
พระวัดใหม่ผดุงเขตสอน'ศีล-ศิลป์'
พระสอน “ศีล-ศิลป์” พระมหาตุ้ย วัดใหม่ผดุงเขต จ.นนทบุรี : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
งานสังคมสงเคราะห์เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพระตั้งแต่สมัยพุทธกาลถึงปัจจุบัน สุดแล้วแต่พระรูปไหนจะมีความสามารถทางใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากนิสัยความชอบเป็นส่วนตัวเมื่อครั้งเป็นฆราวาส หรือได้ศึกษาระหว่างที่เป็นพระ เมื่อมีความชำนาญจากนั้นก็ขยายสู่ญาติโยม จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ใช้ปัจจัยส่วนตัวที่ได้จากกิจนิมนต์ต่างๆ ก็อาจจะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อญาติโยมเห็นความสำคัญถวายปัจจัยสนับสนุน ก็กลายเป็นงานสงคมสงเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ทำได้ไม่แพ้หน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชน เช่น วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี วัดพระบาทน้ำพุ จ.นครปฐม
ทั้งนี้ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสวนแก้ว ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "กิจของสงฆ์"ไว้ว่า "อะไรที่ไม่เกินกว่าพระธรรมวินัย ล้วนเป็นกิจของสงฆ์ทั้งสิ้น คนพึ่งวัดตั้งแต่เกิดจนตาย พระและวัดตั้งอยู่ได้ด้วยศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทำไมพระและวัดจะทำอะไรกลับคืนเพื่อคนในสังคมไม่ได้"
ที่วัดใหม่ผดุงเขต ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งมีพระครูนิมิตกิจโสภณ หรือ หลวงพ่อเก๊า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นั้น ทางวัดโดย พระมหาพรนรายสุวรรณรังสี หรือ พระมหาตุ้ย อายุ ๒๘ ปี พรรษาที่ ๘ รองเจ้าอาวาส ได้ใช้ใต้ถุนกุฏิเปิดสอนศิลปะการทำหัวโขนให้นักเรียนใกล้วัด รวมทั้งผู้ที่สนใจเรียนฟรี โดยผู้ที่เรียนจบไปแล้วหายคนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดประกอบเป็นเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี
“ในทัศนคติของหลวงพี่เองเห็นพระอันเป็นที่พึ่งทางใจ สอนศีล ให้ธรรม ให้คลายความทุกข์ทางใจกับญาติโยมมีอยู่มากมายแล้ว แต่ในส่วนของพระสงฆ์อันเป็นที่พึ่งด้วยการให้อาชีพ ให้ปากได้กิน ท้องได้อิ่ม ยังมีไม่กี่รูป อาตมาเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าเมื่อปากท้องยังหิวอยู่น้อยคนหนักจะไม่นึกถึงพระไม่นึกถึงวัด แต่เมื่อใดคนอิ่มท้อง มีอาชีพ ก็จะนึกสิ่งดีๆ และหันเข้าวัดทำบุญ” นี่เป็นเหตุผลการเปิดสอนวิชาช่างทำหัวโขนของ พระมหาตุ้ย
พร้อมกันนี้ พระมหาตุ้ย ยังได้ยกพุทธสุภาษิตที่เกี่ยวกับศิลปะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต ว่ า"สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ" ซึ่งหมายถึง "ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้เช่นใดเช่นหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้" เพราะทุกชีวิตเกิดมาต่างแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทำให้ชีวิตของเราพบกับหนทางอันประเสริฐ ลำพังการศึกษาหาความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เรา ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องมีความสามารถในทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า มีศิลปะ
การสอนศิลป์การทำหัวโขนของพระมหาตุ้ยนั้น “สอนฟรี! สอนคนทุกเพศ ทุกวัย ที่สนใจ” เมื่อเป็นการสอนฟรีแล้ว หลายคนอาจจะอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “พระมหาตุ้ยได้ปัจจัยมาจากไหน เมื่อสอนฟรีแล้วจะได้อะไร”
