
ใบสีมา-ใบเสมา
ใบสีมา-ใบเสมา : คำวัด - พระธรรมกิตติวงศ์
คำว่า “วัด” เป็นคำเรียกชื่อศาสนสถานแบบคำไทย โดยที่มาของคำว่า “วัด” นี้ ยังไม่มีข้อยุติ ด้วยบางคนอธิบายว่า มาจากคำว่า “วตวา” ในภาษาบาลี แปลว่า เป็นที่สนทนาธรรมบ้างก็ว่ามาจาก “วัตร” อันหมายถึงกิจปฏิบัติหรือหน้าที่ของพระภิกษุที่พึงกระทำ หรือแปลอีกอย่างว่าการจำศีล ซึ่งวัด (วัตร) ตามนัยนี้จึงน่าจะหมายถึงสถานที่ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นที่จำศีลภาวนา หรือสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ปฏิบัติภารกิจที่พึงกระทำนั่นเอง
แต่ก็มีบางคนสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “วัดวา” อันหมายถึง การกำหนดขอบเขตของดินแดนที่สร้างเป็นศาสนสถาน เพราะวัดกับวามีความหมายอย่างเดียวกัน คือการสอบขนาด หรือปริมาณของสิ่งต่างๆ เช่น ความยาว ความกว้าง เป็นต้น วัดในนัยยะอย่างหลังนี้จึงหมายถึง พื้นที่ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้จําแนกวัดออกเป็น ๒ ชนิด คือ สํานักสงฆ์ และวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
วิสุงคามสีมา (วิ-สุง-คา-มะ-สี-มา) หมายถึง เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ หรือเขตที่พระสงฆ์ใช้ประกอบสังฆกรรม (วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน)
พระมหากษัตริย์ผู้เป็นองค์ศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์อำนวยความสะดวกแก่สงฆ์ จึงทรงออกประกาศพระราชทานที่ตั้งวัดเป็นวิสุงคามสีมา การยกที่ดินเป็นเขตวิสุงคามสีมาถือว่าได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวัด แต่การขอพระบรมราชานุญาตนั้น กำหนดเฉพาะบริเวณที่ตั้งอุโบสถเท่านั้น
ปัจจุบันการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัด ดำเนินการตามกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕ คือ
"วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้น หรือได้ปฏิสังขรณ์ เป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่า ๕ รูป ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ระยะเวลา ๕ ปีมิได้ใช้บังคับแก่วัดที่สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา"
คำว่า "ใบสีมา" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า แผ่นหินที่ทำเป็นเครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ เรียกว่า ใบเสมา หรือใบพทธสีมา ก็มี
ใบสีมา นิยมทำด้วยแผ่นหินสกัดเป็นแผ่นหนาประมาณ ๒-๓ นิ้ว มีรูปทรงโดยเฉพาะ บางแห่งสกัดเป็นลายเส้นรูปธรรมจักร เพิ่มความสวยงามประดิษฐานไว้ในซุ้มที่ครอบลูกนิมิตทั้ง ๘ ทิศคล้ายเป็นสัญลักษณ์แทนลูกนิมิต
ใบสีมา ถ้าเป็นวัดราษฎร์นิยมทำซุ้มละแผ่นเดียว ถ้าเป็นวัดหลวงนิยมทำซุ้มละ ๒ แผ่น เรียกว่า สีมาคู่ นัยว่าเพื่อเป็นข้อสังเกตให้ทราบว่าเป็นวัดราษฎร์ หรือวัดหลวง
ส่วนคำว่า “สีมา” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า เขต แดน และเครื่องหมายบอกเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ ใช้ว่า เสมา ก็มี
สีมา กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายลอกเขตที่เรียกว่าลูกนิมิต ที่เหนือลูกนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบลูกนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนลูกนิมิต เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือซุ้มเสมา
สีมา ยังหมายถึง โบสถ์ หรือ อุโบสถ ได้ด้วย