พระเครื่อง

ปาฏิหาริย์'รูปถ่ายพ่อ-แม่กลางไฟใต้

ปาฏิหาริย์'รูปถ่ายพ่อ-แม่กลางไฟใต้

07 เม.ย. 2555

ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณปาฏิหาริย์แห่ง..."รูปถ่ายพ่อ-แม่กลางไฟใต้ : "สรณะคนดัง โดย เรื่อง/ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ ศูนย์ข่าวภาคใต้

              ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนดินแดนปลายด้ามขวานเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้มีประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพแบกรับกับผลพวงอันเกิดจากการก่อความไม่สงบไม่ไหว ต้องตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสวัสดิภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการครูที่มีข่าวปรากฏอยู่เป็นประจำถึงความพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการขอย้ายไปสอนที่อื่น เพื่อให้พ้นเงื้อมมือของแนวร่วมในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้
 
              แต่สำหรับ “ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ” ในฐานะ “ที่ปรึกษาประธานสมาพันธ์ครู ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” กลับไม่เคยคิดละทิ้งอุดมการณ์ย้ายไปไหนเลย และพร้อมยืนยันทำหน้าที่เรือจ้างในพื้นที่สีแดงด้วยความเต็มใจ ทั้งที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.สงขลา แต่กลับรักดินแดนล่างสุดของประเทศที่ยังเต็มไปด้วยความรุนแรง ด้วยความเชื่ออย่างเดียวคือ “เราให้เกียรติกัน จะได้รับการละเว้น” ที่สำคัญเชื่อมั่นว่า “ผู้ก่อเหตุจะละเว้นคนที่ทำเพื่อส่วนรวม”
 
              นับตั้งแต่รับราชการในฐานะเรือจ้างครั้งแรก ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา “ประสิทธิ์” ได้เจอกับเหตุระทึกขวัญ ๓ ครั้งในวันเดียวถึงประตูโรงเรียน นั่นคือ การมาเยือนของ “ผู้นำ” ของ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” (BRN-Coordinate) หรือ (Barisan Revolusi Nasional) ที่มาเยี่ยมลูกซึ่งเป็นนักเรียน พร้อมทั้งฝากให้สอนหนังสือแก่บุตรธิดาอีกด้วย
 
              นายประสิทธิ์ เล่าว่า ตอนเช้าผมพบกับผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็น ในชุดลายพราง พร้อมผู้ติดตามที่พกอาวุธครบมือ โดยเขาแวะมาเยี่ยมลูกที่เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ผมสอน ก่อนจะฝากฝังให้ดูแลบุตรหลานของเขาให้ดี แล้วจึงลาลับเข้าป่าหายไปในทิวเขาอันรกทึบ”
 
              จากนั้นในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน “กลุ่มแนวร่วมและกองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” หรือ "ผกค.” ก็แวะมาที่โรงเรียน โดยมารูปแบบเดียวกันกับกลุ่มแรก พอหลังจากนั้นในช่วงเย็นก่อนเลิกเรียนก็มี "ขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายา” หรือ “จคม.” แวะมาที่โรงเรียนซ้ำอีกกลุ่ม ก่อนในช่วงพลบค่ำจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐแวะมาที่โรงเรียนเป็นการปิดท้าย เพื่อมาดูแลสถานการณ์และความเรียบร้อย
 
              “ผมเจอทุกกลุ่มในวันเดียว แต่ทั้งหมดเขามีอุดมการณ์และเราก็ได้รับการละเว้น เพราะเขาบอกว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาทำเพื่ออุดมการณ์ ส่วนเราเขาบอกว่ามีหน้าที่ของตัวเองก็ให้ทำไป และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่า การให้เกียรติซึ่งกันและกันจะทำให้เราได้รับการละเว้น หากมัวแต่ระแวงและกลัวอย่างเดียวชีวิตก็ไม่ต้องเป็นทำอะไร ผมจึงมีความจริงใจให้ทุกคนในพื้นที่ และมุ่งหน้าทำเพื่อส่วนรวม โดยพยายามระดมสมองพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ด้วยความเชื่อว่า หากเราช่วยกันทำเพื่อชุมชนแห่งนี้ เขาก็จะให้เกียรติและไม่เบียดเบียนชีวิตเรา” ประสิทธิ์ กล่าว
 
              เมื่อถามถึงของดีที่ใช้เป็นเกราะป้องกันตัว เรือจ้างปลายด้ามขวานรายนี้บอกว่า นอกจากเชื่อในการทำความดีแล้วจะช่วยใช้ชีวิตแคล้วคลาดปลอดภัยแล้ว ยังพกของดีติดตัวเหมือนกับชาวพุทธคนอื่นๆ นั่นคือการนำ “พระในบ้าน” ขึ้นคล้องคอ ด้วยการอัดรูปถ่าย “พ่อ” และ ”แม่” ติดตัวตลอด ชนิดไม่เคยห่างกายยามที่ก้าวเท้าออกจากบ้านแม้แต่ครั้งเดียว
 
              “บิดา และมารดา คือพระผู้ประเสริฐและบริสุทธิ์ อีกทั้งความรักที่มีต่อบุตรธิดาเป็นเหมือนพรอันประเสริฐที่คุ้มครองชีวิตผมมาตลอด และการรู้จักกตัญญูต่อผู้มีพระคุณไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใด ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตประสบแต่ความสุขและความเจริญ เฉกเช่นที่ผมยังใช้ชีวิตในดินแดนที่เต็มไปความรุนแรงอย่างมีความสุข” ประสิทธิ์ กล่าว
 
              นอกจากนี้ยังบูชาบูรพกษัตริย์อย่างเทิดทูน โดยจะพก "เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รุ่นสู้” ซึ่งเป็นเหรียญที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างและพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ "สก." ด้านหลังเหรียญ พร้อมทั้งทรงจารึกลายพระหัตถ์เป็นคำขวัญ "สู้" รวมถึง "เหรียญพระเจ้าตากสิน ปี ๒๕๑๗”, เหรียญ ร.๕, เหรียญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อของแผ่นดิน” และที่ขาดไม่ได้คือ “พระหลวงพ่อทวด” เนื้อว่าน ที่ได้รับมอบจาก พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์
 
              ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรไทยเป็นล้นพ้น ดังนั้นผมจึงชื่นชอบและนิยมเหรียญบูรพกษัตริย์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเหรียญ ร.๕ ผมได้รับมาจากชาวมุสลิมในพื้นที่ เป็นผู้มอบให้ พร้อมทั้งบอกว่าเก็บรักษาไว้ให้ดี”
 
              ปัจจุบัน “ประสิทธิ์” ยังดำรงตำแหน่ง "ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะหา” อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งนอกจากจะสอนหนังสือให้นักเรียนแล้ว ยังร่วมจับมือกับผู้นำมุสลิมในพื้นที่ และชาวบ้านเพื่อหาหนทางแก้ไขความรุนแรง จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ” หรือ “กอส.” มาแล้ว
 

 “ดับไฟใต้ด้วยสภาประชาสังคม”
 
              นอกจากนี้ “ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ” ยังดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้” ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมตัวของทุกองค์กร ทั้งมุสลิม พุทธ จีนใน พื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อร่วมขับเคลื่อนเปิด ๒๒๐ เวที ระดมแนวทางดับไฟใต้ หลัง ๘ ปี สังเวยผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก แถมสถานการณ์ยังไม่กระเตื้อง พร้อมทั้งเชิญอดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙  มาเพื่อร่วมเป็น “คลังสมอง”ในการร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบ
 
              “บุคคลเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ และจะให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดี ด้วยประสบการณ์ ที่สำคัญเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด เพราะทุกคนล้วนได้เกษียณราชการไปแล้ว แต่พร้อมจะกลับมาช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง” นายประสิทธิ์ กล่าว
 
              เหตุผลที่ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” เกิดขึ้นเพราะเกือบ ๑๐ ปีแล้วที่นโยบายและแนวทางจากส่วนกลางในการยุติความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เป็นไปตามที่คนพื้นที่คาดหวัง อีกทั้งยังเห็นว่านโยบายแก้ปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง แทบจะไม่เห็นผลในเชิงรูปธรรมที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ไปในทิศทางบวกได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
 
              ดังนั้น ทุกคนจึงลุกขึ้นเริ่มต้นด้วยพลังของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่มีสมาชิกร่วม ๑,๐๐๐ คน โดยดำเนินการจัดงานเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะตระเวนจัดทั่วพื้นที่จำนวน ๒๒๐ เวที ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๕ เป็นต้นไป
 
              “การจัดเวทีเพื่อฟังความเห็นกว่า ๒๐๐ เวที จะครอบคลุมแนวคิด มุมมองที่สะท้อนออกมาจากความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ทุกศาสนา และทุกภาคส่วนมากที่สุด ซึ่งแนวทางยุติความรุนแรงจะครอบคลุมและลึกที่สุด ที่สำคัญทุกครั้งผู้เข้าร่วมจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับรองว่าแนวทางนี้เป็นความต้องการที่แท้จริง ไม่มีการยกเมฆเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นายประสิทธิ์ กล่าว