พระมหาตุ้ย บอกว่า ปัจจัยที่นำมาซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเรียนการสอ ทุกอย่างได้มาจากความศรัทธาของญาติโยม ปัจจัยทุกบาททุกสตางค์ที่ญาติโยมนำมาถวาย ไม่ว่าจะเป็นกิจนิมนต์ฉันเช้า ฉันเพล เทศน์หน้าศพ เทศน์มหาชาติ รวมทั้งกิจนิมนต์อื่นๆ ก็จะมาลงที่การสอนทำหัวโขนทั้งหมด ส่วนสิ่งที่ได้มานั้นเรื่องของวัตถุหรือปัจจัยไม่ได้กลับคืนมาแน่ แต่เมื่อเทียบกับการสอนแล้วคนได้มีอาชีพ มีงานทำ สร้างอนาคตให้กับเด็กๆ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า
อย่างไรก็ตามด้วยฝีมือการทำหัวขนที่ประณีตและสวยงาม จึงมีผู้มาขอซื้อไปใช้ในโอกาสต่างๆ จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ตามมา คือ “ข้อครหาที่ว่า เป็นพระและยังทำหัวโขนขายกินอีกหรือจะเอารวยไปถึงไหน” พระมหาตุ้ย บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ยินก็รู้สึกเสียกำลังใจบ้าง แต่ก็คิดไปว่า ปากของคนจะพูดอะไรก็ได้ คนที่พูดส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงว่าหัวโขนที่ขายออกไปนั้น ปัจจัยที่ได้ก็มาไม่ใช่เป็นกำไร หากเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับไปซื้ออุปกรณ์เพื่อมาสอนฟรีให้กับญาติโยม
เมื่อถามถึงความอยากง่ายและสิ่งที่ได้ ระหว่างการสอนศีลธรรมกับสอนศิลปะ พระมหาตุ้ย พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “การสอนศีลธรรมอยากตรงที่ว่าเป็นนามประธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ ระหว่างการสอนเราไม่รู้หลอกว่าคนได้รับไปมากน้อยเพียงใด ในขณะที่เครื่องชี้วัดและผลที่ตามมาอาจจะต้องรอเวลานานับปีจึงจะเป็นผล แต่การสอนศิลปะเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ ระหว่างการสอนเรารู้ทันทีเลยว่าสิ่งที่สอนนั้นคนเรียนมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด มีผลงานชี้วัดความสามารถเมื่อเรียนจบ”
สำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนศิลป์การทำหัวโขนกับ พระมหาตุ้ย เรียนฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น สอบถามข้อมูลได้ที่ วัดใหม่ผดุงเขต โทร.๐๘-๕๓๕๓-๓๖๓๙
ให้ศิลป์-ได้ธรรม
การสอนญาติโยมและเด็กนักเรียนให้มาทำหัวโขนนั้น พระมหาตุ้ย ไม่ได้สอนเรื่องอาชีพเพียงอย่างเดียว หากได้มีการเอาธรรมะผสมผสานเข้าไประหว่างสอนด้วย และธรรมะข้อหนึ่งที่พระมหาตุ้ย บอว่า ทุกคนทุกอาชีพต้องมี คือ อิทธิบาท ๔
พระมหาตุ้ย บอกว่า วิชาช่างทำหัวโขน ขาดหัวข้อธรรมอิทธิบาท ๔ ข้อใดข้อหนึ่งไม่มีวันเรียนสำเร็จ และนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ คนที่มีครบจริงอาจจะเวลาเรียนเพียง ๓ เดือน ที่หย่อนธรรมในหัวข้อ อิทธิบาท ๔ อาจะใช้เวลานานถึง ๕ เดือน แต่คนที่ขาดหรือไมมีอิทธิบาท ๔ อาจจะต้องใช้เวลาเรียนเป็นปี และอาจจะเรียนไม่จบ
อิทธิบาท หรือ อิทธิบาท ๔ หมายถึง ฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ หรือ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์ ทางแห่งความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี ๔ ประการ ประกอบด้วย
๑.ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป
๒.วิริยะ หมายถึงความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
๓.จิตตะ หมายถึงความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
และ ๔.วิมังสา หมายถึงความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
“เรื่องอิทธิบาท ๔ กับการเรียนและการประกอบอาชีพนั้นได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง คือ เมื่อครั้งไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยในวัง ครั้งแรกตั้งใจจะเรียนให้จบตามระยะเวลาของหลักสูตร คือ ๑ ปี แต่ที่ไหนได้ ด้วยเหตุนานับประการทำให้เรียนไม่จบ ต้องสมัครลงเรียนเป็นครั้งที่ ๒ ใช้เวลาอีก ๑ ปี จึงจะเรียนจบ” พระมหาตุ้ยกล่าว