสถียรธรรมสถาน โดยคุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่กล้าที่จะบวชผู้หญิง พวกเราซึ่งเป็นชาวพุทธ ควรมาดูความหมายของพุทธชยันตีกันให้ดีว่า พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้ทำอะไรไว้ให้เป็นอนุสรณ์ของการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาบ้าง เช่น เราจะทำอย่างไรให้เด็กที่มาเกิดในปีพุทธชยันตีเป็นเด็กที่ดี เราจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ หรือคู่แต่งงานในปีพุทธชยันตีเป็นคู่ที่ดี เราทำอย่างไรที่จะเริ่มให้การศึกษาในปีพุทธชยันตีเป็นการศึกษาที่ดี ที่จะพาเราพัฒนาได้เจริญได้ การบวชผู้หญิงเราจะเรียกว่า อริยสาวิกาก็ได้ เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นการนำเอาคนมาถวายให้กับพระพุทธเจ้า เอาคนเป็นๆ มาถวาย ไม่ได้เอาหมู เห็ด เป็ด ไก่ มาถวาย แต่เป็นการเอาคน เอาหัวใจของคน มาถวายให้เป็นลูกของพระพุทธเจ้า นี่เป็นการเริ่มต้นการทำงานในปีพุทธชยันตีที่ดี ทำให้เราได้คนของพระพุทธศาสนา” ในตอนท้าย ท่านอาจารย์ได้เมตตาชื่นชมความกล้าหาญของผู้หญิง และกล่าวว่า
 
             “ผู้หญิงมีคุณูปการต่อพระศาสนาอย่างไร  เรื่องบางเรื่องพระสงฆ์ก็ทำไม่ได้ คุณแม่ชีศันสนีย์มีความกล้าหาญในการทำงานเรื่องผู้หญิง และช่วยพระสงฆ์ได้มากในการทำงานเพื่อพุทธศาสนา ก็ขออนุโมทนาด้วย”

ธรรมสวัสดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม