
พระเครื่องของ'หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม'
พ.ต.อ.อัครภณ วริศเจริญ พระเครื่องของ...หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม : สรณะคนดัง โดย เรื่อง / ภาพไตรเทพ ไกรงู
“ปฏิบัติการพิเศษในการรบไม่ตามแบบ ด้วยการปฏิบัติการสงครามนอกแบบ การปฏิบัติการกองโจร การลาดตระเวนพิเศษ การปฏิบัติโดยตรง การปฏิบัติการจิตวิทยา และการกิจการพลเรือน รวมทั้งสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ การต่อต้านการก่อการร้าย และการป้องกันประเทศ”
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนหรือที่รู้จักกันดีในนาม “หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม” ซึ่งปัจจุบันมี พ.ต.อ.อัครภณ วริศเจริญ ผู้กำกับการ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผกก.๑ บก.สอ.บช.ตชด.)
พ.ต.อ.อัครภณ บอกว่า ตำรวจพลร่มหน่วยรบพิเศษถือว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์ไพโรจน์ เจ้าอาวาสวัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝึกทางยุทธวิธีของตำรวจพลร่มหน่วยรบพิเศษ โดยได้มีความคุ้นเคยกับท่านเมื่อครั้งท่านเดินธุดงค์อยู่ในบริเวณป่าละอู ด้วยความห่วงใยท่านจึงดำริให้ตำรวจพลร่มช่วยกันเก็บรวบรวมปลอกกระสุนปืน จากนั้นนำไปหลอมรวมกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นอีก ๙ ชนิด ได้แก่ ๑.ปะคำแร่มงคล ๑๐๘ ๒.ชนวนหล่อหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ ๓.เหรียญคณาจารย์ยุคเก่าที่มีชื่อเสียงทางพุทธคุณหลากหลายชนิด ๔.โลหะมงคลตามสูตรโบราณ ๙ ชนิด รวมทั้งเหล็กน้ำพี้บริสุทธิ์จากแหล่งทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ โดย พ.ต.อ.ไพโรจน์ ริมประโคน ผกก.๑ บก.สอ.บช.ตชด.ในขณะนั้นเป็นผู้รวบรวม
๕.อาวุธปืนโบราณ ๖.กระสุนปืนเก่า ๗.เครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์และตราแผ่นดินที่เป็นโลหะ ๘.เหล็กไหลจากถ้ำวิปัสสนาที่เชื่อว่าได้รับกระแสจิตความศักดิ์สิทธิ์จากพระเกจิอาจารย์ที่ธุดงค์เข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำนั้น และ ๙.แผ่นจารอักขระจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ แล้วนำไปหล่อในแบบพิมพ์พระกริ่งที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยใช้พระกริ่งนเรศวรเพชรกลับของวัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีเอกลักษณ์สวยงามมากเป็นต้นแบบ แต่รุ่นนี้สร้างขึ้นสำหรับตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ จึงเรียกว่า “พระกริ่งนเรศวรเพชรกลับ รุ่นอัศวิน” ตามนามเรียกขานของหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม (กก.๑ บก.สอ.บช.ตชด.) ค่ายนเรศวร
“จากประสบการณ์ของตำรวจพลร่มหลายนายที่เดินทางไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อว่าพระกริ่งนเรศวรรุ่นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์จริง ช่วยให้เรื่องร้ายกลับกลายเป็นดี บางคนครอบครัวเดือดร้อนที่ต้องลงไปทำงานภาคใต้แต่พอลงไปแล้วได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าเสี่ยงภัยใช้หนี้สินได้หมดหายเดือดร้อน หลายคนไปทำงานภาคใต้แล้วซื้อลอตเตอรี่ถูกรางวัลใหญ่ซื้อบ้านหลังใหม่ได้ก็มี” พ.ต.อ. อัครภณกล่าว
เมื่อถามถึงเรื่องการทำนายดวงชะตาและความเชื่ออื่นๆ พ.ต.อ.อัครภณ เล่าว่า ก่อนที่จะขึ้นมาเป็น ผกก.๑ บก.สอ.บช.ตชด. เป็น ตชด.อยู่ทางภาคเหนือมากกว่า ๒๐ ปี ซึ่งกว่าจะมานั่งในตำแหน่งนี้ลุ้นมาหลายปี ลุ้นชนิดที่เรียกไม่มีโอกาสที่จะเป็น จนกระทั่งมีคนมาทักว่า “หากไม่เปลี่ยนชื่อจะเป็นอยู่อย่างนี้ตำแหน่งไม่ก้าวหน้า” ครั้งแรกๆ ก็ไม่เชื่อ เพราะชื่อที่พ่อตั้งมาแต่เกิดอย่างไรก็เป็นมงคล แต่หลายครั้งและหลายปีที่มีการเสนอเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เป็นตัวเต็ง แต่อยู่ๆ ก็มีนายตำรวจท่านอื่นย้ายข้ามห้วยเอาตำแหน่งไปต่อหน้าต่อตา หลายๆ ครั้งเข้าจึงมีความคิดว่าน่าจะลองเปลี่ยนชื่อดู โดยได้ไปศึกษาตำราการตั้งชื่อด้วยตัวเองในที่สุดจึงตัดสินใจเปลี่ยนทั้งชื่อ เปลี่ยนทั้งนามสกุล จากเดิมที่ใช้มา ๔๕ ปี คือ “มนตรา สัตถาผล” เปลี่ยนเป็น “อัครภณ วริศเจริญ”
กว่าจะได้ชื่อและนามสกุลใหม่นั้น พ.ต.อ.อัครภณ บอกว่า ใช้เวลาเกือบ ๑ ปี ในการตั้งชื่อ เมื่อได้ชื่อมาก็ให้ผู้ที่มีความรู้มากกว่าช่วยดูอีกครั้ง ซึ่งกว่าจะได้ชื่อนี้มาดูแล้วดูอีกในที่สุดก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่ว่าเป็นรองผู้กำกับมา ๘ ปี ได้เลื่อนมาเป็นผู้กำกับเมื่อเปลี่ยนชื่อ
อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นผู้นำหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม พ.ต.อ. อัครภณพูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “แม้ว่าคติพจน์ของหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่มที่ท่องกันทุกเช้าเย็น คือตายในสนามรบยังดีกว่าละทิ้งหน้าที่ ตายในสนามรบเป็นเกียรติของค่ายนเรศวร แต่ไม่มีใครอยากตาย ไม่ว่าเราจะฝึกทำการรบด้วยยุทธวิธีอย่างเข้มข้น แต่เมื่อต้องลงปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จริง เหนือสิ่งอื่นใดต้องมีพระเครื่อง วัตถุมงคล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้คุ้มกะลาหัว ก่อนออกจากค่ายหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่มจะต้องไปไหว้ขอพรสมเด็จพระนเรศวร และเสือดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม”
พระกริ่งนเรศวร รุ่นอัศวิน
พ.ต.อ.อัครภณ บอกว่า ขณะนี้กำลังหลักจำนวน ๒ กองร้อย หรือประมาณ ๔๐๐ นายถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่รับชอบใน ๒ อำเภอ คือ อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งทุกครั้งที่ลงไปเยี่ยมภาพหนึ่งที่เห็นจนชาชิน คือร่องรอยแห่งความสูญเสียตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ผู้ใต้บังคับบัญชาเสียชีวิตไปกว่า ๒๐ คนแล้ว และที่เป็นข่าวโด่งดัง คือ การเสียชีวิตของ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือผู้กองแคน และ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือหมวดตี้
การลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม และตำรวจตระเวนชายแดน จะแตกต่างจากหน่วยงานอื่น คือตลอดระยะเวลา ๘ ปีที่ผ่านมาจะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในส่วนของที่พักที่อาศัย รัฐบาลจะจ่ายให้เฉพาะเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยงเท่านั้น ในส่วนที่พักที่อาศัยต้องหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องจัดหามาเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับบารมีจากหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ และความช่วยเหลือจากพระอาจารย์ไพโรจน์ โดยส่งข้าวปลาอาหารไปช่วยทุกเดือนไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ทั้งนี้เมื่อต้นปี ๒๕๔๗ พระอาจารย์ไพโรจน์เดินทางไปเยี่ยมตำรวจพลร่มในพื้นที่ปฏิบัติการที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ได้เห็นการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีอันตรายรอบด้าน มีการใช้วัตถุระเบิดและอาวุธปืนยิงต่อสู้กันอยู่เสมอ ตามสูตรโบราณเชื่อว่าปลอกกระสุนที่ได้จากการปราบปรามโจรผู้ร้ายนั้นมีพุทธคุณในทางแคล้วคลาดปลอดภัย เมื่อสร้างพระกริ่งนเรศวรเพชรกลับ รุ่นอัศวิน เสร็จ พระอาจารย์ไพโรจน์ยังไม่แจกจ่ายให้ตำรวจพลร่มทันที แต่ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถวัดห้วยมงคลอีกตลอดพรรษา พ.ศ.๒๕๕๐ โดยพระอาจารย์ไพโรจน์นำสวดมนต์ในอุโบสถนั้นทุกวัน หลังจากออกจำพรรษาแล้วจึงแจกจ่ายให้แก่ตำรวจพลร่ม
ในส่วนของพระที่เหลือจากการมอบให้หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม พ.ต.อ.อัครภณนำออกให้บุคคลทั่วไปเช่าบูชา นอกจากนั้นให้เป็นสวัสดิการช่วยเหลือหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่มในการปฏิบัติงานต่อไปแล้ว ยังนำไปช่วยเหลือ วัด สำนักสงฆ์ รวมทั้งสุเหร่าและมัสยิดที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่หน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี โทร.๐๘-๕๕๑๔-๘๘๔๙ และ ๐๓๒-๔๔๒-๔๗๕ (ในเวลาราชการ)